Mitsubishi Outlander PHEV รถเอนกประสงค์ระบบปลั๊กอินไฮบริดแบบไม่ง้อสายชาร์จ ทำระยะทางได้กว่า 50 กม. โดยไม่ใช้เชื้อเพลิง และยังเป็นต้นทางของพลังงานซึ่งกระจายไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน มีระบบขับเคลื่อนแบบ AWD และมีตัวช่วยการขับขี่เต็มรูปแบบ ราคาจำหน่าย 1.64 ล้านบาท ในรุ่น GT และ 1.749 ล้านบาท ในรุ่น GT Premium จะเป็นราคาที่สมเหตุสมผลหรือไม่ และรายละเอียดแบบเจาะลึกจะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากรายงาน
Mitsubishi Outlander PHEV ถือว่าเป็นรถเอสยูวีระบบปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรกของ มิตซูบิชิ ที่ได้นำเทคโนโลยีแบบจัดเต็ม ซึ่งให้ความคุ้มค่าจนได้กระแสตอบรับด้วยยอดจำหน่ายกว่า 240,000 คันทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย นอกจากเปิดตัวพร้อมจำหน่าย ยังได้มีการลงทุนด้วยเม็ดเงินกว่า 300 ล้านบาท เพื่อเป็นโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ของโลก ต่อจากประเทศญี่ปุ่น
รถเอนกประสงค์รุ่นแรกของมิตซูบิชิ มากับขนาดมิติความยาว ยาว 4,695 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตรและสูง 1,710 มิลลิเมตร ในขณะที่ระยะฐานล้อยาว 2,670 มิลลิเมตร ส่วน Ground Clearance อยู่ที่ 190 มิลลิเมตร
รูปลักษณ์ยังคงสไตล์ Dynamic Sheild ใช้สีดำ Piano Black มาสร้างความสปอร์ตให้กับกระจัง ตัดด้วยเส้นโครเมียมให้อารมณ์ทั้งหรูหรา และดุดันได้อย่างลงตัว ไฟหน้าเป็นแบบโปรเจคเตอร์เลนส์แอลอีดี และยังรวมไฟกลางวันไว้ในโคมเดียวกัน รวมถึงไฟตัดหมอกทรงกลมที่มุมกันชนก็ใช้แบบแอลอีดีด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ได้ติดตั้งระบบเปิด/ปิดไฟหน้าอัตโนมัติมาให้เสร็จสรรพ พร้อมระบบฉีดน้ำล้างไฟหน้า Headlamp Washe
ด้านบนมีแรคหลังคา กระจกมองข้างมีระบบไฟส่องสว่าง Welcome Light ระบบไฟนำทางหลังดับเครื่องยนต์ Coming Home Light ส่วนล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว หุ้มยาง 225/55 R18 จาก Dunlop
ด้านท้ายโดดเด่นด้วยไฟท้ายแบบแอลอีดี ฝาท้ายสามารถเปิดปิดได้ด้วยระบบไฟฟ้าหลากรูปแบบพร้อมติดตั้งระบบ Jam Protection ป้องกันการหนีบ แต่ยังไม่ได้รับการติดตั้งระบบ Kick Sensor
ภายในกว้างขวาง สำหรับรุ่นที่จำหน่ายในต่างประเทศ มีทั้งแบบ 5 และ 7 ที่นั่ง แต่ในเมืองไทย เลือกจะทำตลาดเป็นรถเอนกประสงค์ในกลุ่ม 5 ที่นั่ง เบาะนั่งและแผงข้างหุ้มด้วยหนังแท้ ห้องโดยสารมีระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวซึ่งจะส่งเสียงเตือนหลังจากที่ล๊อครถ
พวงมาลัยมัลติฟังค์ชั่นใช้สั่งการฟีเจอร์ต่างๆของระบบ Advance Safety ซึ่งประกอบไปด้วยระบบเตือนการชนด้านหน้าตรง พร้อมระบบช่วยชะลอความเร็ว FCM,ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะ เมื่อเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรง UMS,ระบบสัญญาณเตือนจุดอับสายตา BSM,ระบบเตือนขณะเปลี่ยนเลนระยะไกล LCA – Lane Change Assist,ระบบเตือนเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลัง RCTA – Rear Cross Traffic Alert, ระบบล็อกความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (Adaptive Cruise Control – ACC)
ทั้งนี้ยังมีแป้นแพดเดิลชิฟท์ ที่ไม่ใช้สำหรับการเปลี่ยนอัตราทด แต่เป็นระดับของการหน่วงความเร็ว ในกรณีที่ต้องการนำพลังงานจากแรงเฉื่อย แรกลับไปเป็นพลังงานในแบตเตอรี่ ซึ่งเลือกได้ถึง 5 ระดับ
มาตรวัดเป็นแบบทรงกลม 2 ช่อง ด้านซ้ายจะบอกสถานะการใช้งานระหว่างระบบไฮบริด และ เครื่องยนต์ ส่วนช่องขวาเป็นเข็มวัดความเร็ว และตรงกลางจะมีจอสดงข้อมูลการขับขี่แบบ MID
คอนโซลกลางติดตั้งหน้าจอทัชสกรีนขนาด 8 นิ้ว ที่มีฟังค์ชั่นการใช้งานเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ทั้งระบบ Android Auto และ Apple Carplay รวมถึงยังแสดงการทำงานจากกล้องมองภาพรอบคัน Multi Around View Monitor ระบบปรับอากาศเป็นแบบ Dual Zone มาพร้อมช่องระบายความเย็นสำหรับผู้โดยสารแถว 2
ถัดลงมามีปุ่มควบคุมการทำงานของหลายฟีเจอร์ทั้งปุ่มการขับขี่โหมด Eco ,สวิตช์ไฟ AC 1500 Watt,ระบบเตือนการชนรอบคัน และสวิตช์เปิดฝาท้ายจากภายในรถ
คันเกียร์เป็นแบบจอยสติ๊ก แยกเกียร์ P ออกมาเฉพาะ มีโหมด EV และ สวิตช์ชาร์จไฟกลับไปยังแบตเตอรี่ รวมถึงโหมดการขับขี่ในระบบ Super All Whell Control (S-AWC) มีด้วยกัน 3 รูปแบบ ได้แก่
โหมดอีวี (ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ)
โหมดซีรีย์ ไฮบริด (ขับเคลื่อนหลักด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยมีเครื่องยนต์ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่มอเตอร์ไฟฟ้าคู่)
โหมดพาราเรล ไฮบริด (เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าทำหน้าที่ขับเคลื่อนตัวรถไปพร้อมกัน)
จุดเด่นของรถคันนี้คือขุมพลังที่มาจากเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ MIVEC ขนาด 2,359 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 128 แรงม้า ที่ 4,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 199 นิวตันเมตร ที่ 4,500 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า AC Synchronous Permanent Magnetic Motor 2 ตัว ด้านหน้า กำลังสูงสุด 82 แรงม้า 137 นิวตันเมตร และ ด้านหลังกำลังสูงสุด 95 แรงม้า 195 นิวตันเมตร
ส่งผลให้มีพละกำลังรวม 305 แรงม้า แบตเตอรี่ Lithium-ion 300 volts ความจุ 13.8 kWh สามารถชาร์จไฟฟ้า AC 3.7 kW 230V 16A 0-100% ใช้เวลา 3 ชั่วโมง 30 นาที และแบบ CHAdeMO Fast Charge 0-80% ใช้เวลา 25 นาที ทำระยะทางไกลสุดด้วยไฟฟ้าล้วน 55 กิโลเมตร ซึ่งเป็นตัวเลขจากอีโค่สติ๊กเกอร์
ระบบรองรับเป็นแบบอิสระทั้ง 4 ล้อ ด้านหน้าเป็นแมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังเป็นมัลติลิงค์ นอกจากนี้ยังมีระะบบช่วยเหลือด้านการขับขี่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ระบบควบคุมการขับเคลื่อนและการเบรกระหว่างล้อซ้ายและล้อขวา ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าคู่ที่ติดตั้งที่เพลาหน้า-หลัง ควบคุมแบบอิสระทั้ง 4 ล้อ
ก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวของการทดลองขับ Mitsubishi Outlander PHEV มีอีกคุณสมบัติเด่นนั่นคือเป็นต้นทางของการส่งกระแสไฟจากรถ ไปยังเครื่องใช้ในครัวเรือน โดยใช้กำลังไฟ 1500 watt ส่งไปยังปลั๊กขนาด 220 Volt เพื่อใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าได้หลากชนิด ซึ่งในครั้งนี้ ได้ลองนำกระทะไฟฟ้ามาประกอบอาหารเช้า ใช้เวลาในการทดลองอยู่ร่วม 30 นาที แต่กระแสไฟที่ถูกปล่อยออกมาจากแบตเตอรี่นั้นหายไปเพียง 10%
อิ่มหนำจากอาหารเช้าที่นำไฟจากแบตเตอรี่ขนาด 13.8 KWh เป็นต้นกำเนิด เข้าสู่ช่วงทดสอบ โดยจุดหมายแรกอยู่ห่างไปประมาณ 50 กม. ในช่วงนี้จะใช้พลังขับเคลื่อนจากมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งตัวเลขแสดงระยะทางที่ใช้ได้อยู่ที่ 34 กม. แต่ทั้งนี้ พฤติกรรมการขับขี่เป็นตัวแปรที่สำคัญ และตัวเลขที่ทำออกมาจาก 34 กม. แต่การใช้งานจริงกลับได้ระยะทาง 48 กม. ซึ่งพลังงานจากแบตเตอรี่นั้นมาหมดก่อนถึงจุดเช็คอินที่ 2 เพียง 1 กม. เท่านั้น
ระยะทางที่เหลือในการทดสอบอีกประมาณ 150 กม. โดยใช้เส้นทางรอบกรุงเทพเป็นบนพิสูจน์ สมรรถนะของขุมพลังที่เกิดจากเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า เมื่อรวมกันได้ 305 แรงม้า พร้อมแรงบิดทะลุ 500 นิวตันเมตร นั้นอาจจะไม่รวดเร็วตามตัวเลขสักเท่าไหร่ แต่ก้ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน แต่หากอย่างใช้ความเร็ว โหมด Sport เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ต่อการใช้ความเร็วได้พอสมควร แต่เมื่อถอนคันเร่ง ระบบหน่วงที่คอยนำแรงเฉื่อยกลับไปเป้นพลังงานสะสมในแบตเตอรี่นั้นมีอาการดึงแบบชัดเจน ซึ่งระบบหน่วงนี้ควบคุมได้จากแป้นแพดเดิลชิฟท์บริเวณพวงมาลัย ซึ่งสามารถปรับได้ถึง 5 ระดับ
น้ำหนักพวงมาลัยออกแบบมาได้ดี ไม่หนักหรือเบาจนเกินไป และควบคุมทิศทางได้ค่อนข้างแม่นยำ ระบบช่วงล่างออกแบบให้มีความนุ่ม แต่ในเมื่อระบบขับเคลื่อนเป็นแบบ All Whell Drive ทำให้การยึดเกาะถนนมั่นใจได้
ในโหมดการชาร์จไฟ ผู้ขับขี่สามารถใช้งานจากสวิตช์ Save Charge ที่อยู่บริเวณคอนโซลเกียร์ โดยหากแบตเตอรี่หมดกำลัง จะใช้เวลาชาร์จกลับประมาณ 50 นาที และอาจเร็วกว่านั้นในกรณีที่รถติด เนื่องจากเครื่องยนต์ถุกสั่งการให้เป็นเครื่องปั่นไฟเพื่อนำส่งไปยังแบตเตอรี่นั่นเอง
ระบบตัวช่วยความปลอดภัยอย่าง Advance Safety มีมาครบ แต่ในครั้งนี้ไม่ได้ลอง เนื่องจากเคยสัมผัสกับเทคโนโลยีนี้ทั้งใน Triton และ Pajero Sport
สุดท้ายยังมีการทดสอบระบบ Super All Wheel Control (S-AWC) ด้วยสภาพเส้นทางที่เป็นกรวด ซึ่งเป็นพื้นผิวที่ให้การยึดเกาะที่ควบคุมได้ยาก ในโหมดนี้จะมีให้เลือก 3 รูปแบบทั้ง Normal, Snow, และ Rock ซึ่งจะมีตัวช่วยในการถ่ายเทแรงบิดไปยังล้อต่างๆเพื่อให้การยึดเกาะที่มากขึ้น ทำให้ควบคุมรถได้ง่าย และมั่นใจยิ่งขึ้น
บทสรุปของการทดสอบ Mitsubishi Outlander PHEV มีเรื่องดีไม่น้อยสำหรับรถคันนี้ ทั้งเป็นเสมือนรถพลังงานเคลื่อนที่เพื่อให้เป็นต้นกำเนิดพลังไฟฟ้าสำหรับครัวเรือน และยังเป็นเอสยูวีปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรกที่ไม่ต้องง้อปลั๊กไฟในการชาร์จ ถ้าใช้งานในรูปแบบ EV สามารถทำระยะทางได้เกิน 50 กม. ตามอีโค่สติ๊กเกอร์ ระบบขับเคลื่อนแบบ Super All Wheel Control (S-AWC) จะช่วยให้การยึดเกาะถนนทำได้อย่างปลอดภทำได้อย่างปลอดภัยแม้ช่ววล่างจะนุ่มนวลไปสักนิด รวมถึงสมรรถนะของเครื่องยนต์ที่รวมกันได้ถึง 305 แรงม้า พร้อมแรงบิดทะลุ 500 นิวตันเมตร เมื่อได้ทดลองจริง อาจจะช้าไปสักหน้อย แต่ก็สามารถปรับเป็นโหมด Sport เพื่อสนองต่อการใช้ความเร็วได้ดีขึ้น
ราคาค่าตัวที่ 1,749 ล้านบาทสำหรับรุ่น GT Premium อาจสูงไปสักนิด แต่ต้องดูระยะยาวถึงความคุ้มค่าในด้านอัตราสิ้นเปลือง รวมถึงการบำรุงรักษา และในรุ่น GT ตั้งราคาไว้ที่ 1.64 ล้านบาท ซึ่งต่างจากรุ่นท๊อพประมาณแสนเศษๆ แต่ก็ถูกตัดฟีเจอร์บางส่วนของระบบ Advance Safety ก็ยังถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าจับตา จริงๆแล้ว รถรุ่นนี้ ถ้านำเข้ามาในช่วงที่เป็นกระแสแรง น่าจะเห็นวิ่งกันเกลื่อนถนน แต่พอมาในวันที่คู่แข่งในตลาดมีพอประมาณ อาจจะเหนื่อยไปสักนิดสำหรับเรื่องยอดจำหน่าย