Sunday, December 22, 2024
HomeAuto Newsฟอร์ด จับมือ จส. 100 สานต่อโครงการ Driving Skills for Life ปีที่ 12

ฟอร์ด จับมือ จส. 100 สานต่อโครงการ Driving Skills for Life ปีที่ 12

ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมกับสถานีวิทยุ จส. 100 จัดอบรมส่งเสริมทักษะการขับขี่ปลอดภัยในธีม ‘ผู้หญิงขับชัวร์’ ให้ผู้เข้าอบรมกว่า 100 คน ในวาระครบรอบปีที่ 12 ของโครงการ Ford Driving Skills for Life (DSFL) หรือ ‘ฉลาดขับ ประหยัด ปลอดภัย’ ในประเทศไทย โดยกิจกรรมดังกล่าวเน้นการเพิ่มทักษะการขับขี่อย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการขับขี่ให้กับกลุ่มสตรี ณ มอเตอร์สปอร์ตพาร์ค สุวรรณภูมิ
ฟอร์ด จส. 100
Ford Driving Skills for Life เป็นโครงการเพื่อสังคมของฟอร์ดทั่วโลก โดยฟอร์ด ประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องมาเป็นเวลา 12 ปี จัดอบรมให้กับผู้ขับขี่ในประเทศไทยแล้วกว่า 12,000 คน มุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกในการขับขี่อย่างปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างยั่งยืน โดยนำรถกระบะ ฟอร์ด เรนเจอร์ และรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ที่โดดเด่นด้วยสมรรถนะอันยอดเยี่ยม อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยและเทคโนโลยีช่วยขับขี่อัจฉริยะ อาทิ ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติพร้อมระบบตรวจจับคนเดินถนน หรือ Autonomous Emergency Braking (AEB) เพื่อหยุดรถ และช่วยลดอัตราการชนท้ายและการชนคนเดินถนน ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว Electronic Stability Program (ESP) ลดความเสี่ยงการลื่นไถลในทุกสภาพถนน สร้างความมั่นใจในทุกการขับขี่ มาให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ทดลองขับขี่ในสถานการณ์ต่างๆ
นอกจากนี้ ฟอร์ด ยังได้นำเทคโนโลยีชุดจำลองสภาวะตั้งครรภ์มาให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้ถึงการเตรียมความพร้อมในการขับขี่และเคล็ดลับการเดินทางสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ อาทิ การใช้เข็มขัดนิรภัยให้ถูกต้องโดยตำแหน่งสายเข็มขัดนิรภัยที่พาดในแนวทแยงให้พาดอยู่ระหว่างหน้าอกลงไปตามแนวโค้งของท้อง และสายเข็มขัดในแนวนอนให้อยู่เหนือต้นขาและกระดูกเชิงกราน หลังจากนั้นเสียบหัวเข็มขัดเข้ากับตัวล็อก และตรวจสอบอีกครั้งเพื่อไม่ให้สายเข็มขัดรัดแน่นมากจนเกิดความอึดอัดไม่สบายตัว
ฟอร์ด จส. 100
อีกหนึ่งประเด็นด้านความปลอดภัยที่ฟอร์ดให้ความสำคัญอย่างมาก คือการรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ไม่ขับรถขณะมึนเมา ฟอร์ดจึงได้นำเทคโนโลยีชุดจำลองสภาวะมึนเมามาให้ความรู้กับผู้เข้าอบรม โดยชุดดังกล่าวจะจำลองผลกระทบบางส่วนที่เกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพสารเสพติด อาทิ การเคลื่อนไหวร่างกายได้ช้าลง  การมองเห็น การตอบสนองที่ช้าลง และการประสานการทำงานของร่างกายที่ด้อยประสิทธิภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตทั้งต่อผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ ได้

RELATED ARTICLES

Most Popular