สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย จัดเสวนาวิชาการ “ยูโร 5 / EV แก้ปมมลพิษ หรือจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” เพื่อระดมความคิดเห็นจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศที่รุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐก็พยายามหามาตรการแก้ไข รวมถึงการส่งเสริมส่งเสริมการลงทุนรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) และการเตรียมปรับใช้มาตรฐานใหม่ของเครื่องยนต์สันดาปภายใน
ณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มองว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ไทยจำเป็นจะต้องวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ที่ตลาดมีความต้องการ รถยนต์ที่มีเทคโนโลยี และพลังงานที่สะอาด
ซึ่งการที่รัฐมีนโยบาย ทั้งการส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ และการเพิ่มความเข้มข้นของมาตรฐานไอเสียมากขึ้นก็เป็นการเดินมาถูกทาง เพราะนอกจากจะก้าวตามโลกแล้ว ยังเป็นแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นในประเทศ รวมถึงปัญหาใหญ่ในขณะนี้ คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่รุนแรงขึ้น
รัฐมีแนวคิดปรับมาตรฐานไอเสียสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายในให้เร็วขึ้น เป็นยูโร 5 ในปี 2564 และยูโร 6 ในปี 2565 พร้อมกับการผลักดันให้โรงกลั่น ผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ออกมาป้อนตลาด ก่อนการบังคับใช้มาตรฐานใหม่สำหรับรถยนต์ เพราะเห็นว่าน้ำมันยูโร 5 จะช่วยลดมลพิษ และฝุ่นละอองได้ทันที แม้ว่าเครื่องยนต์จะยังคงเป็นมาตรฐานเดิมก็ตาม
โดยเครื่องยนต์ยูโร 4 เมื่อเติมน้ำมันยูโร 5 จะลดฝุ่นละอองได้ 25% และในอนาคตเมื่อเครื่องยนต์ได้มาตรฐานยูโร 5 เมื่อเติมน้ำมันยูโร 5 จะลดลงถึง 5 เท่า ทั้งนี้ ทางกระทรวงพลังงานแจ้งว่าปี 2564 จะมีน้ำมันยูโร 5 รองรับ 500 ล้านลิตร และครอบคลุมทั่วประเทศปี 2567 และจะพยายามส่งเสริมให้คนหันมาใช้ โดยแนวทางหนึ่งคือ การพยายามทำราคาให้น่าสนใจ ซึ่งอาจะเป็นไปได้ว่าอาจจะถูกว่าน้ำมันทั่วไป
ทางด้านอีวี ก็เป็นสิ่งที่จะต้องเอาจริงเช่นกัน เพราะหากไม่เร่งดำเนินการ อาจทำให้อุตสาหกรรมของไทยล้าหลังประเทศอื่นๆ “บางอุตสาหกรรม เช่นกล้อง ที่ถึงจุดเปลี่ยนแปลง ทำให้ค่ายที่ไม่ปรับตัว เช่น โกดัก ฟูจิ อยู่ไม่ได้ ส่วนนิคอน แคนนอน ปรับตัวทันก็อยู่ได้ และขณะเดียวกันก็มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา เช่น โซนี่ ซึ่งก็ต้องมาดูว่ารถยนต์จะเป็นแบบนั้นด้วยหรือไม่ เพราะมีทั้งผู้ที่ยังไม่ปรับตัว ผู้ปรับตัว และหน้าใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาก่อน”
องอาจ พงษ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มองในมุมที่แตกต่างกันในบางส่วน โดยเฉพาะเรื่องของการกำหนดมาตรฐานไอเสียสำหรับเครื่องยนต์เป็นยูโร 6 ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดนัก เพราะหากเป้าหมายคือความต้องการแก้เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก การกำหนดมาตรฐานไอเสียยูโร 6 ตามหลังยูโร 5 ในเวลา 1 ปี เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะผลที่ได้รับ เช่น ในเครื่องยนต์ดีเซล ค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กของยูโร 5 กับยูโร 6 ไม่ต่างกัน แต่ต่างกันที่ค่าไฮโดรคาร์บอน และคาร์บอนมอนอกไซด์ แต่ในเวลาเดียวกัน การเปลี่ยนมาตรฐานดังกล่าว จะใช้เงินลงทุนพอสมควร เฉลี่ย 2.5-5 หมื่นบาท/คัน ขณะที่ต้นทุนจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 ก็อยู่ในระดับเท่าๆ กัน
ทั้งนี้ มองว่าหากรัฐต้องการแก้ปัญหาจริงๆ ควรมองให้รอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาทีเกิดจากรถเก่า ซึ่งมีส่วนอย่างมาก หากไม่ได้รับการซ่อมบำรุงที่ถูกต้อง และหากเป็นรถที่มีอายุการใช้งานยาวนานมาก การซ่อมบำรุงจะช่วยอะไรไม่ได้ ต้องโอเวอร์ฮอลล์เท่านั้น “ปัจจุบันมีรถเก่าวิ่งอยู่ในท้องถนนจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข ทั้งการบำรุงรักษาและการตรวจสอบที่เข้มข้นมากกว่าปัจจุบัน”
อย่างไรก็ตามเห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาน้ำมันเป็นยูโร 5 เพราะจะเกิดประโยชน์ในวงกว้าง ไม่เฉพาะแค่รถใหม่เท่านั้น เพราะรถทั้งหมดที่อยู่บนท้องถนน 20 ล้านคันขณะนี้สามารถใช้ได้ และก็จะทำให้ทุกคันมีส่วนช่วยในการลดปัญหามลพิษ
ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า อีวี ยังอยู่ในช่วงการเริ่มต้น แต่มั่นใจว่าในอนาคตจะเพิ่มบทบาทขึ้นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าแม้จะยังไม่ได้รับแรงหนุนจากภาครัฐมากนัก แต่กลับมีผู้ประกอบการสนใจทำตลาดอีวีแล้วหลายค่าย หลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น นิสสัน อาวดี้
ฮุนไดที่มี 2 รุ่น จากัวร์ ไมน์ ฟอมม์ เกีย บีวายดี เป็นต้น และในอนาคต เชื่อว่าจะมีมากกว่านี้ รวมถึงผู้ผลิตไทยอย่างสามมิตร มอเตอร์ ที่มีแผนทำตลาดรถบรรทุกไฟฟ้า
ทั้งนี้ เป็นเรื่องจำเป็นที่ไทยจะต้องปรับตัวตามยุคที่ปรับตัว และไม่เฉพาะผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนด้วย ที่จะต้องมองหาช่องทางธุรกิจใหม่ เทคโนโลยีใหม่ โดยที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนธุรกิจไทยให้มีโอกาสพัฒนา เพราะช่วงนี้มีหลายบริษัทที่หันมาสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แต่ประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น ผู้ผลิตตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า ไม่สามารถจดทะเบียนได้
ด้านสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปัจจุบัน ประเมินว่าปีนี้จะมียอดการผลิตทั้งสิ้น 2.15 ล้านคัน ลดลงเล็กน้อยจากปีที่แล้วที่ทำได้ 2.16 ล้านคัน เป็นผลมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงมาระยะหนึ่ง โดยช่วงปี 2558-2560 ติดลบประมาณ 2% และปีนี้ตั้งเป้าว่าจะส่งออก 1.1 ล้านคัน ลดลงเล็กน้อยจากปีที่แล้วที่ทำได้ 1.14 ล้านคัน
อย่างไรก็ตาม ตลาดในประเทศที่ขยายตัวขึ้น ก็ช่วยให้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และปีนี้กลุ่มฯ ตั้งเป้าการขายในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.041 ล้านคันในปีที่แล้วเป็น 1.05 ล้านคัน
ขณะที่กลุ่มรถจักรยานยนต์ก็ได้รับผลกระทบจากการส่งออกเช่นกัน เนื่องจากประเทศคู่ค้าหันมาผลิตรถเอง ไทยจึงต้องปรับตัวด้วยการส่งออกชิ้นส่วนประกอบแทนการส่งออกรถสำเร็จรูป (CBU) มากขึ้น
สุรพงษ์ กล่าวว่า แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การประสบความสำเร็จของรถอีโค่ คาร์ ที่ทำได้ดีทั้งตลาดในประเทศและส่งออก โดยตั้งแต่เริ่มโครงการถึงปัจจุบัน ไทยผลิตอีโค คาร์ แล้ว 2.5 ล้านคัน และการที่อีโค คาร์ มีมาตรฐานไอเสียเทียบเท่ายูโร 5 ทำให้เป็นรถที่มีบทบาทในการช่วยลดมลพิษทางอากาศได้เป็นอย่างดี
ส่วนภาพรวมรถในกลุ่ม อีวี ปัจจุบัน ยังมีไม่มากนัก โดยข้อมูลถึงวันที่ 28 ก.พ. ปีนี้ มี 1,522 คัน แต่ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ 1,155 คัน ส่วนรถยนต์นั่งมี 148 คัน อย่างไรก็ตามกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากผู้ขับขี่ซึ่งใช้ในการประกอบอาชีพรับส่ง ให้เหตุผลว่า เสียเวลาในการหาเงินจากการชาร์จไฟ