Friday, November 22, 2024
HomeAuto Testขับ Nissan Leaf พิชิตยอดดอยอินทนนท์

ขับ Nissan Leaf พิชิตยอดดอยอินทนนท์

บทพิสูจน์ใหม่ในครั้งนี้ ผมมีโอกาสได้นำ Nissan Leaf รถยนต์พลังงานไฟฟ้าไปทำภารกิจการทดสอบสมรรถนะไต่ระดับความสูงกว่า 2,500 เมตร เพื่อขึ้นสู่ยอดดอยที่สูงสุดในประเทศไทย โดยออกเดินทางจาก อ.สะเมิง มุ่งสู่ อ.จอมทอง และพักรถบนยอดดอยอินทนนท์ ก่อนกลับมายังอ.สะเมิง รวมระยะทางกว่า 200 กม. ซึ่งเป็นระยะทางที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขของระยะทางที่ได้เคลมจากบริษัทผู้ผลิตนั่นคือทะลุ 300 กม. ต่อการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง แต่ตัวแปรที่จะเข้ามาท้าทายพร้อมอุปสรรคต่างๆอาจจะทำให้ไปได้แต่…กลับไม่ถึง ติดตามรับชมกันครับว่าภารกิจนี้จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีหรือไม่
Nissan Leaf 08
ก่อนหน้าไม่นาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้จัดกิจกรรมทดสอบสมรรถนะของ Nissan Leaf ในรูปแบบการชาร์จไฟ 1 ครั้งกับภารกิจเที่ยวทั่วกรุง โดยรายละเอียดทั้งตัวรถและกิจกรรมสามารถรับชมได้ตามลิงค์นี้เลยครับ https://www.autoworldthailand.com/nissan-leaf-2/
Nissan Leaf 01
จากการทดลองและตัวเลขที่ทำได้ในกิจกรรมเที่ยวทั่วกรุง ระยะทางประมาณ 160 กม. เหลือพลังงานจากแบตเตอรี่อีก 30 % ซึ่งถ้ารวมแล้วอาจทำตัวเลขได้กว่า 200 กม. และความเข้าใจที่ว่าควรใช้งานรถยนต์พลังไฟฟ้าแต่ในเมืองหลวงเนื่องจากมีสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าที่หาได้ไม่ยาก
Nissan Leaf 04
แต่ความท้าทายรูปแบบใหม่ที่ผู้จัดงานได้สร้างขึ้นนั่นคือการเดินทางขึ้นที่สูง ซึ่งมีตัวแปรเป็นสภาพเส้นทางที่หลากรูปแบบ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นปัญหาในการใช้งาน แถมยังทึ่งกับการชาร์จไฟกลับไปยังแบตเตอรี่ได้อย่างรวดเร็วกับเทคโนโลยี Regenerative Braking System ซึ่งถือเป็นไฮไลท์เด็ดในรูปแบบของอุปกรณ์มาตรฐาน
Nissan Leaf 04
การเดินทางเริ่มต้นที่อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โดยทีมงานได้ทำการชาร์จไฟไว้เต็ม 100 % โดยตัวเลขแสดงที่จอดิสเพลย์บริเวณแดชบอร์ดได้แจ้งไว้ว่าสามารถใช้งานได้ระยะทาง 270 กม. แต่เส้นทางที่ทดสอบในครั้งนี้แค่เพียง 210 กม. ซึ่งถือเป็นเรื่องง่าย แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่อย่างที่คิด
Nissan Leaf 08
ขาขึ้นระยะทาง 100 กม. โดยประมาณ เทคโนโลยีคันเร่งอัจฉริยะ e-Pedel ได้เข้ามาช่วยแบ่งเบาการใช้พลังงาน เนื่องจากเมื่อไหร่ก็ตามที่เปิดสวิทช์ระบบนี้ หากเร่งความเร็วและชะลอความเร็ว ระบบจะทำการหน่วงและสร้างแรงเฉื่อยจนรถหยุดนิ่งและยังมีระบบช่วยเตือนและช่วยเบรคอัตโนมัติ เท่ากับว่าหากกะเกณฑ์ระยะทางในการหยุดรถให้ดี เบรกที่เท้าจึงแทบไม่จำเป็นต้องใช้ แถมยังช่วยชาร์จไฟกลับมายังแบตเตอรี่ได้ แต่ก็ถือเป็น% ที่ไม่สูงนัก
Nissan Leaf 06
สภาพเส้นทางถือเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะเป็นการขับขี่ไต่ระดับความสูงชันกว่า 2,500 กม. เพื่อขึ้นไปยังจุดสูงสุดของประเทศไทยนั่นคือ “ยอดดอยอินทนนท์” ในเรื่องของอัตราเร่งนั้นหายห่วง เพราะรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์นั้นไม่มีอาการรอรอบเหมือนเครื่องยนต์ และยังทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ได้ในเวลาเพียง 7.9 วินาที ซึ่งได้มาจากพละกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังสูงถึง 150 แรงม้า
Nissan Leaf 07
ขาขึ้นจากอ.สะเมิง ไปยังยอดดอยอินนทนนท์ ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. ซึ่งระหว่างการจอดพักรถ พลังงานจากแบตเตอรี่เหลือเพียง 29 % แม้จะใช้ความเร็วเฉลี่ยไม่ถึง 70 กม./ชม.ก็ตาม นั่นหมายความว่า ระยะทางที่ใช้ไปเรียกว่าครึ่งทางของกิจกรรมก็ว่าได้ แต่แบตเตอรี่มีพลังงานคงเหลือเพียง 29% เท่ากับใช้ไปแล้วกว่า 70% แล้วระยะทางขาลงอีก 100 กม.กับแบตเตอรี่ที่เหลือเพียง 29 % จะพอกลับถึงเส้นชัยหรืออาจจะต้องแวะกินข้าวลิงข้างทาง
Nissan Leaf 10
สำหรับพระเอกที่มาในระบบฟื้นฟูพลังงานโดยการขับในโหมด B ผสานกับ Eco ซึ่งจะช่วยสร้างพลังงานกลับมาได้สูงสุดถึง 20 % โดยทุกครั้งที่ชะลอความเร็วหรือเบรก พลังงานที่สูญเสียจากการขับขี่รวมถึงสภาพความลาดชันของเส้นทางจะแปรสภาพกลับไปเป็นพลังงานในแบตเตอรี่ ซึ่งถือเป้นนวัตกรรมลิขสิทธิ์ที่นิสสันได้ออกแบบมาโดยเฉพาะ
ด้วยสภาพเส้นทางที่ให้ความลาดชันและแฝงด้วยอันตรายตลอดการเดินทาง การขับขี่ในโหมด B ผสานกับ Eco เมื่อยกคันเร่งก็จะช่วยชะลอความเร็วได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับสร้างแรงเฉื่อยสูงแบบ e-Pedel และยิ่งเหยียบเบรก การชาร์จพลังงานกลับไปยังแบตเตอรี่ก็จะรวดเร็วยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
Nissan Leaf 11
จะว่าไปแล้วการทรงตัวของ Nissan Leaf นั้นได้ออกแบบมาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงชุดยางซับแรงสั่นสะเทือนแบบยูรีเทนจะช่วยรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี เมื่อทำงานร่วมกับระบบช่วงล่างแบบทอร์ชั่นลาร์ที่ปรับเรื่องของความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นอีก 10% และพวงมาลัยที่มีการปรับเซ็นเซอร์วัดองศาการเลี้ยว เมื่อทุกอย่างทำงานร่วมกัน การควบคุมรถก็ทำได้ง่ายและมั่นใจมากยิ่งขึ้น
Nissan Leaf 13
จากเดิมบนยอดดอยพลังงานเหลือเพียง 29% พอลงมาถึงปากทางขึ้นดอยด้านล่าง พลังงานแสดงที่หน้าจอเพิ่มขึ้นถึง 49% ณ จุดนี้ ต้องยกความดีความชอบให้กับโหมด B ที่ผสานการทำงานกับ Eco และระยะทางที่เหลือจนถึงเส้นชัยอีกไม่เกิน 60 กม. ทำให้สามารถพารถไฟฟ้าคันนี้ไปยังเส้นชัยได้อย่างสบายๆ
Nissan Leaf 15
ในภารกิจพา Nissan Leaf พิชิตยอดดอยอินทนนท์ในครั้งนี้ยังมี Challenge เบาๆ นั่นคือรถคันไหนที่กลับมาถึงเส้นชัยพร้อมกับเหลือพลังงานมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะพร้อมของรางวัลเล็กๆน้อยๆติดมือกลับบ้าน
Nissan Leaf 14
สำหรับตัวเลขที่ทำได้หลังจากนำรถมาถึงยังเส้นชัยนั่นคือเหลือพลังงานแบตเตอรี่อีก 23 % ทำระยะทางไปทั้งสิ้น 205.4 กม.ด้วยความเร็วเฉลี่ย 49 กม./ชม. แต่ก็ยังไม่สูงพอที่จะคว้าชัยชนะในครั้งนี้มาครอง โดยผู้ชนะเลิศนั้นทำระยะทางและความเร็วชนะไปแบบใกล้เคียง แต่พลังงานแบตเตอรี่ยังเหลืออยู่กว่า 26 % พลาดการคว้าชัยไปอย่างน่าเสียดาย
Nissan Leaf 12
บทสรุปของการเดินทางพา Nissan Leaf พิชิตยอดดอยในครั้งนี้กลับเป็นผลงานที่น่าประจักษ์ แบะทำให้รู้ว่าการใช้งานบนพื้นที่เนินสูงชันนั้น หากมีการวางแผนการใช้งานที่ดีและตัวช่วยการขับขี่ที่เป็นเลิศ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวเรื่องพลังงานที่อาจจะหมดระหว่างทางจนทำให้ต้องกินข้าวลิง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าระหว่างเส้นทางท่องเที่ยว รถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็ถือเป็นยานพาหนะที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย เพราะพลังขับเคลื่อนที่ได้เปรียบกว่าเครื่องยนต์สันดาปนั่นเอง ทั้งนี้เรื่องของสถานีอัดประจุคงต้องรอภาครัฐตื่นตัวให้มากขึ้น จะ 1 ปี 5 ปี 10 ปี หรือมากกว่านั้น
Nissan Leaf 16

RELATED ARTICLES

Most Popular