Saturday, December 14, 2024
HomeAuto Testทดลองขับ Ford Ranger 2018 สัมผัส 2 ขุมพลังใหม่ในกระบะพันธุ์แกร่ง (ภาพ+คลิปวีดีโอ)

ทดลองขับ Ford Ranger 2018 สัมผัส 2 ขุมพลังใหม่ในกระบะพันธุ์แกร่ง (ภาพ+คลิปวีดีโอ)

ทดลองขับ Ford Ranger 2018 กระบะพันธุ์แกร่งตกแต่งหน้าตาใหม่ เสริมดุด้วยชุดแต่งและตัวช่วยเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย มาพร้อมขุมพลังใหม่ 2 รุ่น 2 รูปแบบ ในรุ่น Ranger Wildtrak เครื่องยนต์ดีเซล ไบเทอร์โบ แบบเดียวกับ Ranger Raptor ขนาดความจุ 2.0 ลิตร 213 แรงม้า พร้อมแรงบิด 500 นิวตันเมตร ส่วน Ranger รุ่น Limited ขนาดความจุเท่ากัน แต่ใช้ระบบอัดอากาศเทอร์โบเดี่ยว ให้กำลังสูงสุด 180 แรงม้า ซึ่งขุมกำลังทั้ง 2 รุ่น ทำงานผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติใหม่ แบบ 10 จังหวะ โดดเด่นด้านความประหยัด ราคาจำหน่ายทะลุล้าน…แต่จ่ายแล้วไม่เสียดายเงิน

กระแสแรงมากๆกับกระบะอเมริกันพันธุ์แกร่งในนามว่า Ford Ranger ซึ่งไล่เบียดคู่แข่งในเซกเมนต์ขึ้นมาครองอันดับ 3 ตัวเลขยอดจำหน่ายในประเทศ ทั้งที่ราคาจำหน่ายนั้นแพงกว่าคู่แข่งเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยความคุ้มค่าจากเทคโนโลยี พร้อมสมรรถนะที่ตอบโจทย์ได้อย่างเหลือเชื่อ และการบริการหลังการขายที่พัฒนาพร้อมขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้กระบะพันธุ์แกร่งจากค่าย ฟอร์ด เข้ามาครองใจผู้ใช้รถชาวไทยได้อย่างไม่ลำบาก ในขณะเดียวกัน เซกเมนต์ของรถเก๋งซึ่งดูจะเงียบและไร้ความเคลื่อนไหว แต่ในเซกเมนต์ของกระบะนั้น ต้องบอกว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจน แชมป์ และ รองแชมป์ยอดจำหน่ายในเซกเมนต์นี้ต้องระวังหลังให้ดี

เท้าความไปช่วงต้นเดือนกรกฏาคม ที่ผ่านมา ฟอร์ด ได้ปฏิวัติวงการรถกระบะในประเทศไทยด้วยการไลน์อัพโปรดักส์ Ranger ที่มีรุ่นแยกย่อยถึง 20 รุ่น โดยนำขุมกำลังรุ่นล่าสุดในรูปแบบของเครื่องยนต์ดีเซลที่ได้รับการพัฒนาให้มีขนาดความจุเล็กลง แต่ให้สมรรถนะเหนือกว่าเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ และ มีอัตราสิ้นเปลืองที่ประหยัดมากขึ้น ซึ่งเป็นประสิทธิผลจากเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงระบบอัดอากาศที่มีทั้งเทอร์โบเดียวและเทอร์โบคู่ คำจำกัดความเหล่านี้ จะเป็นจริงตามที่บริษัทผู้ผลิตได้ขนานนามไว้หรือไม่ Autoworldthailand มีคำตอบครับ

การพิสูจน์ความโดดเด่นของกระบะพันธุ์แกร่งในครั้งนี้ ใช้เส้นทางตอนบนสุดของแดนสยามที่จ.เชียงราย เพื่อทดลองสมรรถนะใหม่ใน Ford Ranger 2018 ทั้งรุ่น WildTrak และ Limited ซึ่งนอกจากจะมีความแตกต่างในด้านขุมพลัง ยังมีอีกหลายอย่างที่ต่างกัน มาดูกันถึงความต่างของรถแต่ละรุ่นก่อนครับ

Ford Ranger WildTrak และ Limited มากับมิติตัวรถที่เท่ากัน โดยความยาวมีขนาด 5,362 มม. กว้าง 2,163 มม. และสูง 1,815 มม. ส่วนของใต้ท้องรถนั้นสูงถึง 230 มม. ซึ่งหากลงลึกไปในรายละเอียด จะเริ่มเห็นความต่างทั้งภายนอกและภายใน

รูปลักษณ์ภายนอกของรถทั้ง 2 รุ่นเริ่มจากกระจังหน้าในรุ่น WildTrak มีการพ่นสีดำเงา ส่วน Limited จะเป็นสีโครเมียม โคมไฟทั้ง 2 รุ่นนี้ใช้เหมือนกันนั่นคือแบบ เอซไอดี พร้อมโปรเจคเตอร์เลนส์ รวมถึงมีไฟกลางวัน และที่มุมกันชนจะมีไฟตัดหมอกเพื่อเพิ่มทัศนวิสัยในการขับขี่

แก้มข้างในรุ่น WildTrak ติดตั้งสัญลํกษณ์ 2.0 Bi-Turbo ส่วน Limited จะเป็นสัญลักษณ์สีเงินติดตั้งไว้ที่ตำแหน่งเดียวกัน ประตูหน้าทั้ง 2 ฝั่ง จะติดตั้งสัญลักษณ์ Limited สีโครเมียม ส่วน WildTrak จะใช้เป็นสติกเกอร์สีเทา

รถทั้ง 2 รุ่น มีฝากระโปรงท้ายที่ได้รับการติดตั้งระบบ Easy Lift ช่วยผ่อนแรงในการเปิด มาพร้อมกล้องถอยหลังติดตั้งเซนเซอร์ไว้ที่มุมกันชน แต่สำหรับ WildTrak นั้นเป็นรุ่นพิเศษ เพิ่มความสวยงามด้วยชุดแต่ง ทั้ง สปอร์ตบาร์ และ แรคหลังคา ติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

อีกหนึ่งจุดสำหรับรูปลักษณ์ภายนอกนั้นคือ ล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว ซึ่งในรุ่น Limited จะเป็นสีเทา แต่ WildTrak จะเป็นสีโครเมียม

ห้องโดยสารตกแต่งในสไตล์ต่างกัน เบาะนั่งของ Wildtrak นั้นเป็นหนังพร้อมปักฉลุชื่อรุ่นและเย็บขอบด้วยการเดินด้ายสีส้ม ในส่วนของผู้ขับขี่ปรับได้ด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง บริเวณคอนโซลหน้าฝั่งผู้โดยสาร การตกแต่งโดยรวมดูหรูหรา มีระดับ เน้นสีดำเงา สลับกับสีเงินรมดำ

ในขณะที่รุ่น LIMITED ตกแต่งสไตล์เรียบง่าย ติดตั้งเบาะหนังสีดำด้าน ไม่มีระบบไฟฟ้าสำหรับเบาะคนขับ คอนโซลและแผงข้างใช้สีดำและเทาเป็นสีหลัก

ออฟชั่นภายในถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกความแตกต่างได้ แต่ส่วนที่ไม่ต่างกันกันเริ่มจาก ระบบมัลติฟังค์ชั่นที่พวงมาลัย สั่งการได้ทั้งเครื่องเสียง การรับและวางสายโทรศัพท์ รวมถึงระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ และ ชุดแดชบอร์ดซึ่งมีจอข้อมูล TFT แบบสีขนาด 4.2 นิ้ว 2 จอ ขนาบข้างมาตรวัดความเร็ว ระบบปรับอากาศแยกอิสระซ้าย-ขวาอัตโนมัติ

ด้านบนคอนโซลติดตั้งหน้าจอระบบสัมผัสแบบเดียวกับสมาร์ทโฟน ตอบสนองการใช้งานได้รวดเร็ว และยังรองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนทั้ง Apple Car Play และ Android Auto ซึ่งมีฟังค์ชั่นการใช้งานระบบ ซิงค์ 3 (SYNC 3) ภาคเสียงภาษาไทย ที่ได้รับการอัพเกรดล่าสุด และหากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินจนถุงลมนิรภัยทำงาน ระบบนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านบลูทูธ ไปยังหมายเลข 1669 หรือกู้ชีพนเรนธร เพื่อการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ทั้งยังเติมเต็มความสะดวกสบายด้วยกุญแจรีโมทอัจฉริยะพร้อมปุ่มสตาร์ทรถอัตโนมัติ เพิ่มเติมในส่วนของรุ่น Wildtrak จะมีระบบนำทางผ่านดาวเทียม ส่วนรุ่น Limited นั้นไม่มี

อีกหนึ่งความน่าสนใจที่มีมาให้เหมือนกันนั่นคือคันเกียร์อัตโนมัติ เก๋ไก๋ด้วยวิธีปรับการใช้งานในรูปแบบเกียร์แมนนวลด้วยปุ่ม บวก/ลบ บริเวณหัวเกียร์

ด้านความแตกต่าง Wildtrak ในฐานะรุ่นท๊อปแน่นอนว่าของมาเต็มกว่ารุ่น Limited เริ่มจากไฟห้องโดยสารแบบ Ambient Light และระบบตัดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร (Active Noise Cancellation) รวมถึงตัวช่วยการขับขี่ทั้งด้านความปลอดภัยและสมรรถนะในการลุย

Ford Ranger ถือเป็นกระบะรุ่นแรกที่ได้นำตัวช่วยด้านความปลอดภัยอย่าง เทคโนโลยีตรวจจับคนเดินถนน (AEB: Autonomous Emergency Braking) และระบบตรวจจับยานพาหนะ (Vehicle Detection) ความพิเศษของระบบนี้มาจากการสั่งงานระบบเบรกอัตโนมัติเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และอีกหนึ่งตัวช่วยด้านการขับขี่คือ ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (Active Park Assist) เพื่อให้การจอดรถด้านข้างทำได้สะดวกยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control), ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning System),ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง (Lane Keeping System),ระบบแจ้งเตือนการขับขี่ (Driver Alert System) และระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ (Auto High Beam Control)

ส่วนตัวช่วยในด้านการลุยในรุปแบบออฟโร๊ดนั้นติดตั้งมาแทบจะเหมือนกัน เริ่มด้วยระบบช่วยออกตัวขณะจอดบนทางลาดชัน ระบบช่วยการทรงตัวขณะลากจูง ระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา และเฟืองท้ายแบบลิมิเต็ดสลิป แต่ในรุ่น WildTrak จะพิเศษกว่านั่นคือใช้ระบบเฟืองท้ายแบบ Locking Rear Differential

ขุมกำลังของ Ranger ทั้ง 2 รุ่นนั้นมาจากพื้นฐานเครื่องยนต์เดียวกันซึ่งเป็นแบบ ดีเซล EcoBlue TDCi 4 สูบขนาดความจุ 1,996 ซีซี ฟอร์ดได้มีการพัฒนาเครื่องยนต์โดยเริ่มจากการใช้โฟมมาผลิตฝาครอบเครื่องยนต์ และเปลี่ยนมาใช้สายพานไทม์มิ่งแทนโซ่ รวมถึงเพิ่มสายพานเส้นเล็กอีกหนึ่งเส้นซึ่งทำงานผ่านแทงค์น้ำมันเครื่องคอยทำหน้าที่ตักน้ำมันเครื่องขึ้นไปช่วยหล่อลื่นชิ้นส่วนภายใน และลูกสูบทำจากอลูมิเนียมซึ่งมีความแข็งแรง และทนทาน ส่งผลให้การทำงานของเครื่องยนต์นั่นเงียบกว่าเดิม แต่ความแตกต่างอยู่ที่ที่ระบบอัดอากาศ Wildtrak ใช้แบบ Bi-turbo ให้กำลังสูงสุด 213 แรงม้าที่ 3,750 รอบ พร้อมแรงบิด 500 นิวตันเมตรที่ 1,750 – 2,000 รอบ ซึ่งเป็นขุมพลังแบบเดียวกับ Ranger Raptor

ในส่วนของ Limited ใช้ระบบอัดอากาศแบบเทอร์โบเดี่ยว ให้กำลังสูงสุด 180 แรงม้าที่ 3,500 รอบ พร้อมแรงบิด 420 นิวตันเมตรที่ 1,750 – 2,500 รอบต่อนาที

ทั้ง Ranger Wildtrak และ Limited ใช้ระบบส่งกำลังใหม่ในรูปแบบของเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ โดยระบบส่งกำลังนี้สามารถปรับลดตำแหน่งเกียร์ได้โดยใช้การบวก/ลบ ที่อยู่บริเวณหัวเกียร์ และเกียร์ระบบนี้ได้ใช้ในรถยนต์สมรรถนะสูงอย่าง Ford Mustang Ford F-150 รวมถึง Ford Ranger Raptor ด้วยเช่นกัน

ด้านของระบบรองรับยังคงใช้แบบเดียวกัน โดยได้มีการพัฒนาเพื่อลดการโคลงตัว และเพื่อการควบคุมที่แม่นยำ ด้านหน้าเป็นแบบอิสระแมคเฟอร์สัน สตรัท มาพร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบแหนบซ้อน

รายละเอียดทั้งหมดเป็นความแตกต่างและข้อมูลทั่วไปของ Ford Ranger ทั้ง 2 รุ่น ทีนี้มาเข้าสู่การทดสอบกันเลยครับ เส้นทางที่ใช้ในการพิสูจน์ความแกร่งอยู่ที่จ.เชียงราย แน่นอนว่า สภาพภูมิประเทศในรูปแบบเส้นทางลาดชัน พร้อมทางโค้ง ขึ้น/ลง ภูเขา และทุกคนที่เข้าร่วมการทดสอบในครั้งนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

เริ่มด้วยเรื่องของ Ranger Wildtrak กับสัมผัสแรกบนระยะทางร่วม 200 กม. จากอ.เมือง เชียงรายไปจนถึงปลายทางที่อ.เชียงของ ความเงียบในห้องโดยสารถือเป็นความโดดเด่นและเพิ่มสุนทรียในการขับขี่ ทั้งนี้เป็นผลมาจากเสียงเครื่องยนต์ที่เงียบขึ้น และการใส่ระบบตัดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร (Active Noise Cancellation)

สมรรถนะของเครื่องยนต์ต้องบอกว่า “เฟอร์เฟค” ความเร็ว 100 กม./ชม. ใช้รอบเครื่องยนต์ไปเพียงแค่ 1,500 รอบ ซึ่งถ้าเทียบกับรถยนต์ในกลุ่มอีโค่คาร์หลายๆแบรนด์ ยังใช้รอบเครื่องสูงกว่านี้เสียอีก บางช่วงที่เป็นเส้นตรงยาวๆ สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 180 กม./ชม.

การทำงานของระบบ Bi-Turbo จะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ขั้นตอน ในกรณีรอบเครื่องยนต์อยู่ที่ 0-1,800 รอบ เทอร์โบลูกเล็กจะทำงานเป็นหลัก จาก 1,800 – 3,000 รอบ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างลูกเล็กกับลูกใหญ่ แต่จาก 3,000 รอบเป็นต้นไป เทอร์โบลูกใหญ่จะเข้ามามีบทบาทในการอัดอากาศแต่เพียงลูกเดียว ทั้งนี้จึงลดอาการ Lag ของเทอร์โบได้อย่างชัดเจน

ระบบส่งกำลังพัฒนาออกมาได้ดี การเปลี่ยนเกียร์แต่ละครั้งทำได้นุ่มนวล และอัจฉริยะ เมื่อต้องการเร่งแซง สมองกลจะอ่านค่าใช้งานและปรับลดตำแหน่งเกียร์แบบก้าวกระโดด ยกตัวอย่างเช่น หากตำแหน่งเดิมอยู่ที่เกียร์ 6 ด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. เพียงคิกดาว์น สมองกลของเกียร์จะสั่งการให้ระบบเปลี่ยนลงมาเป็นเกียร์ 3 เพื่อตอบรับกับการกดคันเร่ง และเปลี่ยนจากเกียร์ 5 ไปเกียร์ 7 เมื่อสมองกลพิจารณาแล้วว่าความเร็วสัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์

ในกรณีที่ใช้การปรับและลดตำแหน่งเกียร์ในรูปแบบแมนนวลโหมด สามารถควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องทำความเข้าใจกับระบบเพิ่มอีกเล็กน้อย เพราะเทคโนโลยีนี้ ผู้ขับขี่ต้องควบคุมเองทุกอย่าง หากถอนคันเร่ง ใช่ว่าเกียร์จะกลับมาอยู่ในตำแหน่ง D ต้องกด + ค้างไว้สักระยะ เพื่อให้สมองกลประเมินค่า หรือ ปรับตำแหน่งเกียร์มาที่ S แล้วดันกลับไปที่ตำแหน่ง D เกียร์ถึงจะกลับไปเป็นระบบเกียร์อัตโนมีติเช่นเดิม

ระบบช่วงล่างถือว่าโดดเด่นไม่แพ้เครื่องยนต์ เดิมทีหากใครที่ติดตามกระบะพันธุ์แกร่งจากค่ายฟอร์ด คงจะพอทราบกันแล้วว่า ระบบรองรับนั้นหาตัวเปรียบได้อยาก เพราะกระบอกโช๊คอัพที่ใหญ่กว่าคู่แข่ง รวมถึงการดีไซน์แหนบซ้อนของระบบรองรับด้านหลัง ทำให้ Ranger มีสมรรถนะระบบช่วงล่างที่โดดเด่นด้านการยึดเกาะ พอมาถึงในรุ่นปี 2018 ระบบช่วงล่างด้านหน้าได้เพิ่มในส่วนของเหล็กกันโคลง ทำให้ได้มาซึ่งการควบคุมรถที่แม่นยำ ขับเพลินและนิ่ง จนบ่อยครั้งต้องละสายตาจากเส้นทางมามองที่มาตรวัดความเร็ว ซึ่งความเร็วในขณะนั้นอยู่ที่ 150-160 กม./ชม. ก็ตาม

ด้านการทดสอบระบบตรวจจับคนเดินถนน (AEB: Autonomous Emergency Braking) และระบบตรวจจับยานพาหนะ (Vehicle Detection) ความพิเศษของระบบนี้มาจากการสั่งงานระบบเบรกอัตโนมัติ โดยใช้กล้องและเรดาร์บริเวณกระจกบังลมหน้าตรวจจับคนเดินถนนหรือพาหนะ ระบบจะสั่งการให้รถเบรกกะทันหัน ในย่านความเร็วตั้งแต่ 3.6-50 กม./ชม. เพื่อลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่หากความเร็วเกินกว่านี้ ระบบจะช่วยลดความเร็วแต่ไม่ถึงกับหยุดนิ่ง ซึ่งจะช่วยให้อุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นนั้นลดความรุนแรงลงได้ และระบบจะไม่ทำงานในกรณีที่แซงเลนซ้าย แล้วมีคนหรือรถพุ่งออกมาจากด้านขวา เนื่องจากกล้องและเรดาร์ถูกบดบังทัศนวิสัยของการทำงานนั่นเอง

สำหรับระบบระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (Active Park Assist)เป็นการอำนวบความสะดวกให้ผู้ขับขี่ในกรณีที่มีพื้นที่จอดรถจากด้านข้าง ระบบนี้จะใช้กล้องและเรดาร์ทำการประเมินพื้นที่ ก่อนที่จะลอคเป้าหมายและทำการควบคุมทิศทางของรถ ผู้ขับขี่ทำหน้าที่เพียงควบคุมคันเร่งและเบรคเท่านั้น ซึ่งตัวช่วยนี้ถือเป้นตัวช่วยที่ทำให้การเล็งพื้นที่และนำรถเข้าจอดได้โดยง่าย

ทีนี้มาถึงคิวของรุ่น Limited เส้นทางที่ใช้ จากอ.เชียงของ-อ.เมืองเชียงราย ความแตกต่างนอกผมขอโฟกัสไปที่เรื่องของเครื่องยนต์ซึ่งใช้ระบบอัดอากาศแบบเทอร์โบเดี่ยว ซึ่งมีพละกำลังน้อยกว่าระบบอัดอากาศแบบ Bi-turbo แต่ใช้ว่าการตอบสนองจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความเร็วเฉลี่ย 100 กม./ชม. ยังคงใช้รอบเครื่องยนต์เท่ากัน นั่นคือ 1,500 รอบต่อนาที แต่การตอบสนองจะมีอาการ Lag ของเทอร์โบบ้างเล็กน้อย แต่ก็ใช้ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะถ้ามาเทียบกับคู่แข่งในกลุ่มรถกระบะ พละกำลัง 180 แรงม้า พร้อมแรงบิด 420 นิวตันเมตร นั้นอาจสูงกว่าคู่แข่งบางรุ่นเสียอีก และแน่นอนในส่วนที่ได้เปรียบนั่นคือในด้านของความประหยัดเชื้อเพลิง

นอกเหนือจากเรื่องของเครื่องยนต์ รถทั้ง 2 รุ่นนี้ให้อารมณ์การขับขี่ที่ใกล้เคียงกันมาก จะมีอีกเรื่องก็คือ การเก็บเสียงในห้องโดยสาร เพราะ Wildtrak ได้ติดตั้งระบบตัดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร (Active Noise Cancellation) ซึ่งถ้านำระบบนี้มาติดตั้งในรุ่น Limited คงเป็นอะไรที่เรียกว่ารักพี่เสียดายน้องของจริงครับ

ถ้าให้สรุปว่ารถทั้ง 2 คันนี้มีอะไรให้ติ บอกตามตรงเลยครับว่าเป็นการใช้งานระบบเกียร์ในโหมดแมนนวล ซึ่งควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนที่จะใช้งาน เนื่องจากคุณต้องควบคุมการทำงานตลอดเวลา เพราะเกียร์จะไม่กลับมายังตำแหน่ง D ทั้งที่ยกคันเร่งหรือลากรอบยาวๆก็ตาม สำหรับส่วนอื่นๆ ผมยังหาไม่เจอว่าส่วนใหนที่อยากให้ปรับปรุง โดยรวมแล้วพอจะนิยามสั้นๆให้กับ Ford Ranger ทั้ง 2 คันนี้ได้ว่าเป็น “กระบะพันธุ์แกร่งแห่งยุคสมัย”

และหากถามว่าควรเลือกแบบไหน ในด้านของราคาที่เป็นส่วนต่างคือ 236,000 บาท กับออฟชั่นและฟีเจอร์ต่างๆที่ไม่เหมือนกันนั้น ในกรณีที่ใช้งานจริง จะได้สัมผัสกับระบบเหล่านี้มากน้อยเพียงใด ถ้าใช้งานเยอะ ผมว่าคุณควรเลือกรุ่น Wildtrak เพราะมีครบและจบทุกอย่างในคันเดียว แต่ถ้าไม่ค่อยได้ใช้งาน ความแตกต่างของระบบที่กล่าวถึง เลือกรุ่น Limited ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้วครับ

รายละเอียดด้านราคาขายของ Ford Ranger แต่ละรุ่น สามารถรับชมได้ที่ https://www.ford.co.th/trucks/ranger/

ข้อมูลทางเทคนิค: Ford Ranger Wildtrak , Limited
เครื่องยนต์: ดีเซล EcoBlue TDCi 4 สูบ เทอร์โบคู่,ดีเซล EcoBlue TDCi 4 สูบ เทอร์โบเดี่ยว
ความจุกระบอกสูบ (ซี.ซี.): 1,996
กำลังสูงสุด (แรงม้า ที่ รอบ/นาที): 213/3,750 (WildTrak) 180/3,500 (Limited)
แรงบิดสูงสุด (นิวตัน-เมตร ที่รอบ/นาที): 500/1,750 – 2,000 (WildTrak) 420 /1,750 – 2,500 (Limited)
ระบบส่งกำลัง: อัตโนมัติ 10 จังหวะ พร้อม Manual Mode
ระบบขับเคลื่อน: สี่ล้อพาร์ทไทม์
ระบบกันสะเทือน(หน้า/หลัง): แมคเฟอร์สันสตรัท /แหนบแผ่น
เบรก(หน้า/หลัง): ดิสก์/ดุม
ยาว/กว้าง/สูง(มม.): 5,362×2,163 x1,815
ราคา (บาท): 1,265,000 (WildTrak) ,1,029,000 (Limited)
ตัวแทนจำหน่าย: บริษัท ฟอร์ด เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

RELATED ARTICLES

Most Popular