Monday, December 23, 2024
HomeAuto Testทดลองขับ “KIA SOUL EV” รถไฟฟ้าทรงกล่องกับการใช้งานนอกเมือง จะตอบโจทย์ได้แค่ไหน (ภาพ+คลิปวีดีโอ)

ทดลองขับ “KIA SOUL EV” รถไฟฟ้าทรงกล่องกับการใช้งานนอกเมือง จะตอบโจทย์ได้แค่ไหน (ภาพ+คลิปวีดีโอ)

รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากระแสแรงกับเทรนด์ใหม่ของพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนยานพาหนะ หลายประเทศทั่วโลกอาจจะไม่ตื่นเต้นอะไรมากนักเพราะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับประเทศนั้นๆโดยมีสถานีบริการไฟฟ้ากระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค แต่สำหรับประเทศไทย การใช้รถประเทศนี้จึงต้องวางแผนเส้นทางล่วงหน้า เนื่องจากสถานีบริการประจุไฟฟ้ายังมีให้บริการอยู่เพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้นตอบโจทย์การใช้งานในเมืองเป็นส่วนใหญ่ การทดลองขับในครั้งนี้จึงแหวกวัตถุประสงค์ กลายเป็นการเดินทางออกนอกเมืองเพื่อพิสูจน์การใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ไปดูกันว่า Kia Soul EV คันนี้จะตอบโจทย์ได้เพียงใด

หลังจากบริษัท ยนตรกิจ เกีย มอเตอร์ จำกัด ได้นำเข้ารถทรงกล่องรูปทรงน่ารักจากประเทศเกาหลี ในรุ่น Kia Soul มาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเป็นรูปแบบของรถอเนกประสงค์ขนาดกะทัดรัด ต่อมาในปี 2017 ก็ได้นำเข้ามาใหม่ในรุ่นที่ 3 แต่การมาในครั้งนี้มีทีเด็ด เนื่องจากเป็นรถเอนกประสงค์พลังงานไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีเครื่องยนต์สันดาปและใช้กำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นพลังขับเคลื่อน

รูปลักษณ์ภายนอกรถคันนี้ไม่ต่างจากเจนเนอเรชั่นที่แล้วสักเท่าไหร่นัก สัดส่วนนั้นเป็นขนาดเดิมด้วยความยาว 4,140 มม. กว้าง 1,800 มม. และสูง 1,593 มม.แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่าด้านหน้าถูกปรับแต่งให้ลงตัวด้วยโคมไฟที่โฉบเฉี่ยว และหน้ากระจังแบบ Tiger Nose ซึ่งเป็นที่ซ่อนของจุดชาร์จพลังงานไฟฟ้า โดยสามารถเปิดได้จากภายในรถ รวมถึงสีตัวรถแบบทูโทน ที่บ่งบอกว่าเป็นรถไฟฟ้า

มุมมองด้านหลังได้ปรับชุดไฟฟท้ายให้งดงามในรูปแบบของไฟแอลอีดีสีแดงแนวตั้ง ยาวตั้งแต่ขอบบนหลังคาจรดกันชนท้าย และถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่าล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว จะมากับฝาครอบที่ต่างไปจากรุ่นธรรมดา ซึ่งยังช่วยในด้านแอโรไดนามิคได้อีกต่างหาก

ภายในดีไซน์ได้น่ารักและรักษ์โลกด้วยวัสดุที่ใช้ในการออกแบบทั้งคอนโซลกลาง แผงข้างและเบาะหนัง พวงมาลัยเป็นแบบมัลติฟังค์ชั่น ชุดควบคุมด้านซ้ายจะใช้สั่งการระบบเครื่องเสียง ส่วนด้านขวาเป็นปุ่มควบคุมระบบครุสคอนโทรลและใกล้กันจะมีปุ่มสำหรับตรวจเชคการใช้งานของรถ ทั้งระยะทาง พลังงานที่เหลือ เวลาในการขับขี่ แต่ที่แยกออกมาด้านใต้คือปุ่มควบคุมระบบ Flex Steer สามารถปรับความหนืดของพวงมาลัยตามสไตล์การขับขี่ได้ถึง 3 ระดับคือแบบ Normal, Sport, และ Comfortชุดแดชบอร์ดใช้เป็นแบบดิจิตอล Super Vision ทรงกลม แสดงค่าทั้งพลังงานไฟฟ้า มาตรวัดความเร็ว และยังรวบรวมการใช้งานต่างๆ มาอยู่ในรูปแบบของจอดิสเพลย์ OLED ขนาด 3.5 นิ้ว

ด้านบนของคอนโซลจะมีปุ่มไฟแอลอีดี 3 ดวง เอาไว้แสดงค่าในขณะที่ชาร์จไฟฟ้า ส่วนคอนโซลกลางติดตั้งหน้าจอทัชสกรีนขนาด 8 นิ้ว นอกจากการใช้งานระบบเครื่องเสียง ยังรองรับ Android Auto, Apple Carplay ระบบปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติสั่งการด้วยการกดปุ่มและมีฮีทเตอร์ที่เบาะนั่งคู่หน้า

ใกล้กับคอนโซลเกียร์จะมีสวิตช์ควบคุมเบรกมือไฟฟ้า Parking Sensor และ Eco Mode ซึ่งคอยควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าและระบบปรับอากาศเพื่อให้ประหยัดในการใช้พลังงานไฟฟ้า

“Kia Soul EV” มาพร้อมกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาดด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้า แบตเตอร์รี่ ลิเทียม-ไอออน โพลิเมอร์(LIPB) ในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์เต็มรูปแบบ โดยใช้กำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ 3 เฟต แม่เหล็กถาวรควบคุมแรงบิดโดยตรงให้แรงดันไฟฟ้า 375 โวลท์ ให้กำลังแรงม้าได้ถึง 81.4 กิโลวัตต์ หรือ 110 แรงม้าที่ 2,730-8,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 285 นิวตันเมตร ที่ 2,730 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติที่มีโหมด B ซึ่งมีคุณสมบัติในการใช้งานขึ้นลงทางลาดชัน และช่วยในการรีชาร์จกำลังไฟกลับไปยังแบตเตอรี่ได้อีกด้วย โดยสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 145 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถทำระยะทางได้ 250 กิโลเมตต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

สำหรับการชาร์จแบบปกติโดยชุดอัดประจุแบบ 2.2 กิโลวัตต์ที่มาพร้อมกับตัวรถจะใช้เวลา 20 ชั่วโมง ส่วนชุดชาร์จปกติแบบ 6.6 กิโลวัตต์(Wall Chart)ใช้เวลาในการอัดประจุไฟฟ้า 5.40 ชั่วโมง และแบบชาร์จเร็วหรือควิกชาร์จซึ่งเป็นไปในรูปแบบสถานีบริการอัดประจุจะใช้เวลาเพียง 33 นาที ซึ่งได้กำลังไฟฟ้ากลับมา 80 % (ตัวเลขนี้เคลมมาจากโรงงานผู้ผลิต)

Kia Soul EV ใช้ระบบรองรับด้านหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สันสตรัท และด้านหลังเป็นแบบทอร์ชั่นบีม ส่วนความปลอดภัยติดตั้งถุงลมนิรภัย 6 จุด ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และม่านนิรภัย มีระบบเบรก และตัวช่วยการขับขี่อย่าง ESC รวมถึงเซ็นเซอร์ในการถอยจอดที่ทำงานร่วมกับกล้องมองหลัง

เมื่อทำความเข้าใจกับตัวรถเป็นที่เรียบร้อย ภารกิจแหวกแนวได้เริ่มต้นขึ้น เส้นทางที่ใช้สำหรับการทดสอบในครั้งนี้จาก ลาดกระบัง ไปยังชายหาดบางแสน และกลับมาจบการทดสอบที่ ลาดกระบังเช่นเดิม เหตุผลในการเลือกเส้นทางนี้เกิดขึ้นหลังจากชาร์จไฟเต็มและมาตรวัดแสดงระยะทางเพียง 200 กม. ตัวแปรนี้น่าสนใจ หากพลังไฟฟ้าหมด จะไม่สามารถใช้งานรถคันนี้ต่อได้ และชุดอัดประจุที่มีมาจะเป็นการชาร์จแบบธรรมดา ซึ่งต้องใช้เวลาในการชาร์จนานถึง 20 ชั่วโมงกว่าพลังงานจะกลับมาเต็ม 100 % ดั่งเดิม การวางแผนเส้นทางจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ภารกิจนี้ เพราะฉะนั้นโจทย์ในการทดสอบครั้งนี้จะใช้พลังงานเต็มเพียงอย่างเดียว และไม่มีการเติมกำลังไฟฟ้าแต่อย่างใด ถ้าพลังงานไฟฟ้าหมดตรงไหน มีหวังเรียกรถยกกลับมาส่งที่ต้นทางเท่านั้น

สมรรถนะของการขับขี่ถือว่าใช้ได้ อัตราเร่งทำได้ดีไม่ต้องรอรอบเพราะมอเตอร์ไฟฟ้าจะถ่ายเทแรงบิดโดยตรงมายังล้อ ซึ่งความเร็วที่ทำได้ในครั้งนี้ทะลุค่าโรงงานกำหนดไว้ ซึ่งสามารถทำได้กว่า 150 กม./ชม. อีกเรื่องที่น่าสนใจคือด้านการผลิต เนื่องจากรถทรงกล่องจะมีการต้านลมมากกว่ารถประเภทอื่น เสียงลมที่เข้ามาปะทะกับตัวรถจะเริ่มมีเล็ดลอดเข้ามาให้ได้ยินก็ต่อเมื่อความเร็วเกิน 130 กม./ชม. ส่วนในด้านการยึดเกาะแม้ว่าใช้ความเร็วสูงแต่ก็ยังมั่นใจได้ ซึ่งทั้งหมดของการทดลองสมรรถนะถือว่าเป็นที่น่าพอใจ

ผมใช้เวลาเดินทางจากลาดกระบังไปยังหาดบางแสนประมาณ 90 นาที ในขณะนั้นมาตรวัดพลังไฟฟ้าอยู่ที่ 49 % และตัวเลขระยะทางอยู่ที่ 95 กม. การเดินทางกลับจะมีลุ้นเพราะตัวแปรในเรื่องของการจราจรเป็นสิ่งที่อาจทำให้การทดสอบในครั้งนี้ต้องมีเหตุติดขัดและอาจกลับไม่ถึง แต่ในเมื่ออยากรู้ว่ารถคันนี้ตอบโจทย์และมีค่าการใช้งานตามที่บริษัทผู้ผลิตได้เคลมไว้หรือไม่ ตรงนี้ต้องพิสูจน์

ขากลับอุปสรรคเริ่มมากขึ้นทั้งฝนกระหน่ำและการจราจรติดขัด มาตรวัดพลังงานไฟฟ้าไม่มีการแสดงผลตั้งแต่ยังไม่ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทางที่ทำได้ในขณะนั้นอยู่ที่ 170 กม. แต่ยังเหลืออีกกว่า 10 กม. ผมเริ่มนำรถเข้าเลนซ้ายเผื่อไว้ในกรณีที่รถดับจะได้ไม่ทำให้การจราจรติดขัดและปล่อยให้ทั้งหมดเป็นไปตามยถากรรม เกือบ 1 ชม.จากทางเข้าสนามบินสุวรรณซึ่งเป็นจุดการจราจรติดขัดก็มาถึงยังบริษัท ยนตรกิจ เกีย มอเตอร์ จำกัด บริเวณถนนลาดกระบัง มอเตอร์ไฟฟ้าก็ยังไม่ดับ และการทำงานของรถคันนี้ก็ยังดำเนินต่อไปได้ แต่ระยะทางที่แสดงบนแดชบอร์ดนั้นอยู่ที่ 182 กม.เท่านั้น

ภารกิจนอกเมืองของการทดสอบรถไฟฟ้าคันนี้สำเร็จลุล่วงแต่ก็มีลุ้นพอสมควรครับ ระยะทางที่ทำได้นั้นไม่ถึง 200 กม. ซึ่งเป็นผลมาจากการจราจรและรูปแบบการขับขี่ที่ใช้งานจริงโดยไม่มีการใช้งานโหมด ECO เลยแม้แต่นิด การใช้งานในเมืองอาจจะเหมาะสมกับรถไฟฟ้าคันนี้มากว่านอกเมือง แต่ก็ใช้ว่าจะใช้ไม่ได้เพราะถ้าวางแผนเส้นทางที่ดี และเหมาะสม รวมถึงถ้าประเด็นการพัฒนาและขยายสถานีบริการอัดประจุที่กระจายตัวทั่วประเทศเมื่อไหร่ การใช้งานรถไฟฟ้าน่าจะสำเร็จและไม่มีตัวแปรใดใด เนื่องจากรูปแบบของควิกชาร์จนั้นจะใช้เวลาน้อยนิดเพียง 30 นาทีเศษ

หากเทียบค่าใช้จ่ายสำหรับการชาร์จไฟ 1 ครั้ง (ชุดชาร์จปกติ หรือ Wall Chart แบบ 6.6 กิโลวัตต์) ใช้เวลาในการอัดประจุไฟฟ้า 5.40 ชั่วโมง จะเป็นเงินอยู่ที่ไม่เกิน 170 บาท หรือเท่ากับไม่เกิน 50 สต./กม. (ค่า FT ณ ปัจจุบัน) ซึ่งเมื่อเทียบกับพลังงานเชื้อเพลิงในรูปแบบน้ำมันก็จะเห็นว่าถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด

บทสรุปของการทดสอบ Kia Soul EV นั้นบอกได้ว่า รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ทำระยะทางต่อการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง อยู่ที่ไม่เกิน 200 กม. เพราะฉะนั้นหากใช้งานเพื่อเดินทางไกลอาจจะยังไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่ ถึงแม้ว่าวางแผนเส้นทางมาแล้วก็ตาม แต่ถ้าใช้งานในเมืองนั้นมีความคุ้มค่าแน่นอน และเมื่อไหร่ที่สถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะที่ภาครัฐกำลังเดินหน้าอย่างเต็มตัวแล้วเสร็จ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็จะตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น ถ้ามองถึงความคุ้มค่าในด้านของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเติมพลังงานนั้นยังคงให้ความคุ้มค่ากว่าน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากเทียบเป็นราคาไฟฟ้าต่อการใช้งาน 1 กม. ยังถูกกว่าค่าใช้จ่ายในการเติมเชื้อเพลิงน้ำมันอยู่เกือบเท่าตัว ด้วยเหตุนี้ทำให้การใช้งานระยะยาวยังมีส่วนต่างของค่าใช้จ่ายที่นำไปใช้ในการบำรุงรักษารถยนต์พลังงานไฟฟ้าตามที่ผู้ผลิตได้กำหนดไว้นั่นเอง

ข้อมูลทางเทคนิค: KIA SOUL EV

ชนิดของมอเตอร์: มอเตอร์ไฟฟ้า กระแสสลับ 3 เฟต แม่เหล็กถาวรควบคุมแรงบิดโดยตรง

แรงดันไฟฟ้าของมอเตอร์ (โวลท์):  375

กำลังสูงสุด (แรงม้า ที่ รอบ/นาที): 110 / 2,730-8,000

แรงบิดสูงสุด (นิวตัน-เมตร ที่รอบ/นาที): 285 /0-2,730

ระบบส่งกำลัง: อัตโนมัติ

ระบบขับเคลื่อน: 2 ล้อหน้า

ความเร็วสูงสุด (กม./ชม.): 145 กม

ระบบกันสะเทือน(หน้า/หลัง): แบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัท/ทอร์ชั่นบีม

ระบบเบรก(หน้า/หลัง): ดิสก์เบรก พร้อมระบบ เอบีเอส

ยาว/กว้าง/สูง(มม.): 4,140×1,800x/1,593

ราคาจำหน่าย(บาท): 2,297,000

ตัวแทนจำหน่าย: บริษัท ยนตรกิจ เกีย มอเตอร์ จำกัด

RELATED ARTICLES

Most Popular