การทดสอบในครั้งนี้เป็นการขับขี่จากตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ แน่นอนว่าเส้นทางหลากหลายรูปแบบสะท้อนการใช้งานทั้งในเมืองและนอกเมืองถือเป็นบทพิสูจน์ความแกร่งของ Mazda CX3 ได้เป็นอย่างดี มาดูกันครับว่าคันนี้จะมีอะไรโดดเด่น
Mazda CX3 ออกแบบสไตล์ Kodo Desigh ด้วยคอนเซ็ปต์ “See The World In New Angle” หรือ “มองโลกมุมใหม่…อิสระไร้ขีดจำกัด” ได้รับแรงบันดาลใจมากจากการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ มีรูปลักษณ์สง่างาม ปราดเปรียว แสดงออกถึงพละกำลัง เป็นรถยนต์ในเซกเมนต์ครอสส์โอเวอร์ที่มากับนิยาม “Freestyle Crossover” ด้วยมิติความยาว 4,275 ม. กว้าง 1,765 ม. และ สูง 1,550 ม. กระจังหน้าโดดเด่นด้วยการติดครีบรูปตัววี โคมไฟหน้า ไฟกลางวัน และไฟตัดหมอก เป็นแบบแอลอีดี มาพร้อมระบบเปิด/ปิดอัตโนมัติ ตกแต่งให้ดูสปอร์ตด้วยสเกริ์ตข้างสีโครเมียม สปอยเลอร์หลัง และ ปลายท่อไอเสียคู่ สำหรับรุ่นมาตรฐานในรหัส E และ C จะติดตั้งล้อแมกขนาด 16 นิ้ว ส่วนรหัส S และ SP จะเป็นล้อแม็กขอบ 18 นิ้ว
ห้องโดยสารออกแบบด้วยความประณีตสไตล์รถยุโรป ดีไซน์ใกล้เคียงกับรุ่น 2 เป็นอย่างมาก ทีมวิศวกรใส่ใจให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารโดยมุ่งเน้นไปที่ความสะดวกสบายและลดอาการเหนื่อยล้าจากการขับขี่ระยะไกล ออกแบบให้เบาะนั่งของผู้ขับขี่สูงขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้มีทัศน์วิสัยการขับขี่ที่ชัดเจน ห้องโดยสารขนาดกะทะรัดตอบโจทย์ตามคอนเซปต์ที่ใช้ออกแบบได้ค่อนข้างตรงตามวัตถุประสงค์ ตกแต่งภายในด้วยหนังแท้เย็บด้ายแดง แผงข้างและคอนโซลกลางหุ้มด้วยหนังแท้สีดำและแดง สะท้อนถึงความหรูหราที่ผสมรวมกับความสปอร์ตเข้าไว้ด้วยกัน
อุปกรณ์และฟังค์ชั่นการใช้งานเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ถือว่าเด็ด ดีไซน์ตามแบบ Human-Machine Interface สอดคล้องกับสรีระศาสตร์เพื่อให้การใช้งานสะดวกสบาย ชุดมาตรวัดมีวัดรอบแบบอนาลอกและแสดงความเร็วแบบดิจิตอล บนคอนโซลมีระบบ Active Driving Display ติดตั้งเหนือพวงมาลัยในระดับสายตา แสดงข้อมูลความเร็ว และ ระบบนำทาง
คอนโซลกลางมีจอทัชสกรีนขนาด 7 นิ้วเรียกว่า Center Display ลิงค์กับระบบสั่งการ MZD Connect เทคโนโลยีที่ให้ทั้งความบันเทิงและสามารถสื่อสารผ่านทางโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งยังเรียกดูข้อมูลผ่านระบบสั่งการด้วยเสียง Voice Recognition หลังตำแหน่งเกียร์ของระบบ Center Commander ที่ใช้งานง่ายเพียงหมุนหาเมนูที่ต้องการซึ่งช่วยให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องละสายตาเนื่องจากจะแสดงผลไปยัง Center Display
มาถึงสมรรถนะเรื่องของพละกำลัง MAZDA CX3 ที่ทำการทดสอบในครั้งนี้ใช้เครื่องยนต์ Skyactive G ขนาด 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 156 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 204 นิวตันเมตรที่ 2,800 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านระบบ Skyactive Drive ซึ่งเป็นเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 จังหวะพร้อมแมนนวลโหมด
เข้าเรื่องกันเลยครับ เส้นทางที่ใช้ในการทดสอบในครั้งนี้ถือว่าจำลองการขับขี่มาไว้ครบถ้วน จากตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นยอดดอยอินทนนท์ ระยะทางไป-กลับ รวม 200 กม. การใช้งานที่หลากหลายนำไปสู่คำตอบว่า CX-3 จะตอบโจทย์ให้กับผู้ขับขี่ได้ประทับใจในด้านใดบ้าง…บทความต่อจากนี้ไปคือการรีวิวแบบจัดเต็ม
เรื่องของรูปลักษณ์เกริ่นนำกันไปพอหอมปากหอมคอ หลายๆท่านคงได้เห็นตามสื่อต่างๆว่า CX-3 มีความงดงามมากเพียงใด สิ่งที่ผมชื่นชอบรถคันนี้เริ่มจากการดีไซน์เบาะนั่งคนขับ โจทย์นี้วิศวกรแห่งค่าย ZOOM-ZOOM ให้คำตอบไว้อย่างแจ่มแจ้งและสัมผัสได้จริง ในการปรับเซทท่านั่งผมให้ความสำคัญมาเป็นอันดับต้นๆเพราะระยะทางที่ใช้ในการทดสอบถึง 200 กว่ากม. หนำซ้ำยังมีเส้นทางคดโค้ง ขึ้น/ลง ภูเขา แน่นอนว่าอาการเมื่อยล้าต้องมีแน่นอน รถหลายๆคันที่ผ่านมือผมไปอาจจะเซทท่านั่งกันบ่อยครั้งเพราะปรับเซทให้ลงตัวค่อนข้างที่จะลำบาก แต่ความใส่ใจในรายละเอียดตรงนี้ขอยกความดีให้กับทีมออกแบบที่สะท้อนความสะดวกสบายที่มาพร้อมกับทัศน์วิสัยในการขับขี่ที่กว้างไกล
ต่อจากเรื่องท่านั่งมาถึงเรื่องการบังคับควบคุม ต้องบอกว่าพวงมาลัยทำงานได้แม่นยำครับไม่ต้องห่วงว่าการพิสูจน์สมรรถนะครั้งนี้ผมจะละเลยประเด็นนี้ไป ลองคิดง่ายๆดูว่าทางโค้งขึ้นยอดดอยอินทนนท์มีมากขนาดไหน การบังคับรถให้ไปยังทิศทางที่ต้องการทำได้ดีและแม่นยำ น้ำหนักพวงมาลัยเมื่อใช้ความเร็วต่ำค่อนข้างเบา แต่หากใช้ความเร็วสูงพวงมาลัยจะปรับน้ำหนักให้หนักขึ้นเพื่อให้ขับขี่ได้อย่างมั่นใจ ยังมีอีกเรื่องที่ต้องพ่วงมาในหัวข้อนี้ นั่นคือ LDWS (Lane Departure Warning System) ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลนโดยไม่ได้ตั้งใจ ระบบนี้จะทำงานต่อเมื่อเซนเซอร์อัจฉริยะตรวจจับว่ารถมีการเบี่ยงออกนอกเลน โดยจะส่งเสียงเตือนเข้ามายังห้องโดยสารซึ่งสามารถปรับความดังได้เพื่อเตือนในกรณีผู้ขับขี่เผลอเบี่ยงเลนโดยไม่เจตนาและป้องกันเมื่อผู้ขับขี่เกิดอาการเมื่อยล้าจนเป็นที่มาของการหลับใน
เทคโนโลยีอัจฉริยะซึ่งช่วยให้ผู้ขับขี่ปลอดภัยในการใช้งาน เริ่มกันด้วย I Stop System ระบบนี้จะช่วยหยุดการทำงานของเครื่องยนต์ในขณะที่เหยียบแป้นเบรคและรถติดซึ่งจะกลับมาใช้งานได้ใหม่อีกครั้งเมื่อยกขาออกมาจากแป้นเบรค ถ้าไม่ชอบระบบนี้ สามารถปิดการทำงานโดยสวิทช์ควบคุมอยู่ใต้ช่องแอร์ด้านขวามือ
อีกหนึ่งระบบที่ถือเป็นที่เด็ดคือ LDWS (Lane Departure Warning System) คอยเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลนโดยไม่ได้ตั้งใจเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ประเมินผลจากกล้องด้านหน้ารถ หากคาดการณ์ว่ารถกำลังออกจากช่องทาง เสียงเตือนจะดังผ่านมาที่ลำโพงซึ่งสามารถปรับระดับความดังได้ตามต้องการ นอกจากนี้ยังมี SCBS (Smart City Brake Support) ระบบช่วยหยุดรถอัจฉริยะ ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุเมื่อขับด้วยความเร็วต่ำหรือในกรณีที่ขับรถในเมือง เซนเซอร์จะทำงานเมื่อความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะหยุดรถอัตโนมัติเมื่อวิเคราะห์แล้วว่ามีอัตราเสี่ยงที่จะเกิดการชนสูง นอกจากนี้ยังมีระบบ ABSM (Advanced Blind Spot Monitoring ระบบจะส่งสัญญาณเตือนหากตรวจพบรถที่อยู่ด้านข้างที่กำลังเร่งแซงและอยู่ในจุดบอดที่ผู้ขับขี่อาจมองไม่เห็น
มาถึงเรื่องการตอบสนองของขุมพลัง เครื่องยนต์ที่ใช้ในการทดสอบเป็นแบบ Sky Active G ขนาด 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 156 แรงม้าให้กำลังสูงสุด 156 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 204 นิวตันเมตรที่ 2,800 รอบต่อนาที ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับรุ่น 3 คือมีอัตราส่วนกำลังอัด 14:1 สูงสุดในกลุ่มของรถที่อยู่ในเซกเมนต์เดียวกันรวมถึงมีระบบระบายไอเสียแบบ 4-2-1 การตอบสนองต่อการใช้งานค่อนข้างดีพอสมควร บนทางลาดชันสามารถขับขี่ได้อย่างมั่นใจ พละกำลังเหลือใช้ ตัวแปรอยู่ที่ระบบส่งกำลังที่ไม่จำเป็นต้องไปตามเทรนด์โลกอย่างเกียร์ CVT ระบบ Skyactive Drive ของ Mazda เป็นเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 จังหวะที่มาพร้อมแมนนวลโหมด นิสัยของระบบส่งกำลังนี้ตอบสนองต่ออัตราเร่งได้ดีและมีการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ที่นุ่มนวล แต่ถ้าให้เบ่งพลังแบบรถเครื่องยนต์ใหญ่ๆคงจะไม่ใช่อย่างที่หลายๆคนคิด เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการออกแบบที่มุ่งเน้นไปที่ความสะดวกสบาย แต่หากนำทั้งกำลังจากเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังมาผสมรวมกับระบบกันสะเทือนใช้ชื่อเรียกว่า Skyactive-Chassis ประกอบด้วยช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบกึ่งอิสระทอร์ชั่นบีม จุดเด่นที่ได้มาจากการขับขี่คือความแน่น หนึบ และ นุ่มนวล ฟิลลิ่งจะไม่ออกไปในแนวสปอร์ต แต่ก็มั่นใจได้ บางช่วงบางตอนต้องเข้าโค้งด้วยความเร็วเกิน 100 กม./ชม. เพื่อพิสูจน์ถึงการขับขี่ที่สนุกสนาน การควบคุมก็ยังทำได้อย่างมั่นใจ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเซตระบบช่วงล่างรวมถึงการติดตั้งล้อและยางขนาด 18 นิ้วซึ่งมีหน้าสัมผัสที่กว้าง รวมถึงมิติของรถที่ดีไซน์ใม่ให้สูงจนเกินไป จึงทำให้การควบคุมทำได้ง่าย ขับสนุก และมั่นใจได้
สำหรับบทบาทของผู้โดยสาร เมื่อเจอสภาพถนนที่ผ่านทางโค้งคดเคี้ยว อาการเหวี่ยงของรถที่ส่งผลมายังผู้โดยสารน้อยมาก เพราะอาการโยนตัวจากภายในห้องโดยสารเป็นดีเทลที่ทีมผู้ออกแบบให้ความสำคัญและแสดงออกมาตามคอนเซปท์ Skyactiv-Body ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ลดการเมื่อยล้าแถมยังทำให้อาการเมารถสำหรับเส้นทางในรูปแบบนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับ Mazda CX-3 ที่ได้ทดสอบในครั้งนี้ถือว่ามีจุดเด่นหลายอย่างซึ่งทั้งหมดทำงานสอดคล้องกันได้เป็นอย่างดีทั้งในเรื่องของการดีไซน์และสมรรถนะของขุมพลัง หากนำไปเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในเซกเมนต์เดียวกันอาจตกเป็นรองในเรื่องของขนาดห้องโดยสารที่ค่อนข้างจะกะทัดรัดไปสักนิด และขาดสิ่งอำนวยความสะดวกอย่าง Paddle Shift และ Cruise control แต่ถ้าเปรียบมวยกันแล้วค่อนข้างได้เปรียบในเรื่องของเทคโนโลยีอัจฉริยะที่นำพามาซึ่งความปลอดภัย และ สะดวกสบาย ในส่วนของพละกำลัง แม้จะไม่ออกในแนวสปอร์ตมากนัก แต่ก็ตอบสนองต่อการใช้งานได้อย่างสอดคล้องทั้งเครื่องยนต์และระบบช่วงล่าง การควบคุมรถทำได้ง่ายและแม่นยำ ทั้งหมดนี้คือการถ่ายทอดนิยามของ KODO DESIGH ที่ MAZDA ได้ทำการบ้านมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของกลุ่มเป้าหมายได้ตรงตามคอนเซปท์ที่ว่า”สร้างมารตรฐานสำหรับยุคใหม่”ได้อย่างโดนใจและตรงประเด็น