Friday, November 22, 2024
HomeAuto Testทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง สัมผัสแรกในสนามแข่งพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทย (ภาพ+คลิปวีดีโอ)

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง สัมผัสแรกในสนามแข่งพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทย (ภาพ+คลิปวีดีโอ)

ฟอร์ด มัสแตง มัสเซิลคาร์ในตำนานกว่า 50 ปี พร้อมโชว์ตัวและจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยด้วยกันถึง 2 รุ่น ทั้งรุ่น 5.0L V8 GT และ รุ่น 2.3L EcoBoost การมาในครั้งนี้ “Autoworldthailand” ได้จัดรายละเอียดและบททดสอบเพื่อให้ทุกท่านได้รับชม

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 01

ฟอร์ด มัสแตง เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย โดย ฟอร์ด ประเทศไทย ได้นำเข้ามาจำหน่ายถึงสองรุ่น ทั้ง รุ่น 5.0L V8 GT Coupe Performance Pack และ รุ่น 2.3L EcoBoost Coupe Performance Pack ตามแบบฉบับของรถ Fast Back ที่มีดีไซน์ปราดเปรียว เครื่องยนต์ทรงพลังและระบบกันสะเทือนที่เหนือชั้น โดยได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อช่วยในการขับขี่ รวมถึงออปชั่นเสริมความดุให้กับม้าป่าโมเดล 2018 มากมาย ก่อนที่จะเข้าถึงรีวิวและบททดสอบ มาดูประวัติคร่าวๆของมัสเซิล คาร์ คันนี้กันก่อนดีกว่าครับ

รู้หรือไม่ว่า “มัสแตง” มีที่มาจากเครื่องบินรบ???

หลายคนที่ติดตามข่าวสารหรือแฟนพันธุ์แท้รุ่นลายครามได้ให้สมญานามของ ฟอร์ด มัสแตง ว่า “ม้าป่า” ตามโลโก้บริเวณหน้ากระจัง ซึ่งก็เป็นหนึ่งเหตุผลที่เหมาะสม แต่แท้จริงแล้วที่มาของ ฟอร์ด มัสแตง มาจากเครื่องบินรบรุ่น P-51 Mustang ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่และทิ้งระเบิดพิสัยไกลหนึ่งที่นั่งสัญชาติอเมริกาที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเกาหลี และสงครามอื่นๆ โดยได้รับการโจษจันด้านแสนยานุภาพในการทำลายเครื่องบินฝั่งตรงข้ามได้อย่างมากมาย

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 02

ความเป็นมากว่า 50 ปี ของ ฟอร์ด มัสแตง

ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้นี้เป็นต้นทางของการผลิต ฟอร์ด มัสแตง โมเดลแรก ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 1962 จากรถต้นแบบรุ่น T-5 project เรียกกันว่า Ford Mustang I ก่อนจะเป็นโปรดักส์ชั่นคาร์ในอีกสองปีถัดมา โดยใช้เครื่องยนต์ 6 สูบแถวเรียงขนาด 2.8 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 101 แรงม้า พร้อมเกียร์ธรรมดา 3 สปีด

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 03

จากนั้นเจนเนอเรชั่นที่ 2 ก็ตามมาในปี 1973 และในปี 1975 ได้มีการติดตั้งเครื่องยนต์บิ๊กบล๊อคขนาด 5.0 ลิตร V8 เพื่อเป็นทางเลือกให้นักขับเท้าหนัก พร้อมเผยโฉมรุ่น King Cobra ในปี 1978 ที่มากับเครื่องยนต์ขนาด 2.3, 2.8 และ 5.0 ลิตร สำหรับรูปทรงในโฉมนี้ มีให้เลือกทั้งแบบ Coupe และ Hatchback

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 04

ในปี 1979 เกิดการเปลี่ยนแปลงในเจนเนอเรชั่นที่ 3 ขึ้นอีกครั้ง กับการเพิ่มเติมเบาะนั่งจาก 2 เป็น 4 ที่นั่ง มีตัวถังให้เลือกทั้งแบบ Coupe, Hatchback และ Convertible ซึ่งในปี 1982 ถือเป็นการแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการของรุ่น GT มาแทนที่ Cobra และกลับมาใช้เครื่องยนต์ขนาด 5.0 ลิตรอีกครั้ง

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 05

ต่อมาในปี 1994 ฟอร์ด มัสแตง เจนเนอเรชั่นที่ 4 ได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมลดขนาดเครื่องยนต์บิ๊กบลอค แบบ 8 สูบ จากขนาด 5.0 ลิตร ให้เหลือเพียง 4.6 ลิตร แต่มีกำลังสูงถึง 215 แรงม้า และพัฒนาต่อในปี 1998 ให้มีแรงม้าสูงถึง 225 แรงม้า และขยับขึ้นเป็น 260 แรงม้าในปี 1999

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 06

มาถึงเจนเนอเรชั่นที่ 5 ด้วยการเผยโฉมในปี 2005 ฟอร์ด มัสแตงได้กลับไปใช้ตัวถังแบบ Fast Back และโมดิฟายเครื่องยนต์ขนาด 4.6 ลิตร V8 ให้มีกำลังสูงถึง 300 แรงม้า ส่วนรุ่น GT กลับมาใช้เครื่องยนต์ 5.0 ลิตรอีกครั้ง โดยมากับพละกำลัง 412 แรงม้า พร้อมเผยโฉมรุ่นใหญ่อย่าง Shelby GT500 ที่ใช้เครื่องยนต์ 5.4 ลิตร supercharged V8 ให้กำลังสูงถึง 550 แรงม้า

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 07

สำหรับเจนเนอเรชั่นที่ 6 หรือโฉมปัจจุบัน ฟอร์ดได้ทำการเปิดตัวครั้งแรกไปเมื่อปี 2013 มากับเสปคเครื่องยนต์ที่มีให้เลือกถึง 3 แบบได้แก่ขนาด 2.3 ลิตร EcoBoost 4 สูบให้กำลัง 310 แรงม้า ขนาด 3.7 ลิตร V6 ให้กำลัง300 แรงม้า และ 5.0 ลิตร V8 435 แรงม้า

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 08

ความเป็นมากว่า 50 ปีของมัสเซิล คาร์ จากค่ายรถอเมริกันรุ่นนี้ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา ทั้งยังมีลูกค้าทั่วโลกที่สนใจและครอบครอง ฟอร์ด มัสแตง ทุกเจนเนอเรชั่นสูงถึง 10 ล้านคัน นับเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงดีกรีความแรงและยังเป็นกระแสที่ทั่วโลกต่างให้การยอมรับ

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 44

ถึงเวลาที่แฟนๆชาวไทยจะได้จับจองเป็นเจ้าของกับ ฟอร์ด มัสแตง ม้าป่าอเมริกันสายพันธุ์แรงในรุ่นปี 2018 ซึ่ง ฟอร์ด ประเทศไทย ได้นำเข้ามาจำหน่าย โดยมีการปรับปรุงรูปโฉมให้มีความทันสมัยและเติมเต็มเทคโนโลยีอัจฉริยะมากมาย มาดูกันว่า ฟอร์ด มัสแตง โมเดล 2018 ทั้งรุ่น 5.0L V8 GT และ 2.3L EcoBoost มีอะไรที่โดนใจกลุ่มเป้าหมายในเมืองไทย

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 09

ว่ากันด้วยเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก ยังคงเป็นไปในรูปแบบของรถ Fast Back ที่ปราดเปรียวและโฉบเฉี่ยว คงเอกลักษณ์ซึ่งเป็นที่จดจำตลอด 50 ปีที่ผ่านมาไว้อย่างครบถ้วน วิศวกรของฟอร์ดยังปรับลดความสูงของช่วงหน้าและเพิ่มขนาดของสปลิตเตอร์หรือลิ้นหน้าเพื่อเพิ่มแรงกดอากาศ แผงกันชนด้านหลังล้อหน้ายังช่วยให้อากาศไหลผ่านใต้ตัวรถได้ดียิ่งขึ้นและช่วยลดแรงต้านได้มากถึง 3 เปอร์เซ็นต์

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 10

ในขณะที่ไฟหน้าเดย์ไลท์ ไฟเลี้ยวและไฟท้าย 3 แถวอันเป็นเอกลักษณ์ จะมาพร้อมเทคโนโลยีไฟ LED กรอบไฟหน้าได้รับการออกแบบใหม่เพื่อสอดรับกับทรงสี่เหลี่ยมคางหมูของหน้ากระจังชิ้นบน

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 11

กันชนหลังและดิฟฟิวเซอร์แบบใหม่ช่วยเพิ่มความโฉบเฉี่ยวให้กับด้านท้ายของฟอร์ด มัสแตง ในขณะที่ท่อไอเสีย 4 ท่อพร้อมรองรับความแรงของเครื่องยนต์ V8 ขนาด 5.0 ลิตร และมีสปอยเลอร์เป็นมาตรฐานในรุ่น GT

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 12

ฟอร์ด มัสแตง ทั้ง 2 รุ่นมาพร้อมชุดแต่ง Performance Pack ที่ให้เฟืองท้ายแบบ Limited-Slip ส่งผลให้การขับขี่ในโค้งทำได้สนุกสนาน และเสริมความดุด้วยล้ออัลลอยสีดำขนาด 19 นิ้ว

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 13

สำหรับรุ่น 5.0L V8 GT จะได้รับการติดตั้งระบบเบรค Brembo ด้านหน้าเป็นแบบ 6 พอต ส่วนด้านหลังเป็นแบบ 1 พอต ส่วนในรุ่น 2.3 EcoBoost นั้นใช้ระบบเบรกหน้าแบบ 4 พอต ส่วนด้านหลังเป็นแบบ 1 พอต เช่นเดียวกัน

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 14

ฟอร์ด มัสแตง ที่จำหน่ายในประเทศไทย มีให้เลือกทั้งหมด 4 สี คือ สีส้ม ออเรนจ์ ฟิวรี่ เมทัลลิค ไตร-โค้ท (Orange Fury Metallic Tri-Coat) สีดำชาโดว์ แบล็ค เมทัลลิค (Shadow Black Metallic) สีแดง เรซ เรด (Race Red) และ สีเทา แมคเนติค เมทัลลิค (Magnetic Metallic)

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 15

ภายในห้องโดยสารได้รับการออกแบบให้มีความหรูหราสะดวกสบายกว่าเดิม ด้วยวัสดุตกแต่งผิวสัมผัสนุ่มตลอดแนวประตู พร้อมมือจับประตูอลูมิเนียม

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 16

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 17

เมื่อปลดล็อคประตู ปุ่มสตาร์ทรถจะกระพริบไฟสีแดงทันทีจนกว่าจะสตาร์ทรถ โดยจะกระพริบด้วยความเร็ว 30 ครั้งต่อนาที เท่ากับอัตราการเต้นของหัวใจของม้าป่า

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 18

เบาะนั่งของ ฟอร์ด มัสแตงเป็นแบบ 2+2 ที่นั่ง ซึ่งจะว่าไปแล้วเบาะนั่งด้านหลังอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องเอาไว้บรรทุกผู้โดยสาร เพราะรถสปอร์ตรูปแบบนี้ มีเพียงคนขับกับคนนั่งข้างแลดูจะเท่กว่าเยอะ

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 18

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ตรงกลางมีโลโก้ม้าป่าขนาดใหญ่ มาพร้อมสวิทช์ควบคุมระบบต่างๆแบบมัลติฟังค์ชั่น รวมถึงติดตั้งระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์แบบแพดเดิลชิฟท์ และยังสามารถปรับน้ำหนักพวงมาลัยได้ด้วยระบบ Selectable Steering Mode

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 20

แผงหน้าปัดแสดงผลเป็นแบบดิจิตอล LCD ขนาด 12 นิ้ว แสดงภาพกราฟฟิกของข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวรถทั้งมาตรวัดความเร็ว รอบเครื่องยนต์ โดยสามารถปรับเซ็ทการแสดงผลได้ตามความชอบด้วยฟังค์ชั่น My Color

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 21

ทั้งยังมีการแสดงผลของระบบ TRACK APPS ซึ่งจะช่วยประมวลผลสมรรถนะของรถ และการขับขี่ เช่นการจับเวลา 0-100 กม./ชม., จับเวลารอบสนามแข่งโดยใช้ GPS, ระบบช่วยเบิร์นยาง Electronic Line Lock และมาตรวัดแรง G

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 22

เพิ่มเติมในส่วนของตัวช่วยเบริ์นยางหรือ Electronic Line Lock อีกสักนิด ระบบนี้ได้รับการติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องเหยียบคันเร่งและเบรกไปพร้อมกัน ระบบจะทำการล๊อคเบรกหน้าอัตโนมัติพร้อมปล่อยให้ล้อหลังหมุนฟรีโดยใช้เวลาประมาณ 15 วินาที เพื่อเป็นการเปิดหน้ายางและสร้างอุณหภูมิภายในยางให้พร้อมทำการแข่งขัน ทั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ผู้ขับขี่จะเห็นแอนนิเมชั่นแบบวิดีโอเกมส์ที่จะปรากฏบนหน้าจอเมื่อสั่งการให้ระบบทำงาน

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 23

นอกจากนี้แผงหน้าปัดยังรวมไปถึงการแสดงผลของระบบ Driving Modes ซึ่งเป็นการกำหนดรูปแบบการขับขี่ ประกอบด้วย

Normal Mode
เพิ่มความสมดุลระหว่างความสะดวกสบายและการตอบสนองที่รวดเร็ว

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 24

Snow/Wet
ฟังค์ชั่นนี้จะช่วยให้การควบคุมรถทำได้ง่ายยิ่งขึ้นเมื่อเจอสภาพพื้นผิวที่เปียกหรือแฉะ ระบบจะสั่งการให้คันเร่งตอบสนองช้าลงเพื่อป้องกันล้อหมุนฟรี

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 26

Sport +
ระบบจะช่วยให้การตอบสนองของคันเร่งและระบบบังคับเลี้ยวให้ไวขึ้นรวมถึงเปลี่ยนเกียร์ในรอบเครื่องยนต์ที่สูงขึ้น

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 27

Track
ออกแบบเพื่อให้ขับขี่ในสนามแข่ง รถจะตอบสนองผู้ขับได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สเถียรภาพการทรงตัว หรือ Traction Control จะถูกปิดการทำงาน รวมถึงคันเร่งจะตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 28

Drag Strip
ออกแบบเพื่อใช้ขับแข่งทางตรงหรือในรูปแบบของควอเตอร์ไมล์ การออกตัวจะทำได้เร็วกว่าปกติพร้อมลดช่วงเวลาของการเปลี่ยนเกียร์ แรงบิดของเครื่องยนต์จะปล่อยออกมาแบบต่อเนื่องและเพิ่มการยึดเกาะถนนให้ดียิ่งขึ้นขณะออกตัว

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 29

อีกหนึ่งระบบที่เป็นจุดเด่นของ ฟอร์ด มัสแตง คือเทคโนโลยีปรับระดับเสียงของชุดท่อไอเสีย Active Valve Exhaust System ซึ่งได้รับการติดตั้งในรุ่น 5.0 V8 GT เลือกใช้งานได้ถึง 4 โหมด ได้แก่ Quiet,Normal,Sport และดุดันแบบรถแข่งในสนามด้วยโหมด Track ความโดดเด่นของระบบนี้อยู่ที่โหมด Quiet ที่สามารถตั้งเวลาความเงียบในขณะที่สตาร์ทรถตอนเช้า แต่ถ้ามองต่างมุม ระบบนี้จะช่วยให้พ่อบ้านหนีเที่ยวตอนกลางคืนได้อย่างสบายอุรา

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 31

ฟอร์ด มัสแตง 2018 มาพร้อมระบบสื่อสารและความบันเทิงภายใน SYNC 3 สามารถเชื่อมต่อและควบคุมสมาร์ทโฟน ระบบเสียง ระบบนำทางและระบบปรับอากาศด้วยคำสั่งเสียงและการสัมผัสบนหน้าจอทัชสกรีนกลางขนาด 8 นิ้ว โดยระบบ SYNC 3 รองรับทั้ง Apple CarPlay และ Android Auto

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 31

รถเท่ก็ต้องคู่กับเครื่องเสียงไพเราะ ฟอร์ด มัสแตง ได้รับการติดตั้งพลังเสียงแบรนด์ Shaker Pro Audio System ขนาด 390 วัตต์ พร้อมลำโพง 12 ตำแหน่ง และยังมีซับวูฟเฟอร์และแอมพลิฟายเออร์เสร็จสรรพ

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 32

ด้านขุมกำลังเริ่มจากรุ่น 2.3 L EcoBoost ใช้เครื่องยนต์แบบ 4 สูบติดตั้งเทอร์โบ Twin-Scrolls ที่มีแรงเฉื่อยต่ำ พร้อมหัวฉีดแบบ Direc Injection และ ระบบวาล์วแปรผัน ขนาดความจุ 2.3 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 300 แรงม้าที่ 5,400 รอบ และแรงบิดสูงสุดที่ 440 นิวตันเมตร ประหยัดน้ำมันได้ถึง 10.8 กิโลเมตร/ลิตร

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 33

ในรุ่นใหญ่ 5.0 L V8 GT ใช้เครื่องยนต์ V8 ขนาด 5.0 ลิตร พัฒนาเพื่อมอบพลังที่มากกว่าและรอบเครื่องที่ตำแหน่ง red line สูงกว่าที่เคยมีมา ด้วยระบบหัวฉีดสองระบบ (Dual-Fuel) ผสานระบบไดเร็คอินเจคชั่นแรงดันสูง (High-Pressure Direct Injection) และระบบฉีดเชื้อเพลิงที่ท่อแบบแรงดันต่ำ (Low-Pressure Port Fuel Injection) ให้กำลังสูงสุดถึง 460 แรงม้าที่ 7,000 รอบ พร้อมแรงบิดสูงสุดที่ 556 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบ มีอัตราบริโภคเชื้อเพลิงเคลมจากโรงงานอยู่ที่ 7.8 กิโลเมตร/ลิตร ทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายในเวลาเพียง 4.3 วินาที โดยที่เครื่องยนต์ทั้ง 2 ขนาดจะรองรับเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอลล์ 95 เท่านั้น

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 33

ฟอร์ด มัสแตง ทั้ง 2 รุ่นส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ซึ่งมากับจุดเด่นด้านความอัจฉริยะในเรื่องของอัตราทดที่สมองกลควบคุมให้เหมาะสมกับการใช้งาน ทำให้การเปลี่ยนอัตราทดเป็นไปในแบบก้าวกระโดด(1,3,5) เมื่อกดคันเร่งอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการออกตัวที่ดีและตอบสนองไวโดยไม่ต้องรอรอบ ขณะเดียวกัน ในจังหวะคิกดาวน์จะมีการปรับลดแบบก้าวกระโดดเช่นกัน (10,8,6) ทำให้เครื่องยนต์มอบพลังและแรงบิดสูงสุดแม้ในตอนเปลี่ยนเกียร์ หรือจะเลือกขับสนุกในโหมดเกียร์ธรรมดาโดยใช้ระบบแพดเดิ้ลชิฟท์บริเวณหลังพวงมาลัย

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 34

วิศวกรของฟอร์ดได้ทำการพัฒนาสมรรถนะการขับขี่ของ ฟอร์ด มัสแตง ไปอีกขั้นเพื่อมอบประสบการณ์การขับขี่ที่เร้าใจที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยระบบช่วงล่างนั้นยังคงเป็นแบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง แต่เปลี่ยนจากปีกนกมาใช้ลูกหมากเป็นจุดยึด เพื่อป้องกันการดิ้นของช่วงล่างด้านหน้าในขณะที่เข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ส่วนด้านหลังเป็นแบบอินทิทัลลิงค์พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลงที่ให้ความอิสระมากกว่าเดิม อีกทั้งยังติดตั้งเฟืองท้ายแบบ Limited Slip ที่ช่วยส่งเสริมให้รถมีการยึดเกาะ

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 35

มาถึงเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อความปลอดภัยและสะดวกสบาย แน่นอนว่าฟอร์ดเป็นค่ายรถอันดับต้นๆที่พัฒนาระบบความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง พออยู่ใน มัสเคิล คาร์ระดับตำนาน ก็ไม่ลืมที่จะติดตั้งเทคโนโลยีเหล่านั้นเริ่มจาก ระบบเตือนการชน (Pre-Collision Assist) ที่ผสานระบบช่วยเบรกฉุกเฉิน อัตโนมัติพร้อมระบบตรวจจับคนเดินถนน (AEB) และระบบตรวจจับยานพาหนะ (Vehicle Detection) ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อลดความรุนแรง รวมถึงติดตั้งถุงลมนิรภัยถึง 8 จุด ซึ่งเพิ่มเติมมาในบริเวณลิ้นชักของผู้โดยสารตอนหน้าเพื่อปกป้องหัวเข่าให้เกิดความรุนแรงน้อยที่สุด รวมถึงระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) และระบบแจ้งเตือนระยะห่าง (Distance Alert)  นอกจากนี้ ยังอัดแน่นด้วยเทคโนโลยีช่วยในการขับขี่อีกมากมาย เช่น ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง และแจ้งเตือนเมื่อออกนอกช่องทาง ซึ่งทำการเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเส้นทางโดยไม่ตั้งใจ และช่วยหักพวงมาลัยเล็กน้อยเพื่อนำรถกลับเข้าสู่ช่องทาง (Lane Keeping System)

อีกหนึ่งกิจกรรมในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการนั่นคือการทดลองขับบนสนามแข่งพีระอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้ลองม้าป่าในตำนานทั้ง 2 รุ่น มาเข้าเรื่องกันอย่างจริงจังว่าเทคโนโลยีต่างๆที่กล่าวไว้ในข้างต้น จะเป็นตัวช่วยการขับขี่ได้อย่างไร

รูปแบบการขับขี่ที่ทีมผู้จัดงานได้จำลองสถานการณ์ต่างๆมาไว้ในสนามแข่งประกอบด้วย 4 สถานีหลักได้แก่

-สถานี Acceleration Test-ทดสอบอัตราเร่ง 0-100 กม.
-สถานี Slalom-ทดสอบสมรรถนะการควบคุมรถ
-สถานี Handling-การยึดเกาะถนนของระบบช่วงล่าง
-สถานี Lane Change-การควบคุมรถแบบกะทันหัน

รุ่นแรกที่ทำการทดสอบเป็น ฟอร์ด มัสแตง 2.3 EcoBoost หลังจากอินสตรัคเตอร์อธิบายการใช้งานระบบต่างๆ พร้อมพาไปดูรอบเส้นทางเสร็จสรรพ สถานีแรกเป็นการทดลองอัตราเร่งรูปแบบเส้นทางตรง โหมดการขับขี่ที่ใช้เป็นรูปแบบของ Drag Stip แม้ว่าจะเป็นรุ่นเล็กตามขนาดเครื่องยนต์ 2.3 ลิตร แต่พละกำลังที่มีมาถึง 300 แรงม้านั้นก็ทำให้รู้สึกถึงอาการที่รถพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนเกียร์ทำได้ในเวลาที่สั้น ระยะทางโดยประมาณ 300 ม. ตำแหน่งเกียร์แสดงที่มาตรวัดอยู่ที่เกียร์ 5 ก่อนที่จะถึงระยะเบรก นอกจากนี้สิ่งที่สัมผัสได้นั่นคือการยึดเกาะขณะกระแทกคันเร่งในช่วงออกตัว ซึ่งถือเป็นการควบคุมที่เป็นผลลัพธ์ของระบบ Drag Stip นั่นเอง

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 36

ผ่านสถานีแรกปรับโหมดการขับขี่มาอยู่ในรูปแบบของ Track Mode และจึงมาต่อกันที่สถานี Slalom กติกาของการใช้สถานีนี้คือความเร็ว 60 กม./ชม. แต่ผมเชื่อมั่นว่าสมรรถนะของเจ้าม้าป่าถ้าใช้ความเร็วเกินน่าจะเอาอยู่ ลองรั้นอินสตรัคเตอร์ไปที่ความเร็ว 70 กม./ชม. ก็จริงอย่างที่คิดครับ ควบคุมรถได้สบายๆ ทั้งที่โหมดนี้ ระบบควบคุมสเถียรภาพของรถหรือ Tracktion Control จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยประคับประคองรถเลยก็ตาม

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 36

มาถึงสถานี Handling ถือเป็นการลองของกับโค้งรูปตัวเอส ซึ่งตอนที่อินสตรัคเตอร์ขับให้ชมก่อนได้ขับจริงนั้นอาจจะมีอาการเสียวเล็กน้อยคล้ายกับรถจะหลุดการควบคุม แต่พอได้ขับเอง ผมว่าสมรรถนะของระบบช่วงล่างยังเหลือๆ ความเร็วที่ใช้ประมาณ 70 กม./ชม. ยังสามารถผ่านโค้งรูปตัวเอสไปได้อย่างสบายๆ ในส่วนนี้น่าจะเป็นผลมาจากการพัฒนาช่วงล่างแบบแมคเฟอร์สันสตรัท ที่เปลี่ยนจุดยึดแบบปีกนกมาใช้แบบลูกหมาก ทำให้ล้อหน้าดิ้นได้น้อยกว่าแบบเดิม รวมถึง Limited Slip ในเฟืองท้ายที่ยังคอยช่วยปรับสมดุลระหว่างล้อคู่หลัง

มาที่สถานี Lane Change แน่นอนว่าผมเริ่มคุ้นเคยกับม้าป่า หลังจากที่ทำความรู้จักกันได้พักใหญ่ มาถึงตรงนี้เริ่มที่จะทำอะไรเหนือกฏเกณฑ์ที่ผู้จัดงานได้ตั้งไว้ ความเร็วที่ใช้เริ่มจะเกินขอบเขต เพราะผมมั่นใจว่า ”เอาอยู่” รูปแบบการทดสอบคือ “หักหลบ” อินสตรัคเตอร์คงจะเอียนกับผม เพราะหลังจากสถานีแรก ไม่ได้ทำตามที่เค้าบอกสักอย่าง ความเร็วที่ใช้เกือบ 80 กม./ชม. พอถึงจุดหักเลี้ยว ผมยกคันเร่งเล็กน้อยพร้อมควบคุมพวงมาลัยเพื่อพารถไปยังช่องทางที่บังคับไว้

ตอนแรกตั้งใจจะให้ท้ายรถออกนิดๆ เพื่อจะลองแก้อาการ แต่ก็ไม่เกิดผล เพราะรถไม่ยอมเสียอาการตามที่ตั้งใจ นอกจากระบบช่วงล่างที่ให้การยึดเกาะ เจอสเปคของยางที่ติดตั้งมากับรถถึงกับบางอ้อ ฟอร์ด มัสแตงรุ่น 2.3 EcoBoost นั้นติดตั้งล้อขอบ 19 นิ้ว แถมยังหุ้มยางขนาด 255/40 หน้ายางกว้างขนาดนี้ ถ้าจะให้รถออกอาการคงต้องใช้ความเร็วทะลุ 100 กม./ชม. ผมถึงกับอดสนุกเลยทีเดียว

ถึงเวลาของรุ่นใหญ่ พลังเยอะ ในรุ่น 5.0 V8 GT กับสถานีแรก พร้อมกับการขับขี่ในโหมด Drag Stip แน่นอนว่ามีความแตกต่างจากขุมพลังอย่างเห็นได้ชัด แรงม้า 460 ตัว และ แรงบิด 556 นิวตันเมตร จากเครื่องยนต์ 5.0 ลิตร V8 มาเต็มแบบ “หลังติดเบาะ” แต่ระบบเกียร์ก็จะคอยควบคุมความห้าวของม้าป่าเอาไว้ และตำแหน่งเกียร์ยังเปลี่ยนได้แค่ 3 เกียร์ คือ 1,3 และ 5 ก็ถึงปลายทางของสถานีแรก

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 42

สถานีต่อไปก็ยังคงรูปแบบเดิมนั่นคือการขับขี่แบบสลาลม แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมนั่นคือพละกำลัง ขุมกำลังบิ๊กบล๊อคแบบนี้ เติมคันเร่งเมื่อไหร่รถก็พร้อมที่จะพุ่งไปข้างหน้าเสมอ พอถึงไพล่อนแรก ลองเข้าที่ความเร็วสัก 80 กม./ชม. ถ้าท้ายออกเมื่อไหร่คือยกคันเร่ง พอใช้ความเร็วนี้ต้องบอกว่าค่อนข้างอันตรายเพราะรถพุ่งเข้าหาไพล่อนเร็วขึ้น แต่ช่องทางของการหักหลบเท่าเดิม ความไวในการหักหลบต้องสัมพันธ์กันตลอด เอาเป็นว่ารอดมาแบบฟลุ๊คๆ แต่ก็ต้องแก้อาการบ้างบางจังหวะ ณ จุดนี้ขอยกความดีความให้ระบบช่วงล่างและพวงมาลัยที่บังคับควบคุมได้อย่างแม่นยำ

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 37

มาถึงการทดสอบในโค้งรูปตัวเอส โหมดการขับขี่ถูกปรับให้เป็น Track Mode อีกครั้ง ที่นี้ล่ะสนุก เพราะคันเร่งและพละกำลังเครื่องยนต์ต่างไปจากเดิม ผมลองใช้ความเร็วสัก 90 กม./ชม. โดยไม่หันไปมองหน้าอินสตรัคเตอร์ เพราะรู้ว่าถ้าสบตากัน คือผมต้องดรอปความเร็วให้มาเหลือแค่ 60 กม./ชม.ตามกติกา โค้งซ้ายแรกยังคมกริบแต่พอหักขวามีอาการท้ายออกเล็กน้อย มีเสียงอินสตรัคเตอร์ดังเตือนสติมาเบาๆ “ผมรู้ว่าพี่เอาอยู่และรถมันคอนโทรลง่าย แต่พี่เซฟให้หน่อยนะครับ” ผมได้แต่หันไปยิ้มตอบ เสมือนว่ารับทราบ

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 39

ช่วงสุดท้ายของการทดสอบในสถานี Lane Change ขอโอกาสหลุดกรอบกับรุ่นใหญ่ดูสักครั้ง ก่อนที่ไม่รู้จะได้เตะอีกทีเมื่อไหร่ การหักหลบรอบนี้ ผมเพิ่มความเร็วไปที่ 90 กม./ชม. วัดใจดูกับระบบช่วงล่างแบบใหม่สักหน่อย พอถึงช่วงหักหลบรถยังไม่มีอาการ พอสะบัดพวงมาลัยกลับเท่านั้น เริ่มรับรู้ถึงอาการท้ายกวาด แต่พอถอนคันเร่งพร้อมรอแก้อาการของรถ ม้าป่าดันกลับมาสู่ช่องทางปกติได้ เท่ากับว่ายังคงมีการช่วยเหลือจากระบบ Tracktion Control น่าจะประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เทคโนโลยีมันฉลาดเกินไปหรือเป็นคำสั่งจากคนเขียนโปรแกรมระบบนี้กันแน่ แต่ทั้งนี้ก็มีอาการ “เหวอ” เล็กๆทั้งจากผมในฐานะผู้ขับขี่และอินสตรัคเตอร์ที่นั่งมาในฐานะผู้ควบคุมการทดสอบ

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 38

บทสรุปของการทดสอบสมรรถนะ ฟอร์ด มัสแตง ทั้ง 2 รุ่น พอจะสังเขปได้ว่าม้าป่าในตำนานยังคงความดุดันจากอดีตสู่ยุคปัจจุบัน ความน่าสนใจนอกจากสมรรถนะและราคาที่ “Shock Price” ซึ่งเมื่อเทียบกับสมรรถนะ ผมมองว่าคุ้มค่าเกินราคา ทั้งยังเอาไปแข่งในสนามได้โดยที่ไม่ต้องไปปรับแต่งอะไรมากมาย และผู้ขับก็ไม่ต้องมีทักษะชั้นสูง เนื่องจากระบบต่างๆจะคอยจัดการให้เอง แต่ถ้าบนถนนไม่แนะนำ เพราะอาจสร้างความหมั่นไส้ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนท่านอื่นก็เป็นได้ เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยในส่วนของการรองรับเชื้อเพลิงที่หลากหลายได้ด้วยก็จะดีงาม ส่วนที่เหลือหากเทียบกับรถกลุ่มเดียวกันที่ขายในบ้านเรา คำตอบคือ ”ยังไม่มี” แต่ถ้าเทียบด้านราคา ถ้าคุณมองซีดานขนาดกลางจากฝั่งยุโรป และเหลือบตามามองมัสเซิล คาร์ จากฝั่งอเมริกา ผมว่าคุณต้องเบนเข็มมาหาม้าป่าคันนี้แน่นอน

ทดสอบ ฟอร์ด มัสแตง 40

ฟอร์ด ประเทศไทย ในฐานะบริษัทแม่ที่ลงมาลุยตลาดเองทำเอาผู้นำเข้าอิสระและกลุ่มลูกค้าของเขาต้องลำบาก เนื่องจากค่ายยักษ์ประกาศชัดว่าไม่รับบริการรถที่ซื้อจากผู้จำหน่ายกลุ่มนี้ และผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้จำหน่าย “ฟอร์ด มัสแตง” อย่างเป็นทางการ 19 แห่ง ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด

ลูกค้าจะได้รับความคุ้มค่าด้วยแพ็กเก็จ ฟอร์ด พรีเมี่ยม แคร์ ที่มาพร้อมการรับประกันคุณภาพรถนานสูงสุดถึง 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร พร้อมบริการฟรีค่าแรงและค่าอะไหล่ในการตรวจเช็คตามระยะ 5 ครั้ง ยาวนานถึง 60 เดือน หรือ 75,000 กิโลเมตร อีกทั้งบริการช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 ปี

ข้อมูลเทคนิค Ford Mustang 2.3 Ecoboost และ 5.0 V8 GT
เครื่องยนต์: เบนซิน 4 สูบ เทอร์โบ อีโค่บูสต์,เบนซิน วี 8 สูบ
ความจุกระบอกสูบ(ลิตร): 2.3, 5.0
กำลังสูงสุด (แรงม้า ที่ รอบ/นาที): 300 / 5,400, 460/7,000
แรงบิดสูงสุด(นิวตัน-เมตร ที่รอบ/นาที): 440 / 3,000 , 556/4,600
ระบบส่งกำลัง: เกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ พร้อม แพดเดิลชิฟท์
ระบบขับเคลื่อน: ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง
เบรก (หน้า/หลัง): ดิสก์เบรก 4 สูบ/ ดิสเบรก 1 สูบ , ดิสก์เบรก 6 สูบ/ ดิสเบรก 1 สูบ
ระบบกันสะเทือน: หน้าอิสระแมคเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง / หลังอิสระอินทิทรัลลิงค์พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง
ยาว/กว้าง/สูง (มม.): 4,784 / 2,080 / 1,381
ราคา (บาท): 3,599,000 , 4,799,000
ตัวแทนจำหน่าย: บริษัท ฟอร์ด ประเทศไทย จำกัด

ขอขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติมจาก Google

RELATED ARTICLES

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here

Most Popular