Suzuki XL7 ครอส์โอเวอร์ 7 ที่นั่งในกลุ่ม B SUV ที่ตกแต่งให้โฉบเฉี่ยว พร้อมอรรถประโยชน์จากการปรับรูปแบบห้องโดยสารได้หลากหลาย ขุมพลังเป็นเดียวกับ Ertiga ในขนาดความจุ 1.5 ลิตร 105 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 138 นิวตันเมตร พร้อมปรับปรุงระบบช่วงล่างใหม่ ที่นอกจากจะให้การขับขี่ที่ดี ควบคุมง่าย ยังสามารถลุยเบาๆจากส่วนสูงของตัวรถที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเส้นทางการทดลองขับในครั้งนี้มีหลากรูปแบบ จากกรุงเทพ-มวกเหล็ก จ.สระบุรี ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้จากรายงาน
SUZUKI XL7 มีจุดเด่นจากรูปลักษณ์ด้านหน้ารถ ซึ่งหากมองจากด้านหลัง ยังไงก็มีความเหมือนรถอเนกประสงค์รุ่นพี่อย่าง Suzuki Ertiga แต่เทียบจากมิติตัวรถนั้นจะมีสัดส่วนที่ขยายขึ้นกว่าเดิมในทุกมิติ ทั้งความยาว 4,450 มม. มากกว่า Ertiga 55 มม. กว้างกว่า 25 มม. และสูงกว่า 10 มม. ส่วนความสูงใต้ท้องรถ 200 มม.ในขณะที่ Ertiga สูงเพียง 180 มม.และมีความยาวฐานล้อ 2,740 มม. ในขณะที่ระยะห่างจากพื้นถึงตัวรถ 200 มม.
ไฟส่องสว่างแบบแอลอีดีทั้งไฟหน้าและไฟท้าย หน้ากระจังใช้วัสดุสีโครเมียม บนหลังคาติดตั้งแรคหลังคาเพื่อรองรับการบรรทุกสัมภาระที่หลากหลาย ล้อแมกเป็นขนาด 16 นิ้ว หุ้มยาง 195/50 ของ Dunlop
ห้องโดยสารใช้วัสดุคาร์บอนเคฟล่าร์ เพิ่มมาดสปอร์ตให้กับรถคันนี้ได้อย่างลงตัวทั้งคอนโซลและแผงข้าง พวงมาลัยแบบ D-Shape มีปุ่มควบคุมการใช้งานวิทยุและโทรศัพท์และคอนโซลกลางแต่ที่ขาดไปนั่นคือระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติครุสคอนโทรล
เบาะนั่งทั้ง 7 เป็นเบาะผ้าที่มีการแซมด้วยหนังที่ขอบเบาะ ปรับและพับเบาะนั่งแถว 2 ได้ หลากหลายรูปแบบ เพื่อสนองไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง สามารถเลื่อนหน้า/หลัง และพับ เพื่อเข้าไปยังเบาะนั่งแถว 3 ได้สะดวก แต่แถว 3 มีพื้นที่ค่อนข้างกะทัดรัดและน่าจะเหมาะสมกับเด็กหรือคนตัวเล็กมากกว่า
จอแอลอีดีขนาด 5 นิ้วที่อยู่ระหว่างกลางมาตรวัดทรงกลมทั้ง 2 ช่อง ซึ่งแสดงผลและแจ้งสถานะข้อมูลสำคัญของตัวรถ เช่น Driving G-Force อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราแรงบิด กำลังของเครื่องยนต์ และข้อมูลอื่นๆ
คอนโซลกลางติดตั้งหน้าจอสัมผัสขนาด 10 นิ้วเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ทั้งระบบ Apple CarPlay และ Android Auto รองรับการเชื่อมต่อ บลูทูธ HDMI และ USB ที่มีช่องต่อไฟถึง 3 ตำแหน่ง ทั้งยังแสดงภาพจากกล้องมองหลัง
ด้านระบบปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติกระจายความเย็นไปยังผู้โดยสารตอนหลังด้วยการติดตั้งระบบปรับอากาศบนเพดาน ทั้งยังเติมความสะดวกสบายด้วยการวางตำแหน่งแก้วน้ำไว้ทุกพื้นที่ทั่วรถถึง 6 จุด แต่ทีเด็ดอยู่บริเวณช่องวางแก้วน้ำใต้คอนโซลกลางจะมีช่องกระจายความเย็นเพื่อเครื่องดื่มที่เย็นสดชื่นตลอดการเดินทาง
เครื่องยนต์เป็นบล็อกเดียวกับ Ertiga ในรหัส K15B ขนาด 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุดถึง 105 แรงม้า/6,000 รอบต่อนาที แรงบิดที่ 138 นิวตันเมตรที่ 4,400 รอบต่อนาที พร้อมเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะที่ได้รับการปรับจูนให้ตอบสนองดีขึ้นแต่ประหยัดกว่าเดิม ด้วยการยืนยันจากอีโค่สติ๊กเกอร์ในอัตราการสิ้นเปลืองที่ 4.1 ลิตรต่อ 100 กม. ขณะที่ Ertiga อยู่ที่ 6.3 ลิตรต่อ 100 กม.และรองรับเชื้อเพลิงแก๊ซโซฮอลล์อี 20
ระบบช่วงล่างแบบเดิม ด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัทมากับเหล็กกันโคลงด้านหน้า (Front Stabilizer) ขนาดใหญ่พิเศษเพื่อสามารถลดอาการโคลงของตัวรถและเพิ่มการยึดเกาะถนน ด้านหลังเป็นทอร์ชั่นบีมพร้อมคอยล์สปริง ซึ่งทั้งหมดได้ปรับเพิ่มในส่วนการซับแรงสั่นสะเทือนให้ดีขึ้นและยาวกว่าเดิม
ด้านความปลอดภัยมีครบพร้อมกับถุงลมนิรภัย SRS คู่หน้า ระบบเบรก ABS พร้อมกระจายแรงเบรค EBD เสริมด้วยระบบควบคุมเสถียรภาพในการทรงตัว ESP รวมทั้งระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (Hill Hold Control) และป้องกันการโจรกรรมด้วยระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer
การทดสอบสมรรถนะในครั้งนี้ถือเป็นการใช้งานระยะทางไกลกว่า 300 กม. เส้นทางไปกลับกรุงเทพ-มวกเหล็ก จ.สระบุรี พร้อมลุยเบาๆกับทางน้ำและทางฝุ่นอีกเล็กน้อย
การนั่งแถวที่ 3 ถือว่าค่อนข้างอึดอัดไปสักนิด สำหรับผู้โดยสารที่มีความสูงทะลุ 170 ซม. การปรับเบาะนั่งแถว 2 ทำได้ไม่ยาก แต่ก็ยังไม่ง่ายเหมือนแบบ One Touch ระบบปรับอากาศบนเพดานส่งต่อลมเย็นๆมายังเบาะนั่งแถวสามได้ดี
ห้องโดยสารถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำออกแบบให้เก็บเสียงจากภายนอกด้ค่อนข้างดี เสียงเร็ดรอดเข้าห้องโดยสารน้อยมาก แม้จะใช้ความเร็วทะลุ 100 กม./ชม. โครงสร้างตัวถังแบบ Heart-Tech มีคุณสมบัติทั้งด้านความทนทานและน้ำหนักเบา รอยเชื่อมต่างๆทั้งตัวรถก็มีการเพิ่มเติมเพื่อให้ลมเร็ดรอดเข้าตัวรถได้น้อยที่สุด รวมไปถึงยางขอบประตู
น้ำหนักตัวรถที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 100 กก.เป็นทุนเดิม เมื่อรวมกับน้ำหนักของผู้ขับขี่และผู้โดยสารอีกราว 350 กก. เท่ากับภาระของเครื่องยนต์ K15B จะถูกลดกำลังไปโดยปริยายจากการมีน้ำหนักบรรทุกที่เพิ่มเข้ามา แต่การปรับปรับจูนในส่วนของสมองกลหรือกล่องอีซียู เพื่อตอบสนองการขับขี่ได้รวดเร็วขึ้น และอีกหนึ่งเหตุผลที่พอจะสังเขปได้ว่า All New Suzuki XL7 เป็นรถที่ขับสนุก นั่นคือระบบเกียร์อัตโนมัติแบบ 4 จังหวะซึ่งมีอัตราทดที่ค่อนข้างจัดจ้าน
ความสุงของตัวรถก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าไม่สร้างปัญหาให้กับการควบคุม เพราะทีมผู้ผลิตมีการปรับแต่งค่ารองรับการสั่นสะเทือนใหม่ และน้ำหนักของพวงมาลัยที่ปรับตามความเร็วจะคอยช่วยสนับสนุนให้ควบคุมรถได้มั่นใจ บางช่วงของการทดสอบจะเป็นเส้นทางที่เป็นหลุมบ่อ ก็สามารถก้าวข้ามอุปสรรคเบาๆไปได้อย่างสบายๆ
การลุยน้ำก็สามารถทำได้ แต่อาจต้องดูระดับความลึกสักประมาณไม่เกิน 50 ซม.
บทสรุปการเดินทางราว 300 กม. All New Suzuki XL7 พร้อมผู้โดยสารที่มีนน.รวมเกือบ 350 กก. ใช้อัตราบริโภคเชื้อเพลิงอยู่ที่ 14 กม./ลิตร การควบคุมรถทำได้ดีและสนุกได้อย่างมั่นใจ แถมยังลุยไปกับสถานการณ์สมบุกสมบันเบาๆอย่างสบายๆ
ความสุนทรีย์จากการเดินทางมาในรูปแบบของการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนที่สะดวกสบายและทำได้ทั้งระบบ IOS และ ENDROID AUTO เมื่อมาดูที่ราคาค่าตัว 779,000 บาท สำหรับ All New Suzuki XL7 ก็ถือว่าตัวเลือกสำหรับความอเนกประสงค์สไตล์ครอบครัวที่ห้ามมองข้ามเป็นอันขาด