เป็นอีกครั้งที่ได้สัมผัส Mitsubishi Outlander PHEV แต่จะเน้นไปกับระบบ EV และ Super All Wheel Control บนเส้นทางลุยเบาๆ รวมถึงเรื่องราวของ Dendo Drive House เทคโนโลยีแห่งการผันกำลังไฟจากรถยนต์ สู่กระแสไฟหลักสำหรับเครื่องใช้ในครัวเรือน ติดตามรับชมได้เลยครับ
ก่อนที่จะเอาไปลองลุย มาทำความรู้จักกับเทคโนโลยี Dendo Drive Houseว่าคืออะไร
Dendo Drive House ถือเป็นโครงการที่พัฒนามาเพื่อรถไฟฟ้าก็ว่าได้ และเป้นการต่อยอดจากที่ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้ผลิตรถเอสยูวีปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรกของทางค่าย นั่นคือ Mitsubishi Outlander PHREV นั่นเอง
และด้วยการดำเนินกลยุทธ์ด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของระบบนิเวศพลังงานไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืน Dendo Drive Houseหรือชื่อทางการค้าของระบบ V2H (vehicle-to-home) จึงได้ถูกสานต่อโปรเจค และจัดแสดงครั้งแรกที่งาน เจนีวา อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ เดือนมีนาคม 2019
Dendo Drive House คือระบบการผันแปรกำลังไฟสำหรับที่พักอาศัยซึ่งประกอบด้วย Mitsubishi Outlander PHEV, อุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้า 2 ทิศทาง (Bi-Directional), แผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่แพคสำหรับที่พักอาศัย โดยสามารถผลิตไฟฟ้าจากที่พักอาศัย เพื่อนำไปใช้ในการชาร์จยานพาหนะ แต่ก็ยังสามารถดึงพลังงานไฟฟ้ากลับจากยานพาหนะเพื่อนำไปใช้ในที่พักอาศัย ซึ่งมากับการให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การขาย ติดตั้ง ตลอดจนบริการบำรุงรักษาหลังการขาย
เทคโนโลยีนี้สามารถ ผลิต จ่าย และเก็บพลังงานไฟฟ้าได้อัตโนมัติ แผงโซลาร์เซลล์จะแปรสภาพพลังงานจากแสงแดดมาผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อชาร์จแบตเตอรี่สำหรับบ้านและแบตเตอรี่รถ ในกรณีที่พลังไฟจากแผงโซลาร์เซลส์ลดน้อยลง กำลังไฟจากแบตเตอรี่ที่ชาร์จเก็บไว้ จะถูกนำมาใช้ภายในบ้าน ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงด้วย
แต่หาก Mitsubishi Outlander PHEV ได้เชื่อมต่อกับระบบ ตัวรถก็จะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ที่พักอาศัยด้วยเช่นกัน โดยผ่านอุปกรณ์ชาร์จไฟ 2 ทิศทาง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจนไฟดับ แบตเตอรี่ในที่พักอาศัยและใน Outlander PHEV จะสามารถเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรองได้ ด้วยการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ที่พักอาศัยซึ่งมาจากแบตเตอรี่ขนาดความจุ 13.8 กิโลวัตต์-ชม.
ไฮไลท์เด็ดของรถรุ่นนี้ยังเปรียบเสมือนพาวเวอร์แบงค์เคลื่อนที่ และจะจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ได้สูงสุด 1,500 วัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าเช่น เครื่องทำกาแฟ หม้อหุงข้าว หรือสำหรับชาร์จจักรยานไฟฟ้า โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าแบบ Bi-Directional
แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ Mitsubishi Outlander PHEV ได้ทำงานร่วมกับ เดนโด ไดร์ฟ เฮ้าส์ ก็จะได้พลังงานที่สร้างประโยชน์มากมายให้แก่ผู้ใช้งาน โดยแบตเตอรี่สำหรับที่พักอาศัยและรถ ยังสามารถชาร์จไฟฟ้าได้ในเวลากลางคืน ซึ่งค่าไฟจะมีราคาถูกที่สุด นอกจากนี้ยังลดการพึ่งพาโครงข่ายไฟฟ้า และที่สำคัญยิ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่ความยั่งยืน
ทีนี้มาเข้าสู่เรื่องราวของการทดลองลุยไปกับเอสยูวีปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรกจากมิตซูบิชิ มอเตอร์ส
ก่อนหน้านี้เราได้ทำการพิสูจน์สมรรถนะของ Mitsubishi Outlander PHEV ไปเมื่อไม่นานนัก กับเส้นทางที่ใช้ทดลองขับรอบกรุงเทพฯ ซึ่งได้ข้อสรุปในหลายเรื่อง แต่ในครั้งนี้จะเป็นการพารถรุ่นนี้ไปลองลุยพร้อมกับทำระยะทางจากการใช้งานโหมด EV อีกครั้ง
แบตเตอรี่ขนาด 13.8 KWh อัดประจุไฟมาเต็มตั้งแต่ออกเดินทางจาก Dendo Drive House ย่านถนนลำลูกกา หนึ่งในตัวช่วยการขับขี่จากระบบ Advance Safety นั่นคือ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติตามรถคันหน้าหรือ Adaptive Cruise Control ได้ทำการล๊อคความเร็วไว้ที่ 80 กม./ชม. และมุ่งหน้าไปที่จ.นครนายก ระยะทางไปกลับเกือบ 200 กม. แน่นอนว่าการใช้งานโหมด EV เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถใช้เป็นพลังงานหลักตลอดการทดสอบ
การใช้งานระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติตามรถคันหน้าจะทำงานร่วมกับระบบช่วยเหลืออย่าง ระบบสัญญาณเตือนจุดอับสายตา BSM,ระบบเตือนขณะเปลี่ยนเลนระยะไกล LCA – Lane Change Assist จึงทำให้เพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ได้อีก 1 ระดับ
ระยะทางผ่าน 53 กม. พร้อมเสียงเตือนพลังงานต่ำได้ดังขึ้น ซึ่งเป็นระยะทางใกล้เคียงกับที่อีโค่สติ๊กเกอร์ได้ทำไว้ เท่ากับว่าระยะทางที่พิสูจน์ในครั้งนี้จะได้มากกว่า และพลังงานก็ถูกตัดกลับไปยังเครื่องยนต์ โดยระยะทางที่ทำได้นั้นอยู่ที่ 57 กม.
ระหว่างนี้จึงปรับแป้นแพดเดิล ชิฟท์ ซึ่งใช้ปรับระดับของการหน่วงความเร็ว ไม่ใช่ปรับอัตราทดเกียร์แบบในรถหลายๆรุ่น ในกรณีที่ต้องการนำพลังงานจากแรงเฉื่อย ส่งกลับไปเป็นพลังงานในแบตเตอรี่ สามารถเลือกได้ถึง 5 ระดับ และการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงเพื่อแปรสภาพเป็นพลังงานกลับไปสะสมยังแบตเตอรี่นั้น จะใช้เวลาประมาณ 50 นาที และใช้เชื้อเพลิงไม่เกิน 4 ลิตร หรือประมาณ 100 บาท แต่ระยะเวลาอาจรวดเร็วขึ้น เพราะมีตัวแปรจากแรงเฉื่อยที่ถุกนำกลับไปช่วยสร้างพลังงานในแบตเตอรี่
เข้าสู่การขับขี่ในโหมด Sport พละกำลังที่มาจากเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ MIVEC ขนาด 2,359 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 128 แรงม้า ที่ 4,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 199 นิวตันเมตร ที่ 4,500 รอบ/นาที ให้พละกำลังพอตัว ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ได้ทำการพิสูจน์นั่นคืออัตราการสิ้นเปลืองของน้ำมันเชื้อเพลิง
ระบบรองรับแบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัทที่ด้านหน้า และด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์ ยังอารมณ์นุ่มนวลไปเล็กน้อย แต่ด้วยคุณสมบัติของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ Super All Wheel Drive Control จึงทำให้การยึดเกาะถนนนั้นหายห่วง และอีกเรื่องคือการออกแบบน้ำหนักและทิศทางของพวงมาลัยที่ช่วยให้การควบคุมรถทำได้แม่นยำ
เริ่มเข้าสู่เส้นทางลุย สภาพพื้นที่เป็นทางขรุขระ พร้อมเนินชันไว้ให้ได้ทดลองระบบตัวช่วยใน Super All Wheel Drive Control ที่มีให้เลือกใช้งานถึง 3 โหมด ได้แก่ Normal, Snow, และ Rock
Normal เป็นรูปแบบปกติสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่ Rock และ Snow จะถูกควบคุมการกระจายแรงบิดไปยังล้อต่างๆ เพื่อการควบคุมรถที่ง่ายในสภาพเส้นทางที่มีพื้นผิวนุ่ม กรณีการเข้าโค้งจะเห็นผลค่อนข้างชัดเจน
ส่วนเรื่องการไต่ทางชัน ก็สามารถใช้แรงบิดได้เต็มที่ เพราะเป็นรถที่มีระบบเกียร์เดินหน้า และถอยหลังเท่านั้น โดยไม่ม่อัตราทดเป็นตัวแชร์พละกำลัง และการขับรถลงทางชัน ก็ยังเป็นการช่วยให้สร้างแรงเฉื่อยได้เพิ่มขึ้น เท่ากับเป็นการเร่งการชาร์จพลังงานกลับไปยังแบตเตอรี่นั่นเอง
เรื่องราวของการสัมผัส Mitsubishi Outlander PHEV ในครั้งนี้ สำหรับ Dendo Drive House ถือเป็นโครงการนำร่องที่เป็นการนำพลังงานจากแบตเตอรี่รถยนต์มาแปรสภาพสู่กระแสไฟหลักของเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้จริง และในอนาคตอันใกล้ก็คงเป็นเทคโนโลยีที่หลายๆบ้านได้ใช้แน่นอน
ส่วนในเรื่องราวการทดสอบ ตัวเลขจากการใช้งานโหมด EV ถือว่ามากกว่าอีโค่สติ๊กเกอร์ และการควบคุมรถในเส้นทางลุย จากการใช้เทคโนโลยี Super All Whell Control นั้นสามารถทำได้ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเอาไปลุยหนักได้แบบรถออฟโรด และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ได้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ประมาณ 14 กม./ลิตร ซึ่งอยุ่ในเกณฑ์ที่รับได้
ฉะนั้น สำหรับผุ้ที่เลือกรถรุ่นนี้ไปใช้งาน ยังไงก็มีแต้มต่อเพราะสามารถเป็นต้นทางของพลังงานไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน หรือไฟฟ้าขัดข้องนั่นเอง