Mercedes GLB 200 Progessive ยนตรกรรมอเนกประสงค์รุ่นแรก ในรูปแบบของรถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ที่ใช้แพลทฟอร์มเดียวกันกับรุ่น GLA และ GLB แต่ใช้เครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบขนาดเล็ก ที่มีสมรรถนะไม่ธรรมดา รวมถึงฟีเจอร์ทันสมัยต่างๆ นั้นจะคุ้มค่ากับราคาค่าตัว 2.86 ล้านบาทขนาดไหน ติดตามได้จากรายงาน
สำหรับรถรุ่นนี้ ในช่วงปลายปี 2019 ทางบอสใหญ่ของเราได้บินข้ามทะเลไปยังแดนกระทิงดุ เพื่อสัมผัสและทดลองขับ ซึ่งถือว่าเป็นคนแรกๆของเมืองไทยที่ได้สัมผัสกับรถรุ่นนี้ แต่ในครั้งนั้นเป็นเวอร์ชั่นที่จำหน่ายในประเทศสเปน
สำหรับการนำเข้าจำหน่ายในเมืองไทย ทางบ.เมร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย อาจมีการปรับฟีเจอร์ออกบางรายการ แต่ในด้านของรูปลักษณ์ภายนอกนั้นเป็นแบบเดียวกัน ด้วยขนาดความยาว 4,634 มิลลิเมตรกว้าง 1,834 มิลลิเมตร และ สูง 1,663 มิลลิเมตร ในขณะที่ระยะฐานล้อ : 2,829 มิลลิเมตร
รูปลักษณ์ภายนอกยังคงความหรูหรา และมีเส้นสายที่ เฉียบ คม หน้ากระจังออกแบบึกบึน โคมไฟหน้าติดตั้งระบบ LED High Performance พร้อมระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ Adaptive Highbeam Assist รวมถึงรวมไฟ Daytime Running Light แบบ LED ไว้ในโคมเดียวกัน
ท้ายรถดีไซน์สวย ฝาท้าย เปิด-ปิด ด้วยระบบไฟฟ้า พร้อม Hands-Free Access และไฟท้ายเป็นแบบ Full LED ล้ออัลลอย 5 ก้านคู่ ขนาด 18 นิ้วมากับยาง ขนาด 235/55 R18
ห้องโดยสารขนาดใหญ่ในรูปแบบของเบาะนั่ง 3 แถว 7 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นประโยขน์จากการนำโครงสร้างเดียวกับ GLA และ GLC มาพัฒนาใหม่ เบาะคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้าพร้อมหน่วยความจำ ส่วนแถว 2 แยกพับอิสระ 40 : 20 : 40 และแถวที่ 3 แยกพับอิสระ 50 : 50 ทั้งหมดหุ้มด้วยหนังแท้ ARTICO
ความอลังการที่ถือเป็นไฮไลท์นั้นคือการติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัย เริ่มจาก ไฟในห้องโดยสารที่ปรับได้ถึง 64 สี พวงมาลัยมัลติฟังค์ชั่นที่ใช้ในการสั่งการฟีเจอร์ต่างๆ โดยแสดงการทำงานผ่านมาตรวัดแบบ Full Digital ขนาด 10.25 นิ้ว นอกจากจะปรับเปลี่ยนการแสดงผลของทั้งความเร็ว และ รอบเครื่องยนต์ ยังคงรวมไปถึง โหมดการขับขี่ ที่ปรับเปลี่ยนได้ทั้ง Eco Normal และ Sport ที่ปรับได้ทั้งการตอบสนองของเครื่องยนต์ และ นน.พวงมาลัย
ฟีเจอร์เพื่อความสะดวกสบายและปลอดภัยยังมีอีกเพียบ ทั้งระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ระบบจำกัดความเร็ว ระบบเตือนแรงดันลมยาง Tyre Pressure lose warning ระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้าขณะขับขี่ Attention Assist รวมถึงระบบเบรกมือไฟฟ้า ADAPTIVE BRAKE พร้อมฟังก์ชั่น HOLD
หน้าจอกลางระบบสัมผัส Touchscreen ขนาด 10.25 นิ้ว ติดตั้งระบบปฎิบัติการ Multimedia MBUX และระบบสั่งงานด้วยเสียง ‘ Hey Mercedes รองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนทั้งระบบ Apple CarPlay และ Android Auto รวมถึงระบบแผนที่นำทางแบบ 3 มิติ Hard-disk Navigation นอกจากนี้ ยังแสดงภาพให้กับระบบช่วยการนำรถเข้าจอดอัตโนมัติ Active Parking Assist ซึ่งทำงานร่วมกับกล้องมองภาพขณะถอยจอด และเซนเซอร์กะระยะช่วยจอด PARKTRONIC
ระบบปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติแยกส่วนการควบคุมอุณหภูมิ แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าทำไมถึงไม่ใส่ช่องแอร์สำหรับที่นั่งแถว 2 และ 3 บริเวณคอนโซลกลางมีปุ่มควบคุมหน้าจอกลาง Touchpad ระบบเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth, ระบบเชื่อมต่อ Smartphone Integration, ระบบเชื่อมต่อรถยนต์ Mercedes me connect, ระบบโทรช่วยเหลือฉุกเฉิน Emergency Call System, ระบบวิเคราะห์สภาพรถยนต์ Telediagnostics / ตั้งค่ารถยนต์ และฟังก์ชั่นสตาร์ทเครื่องยนต์ เพื่อเปิดระบบปรับอากาศด้วยมือถือ Remote Engine Start
ขุมพลังจิ๋วแต่แจ๋ว ในรูปแบบของเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบแบบ 4 สูบแถวเรียง ขนาด 1.3 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 163 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร ที่ 1,620 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ Dual Clutch 7G-DCT 7 จังหวะ อัตราสิ้นเปลือง 15 กม./ลิตร
ระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังเป็นมัลติลิงค์ มาพร้อมเหล็กกันโคลง
ช่วงทดลองขับในครั้งนี้ใช้เส้นทางไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก แต่ก็พอให้ได้รู้ถึงสมรรถนะการใช้งานของรถคันนี้ การใช้งานในโหมดขับขี่ที่มีอยู่ตอบสนองการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เริ่มกันที่เบาะนั่งแถว 3 ที่ถือเป็นจุดเด่นประจำรุ่น พื้นที่ส่วนนี้อาจไม่เหมาะกับผู้โดยสารที่มีส่วนสูงเกิน 175 ซม. เพราะต้องชันเข่าพอสมควร ระยะทางไกลอาจทำให้เมื่อยล้าในเวลาที่รวดเร็ว แต่ถ้าความสูงไม่ถึง อาจจะใช้งานได้ปกติ แต่อันที่จริง ควรเป็นพื้นที่ของเด็กๆมากกว่า
ส่วนเทคโนโลยีหน้าจอทั้งชุดมาตรวัดและจอทัชสกรีน ใช้งานไม่อยาก เพียงแต่ต้องสร้างความเคยชิน คุณก็สามารถเลือกใช้งานฟีเจอร์ต่างๆได้ง่ายด้วยหลายวิธีสั่งการ
ระบบช่วงล่างปรับเซ็ทให้ทำงานได้ลงตัวกับขุมพลังที่จี๊ดจ๊าด ออกแบบให้ความนุ่มหนึบในสไตล์ของรถเอสยูวีหรู นอกจากนี้ ฟังค์ชั่น Dynamic ถือเป็นจุดเด่นสำหรับการใช้พลังจากเครื่องยนต์ นน.พวงมาลัย รวมถึงระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ซึ่งพอจะสรุปการใช้งานโหมดต่างๆได้ดังนี้
โหมด ECO เครื่องยนต์จะปลดปล่อยพลังเพื่อความประหยัด แต่ไม่ใช่ว่าอืดอาดไม่ทันใจ นน.ของพวงมาลัยปรับให้มีความหนืดต่ำ เพื่อการควบคุมที่สะดวกสบาย ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวให้การตอบสนองได้เร็วที่สุด เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ
โหมด Comfort เมื่อใช้งานโหมดนี้ เครื่องยนต์จะปล่อยรอบเพิ่มอีก 500 รอบ/นาที การใช้อัตราเร่งก็ตอบสนองได้ไวยิ่งขึ้น พวงมาลัยหนืดกว่าเดิมชัดเจน แต่ก็บังคับควบคุมรถได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องของเสถียรภาพการทรงตัวนั้นแทบไม่ต่างไปจากเดิมสักเท่าไหร่นัก
โหมด Sport เครื่องยนต์จะเพิ่มกำลังอัตโนมัติให้อีก 500 รอบ พวงมาลัยหนืดขึ้นกว่าเดิมชัดเจน และระบบควบคุมสเถียรภาพทำงานเต็มกำลัง และเมื่อไหร่ก็ตามที่ถอนคันเร่ง เสียงรอบเครื่องยนต์ครางชัดเจน เพื่อกรณีที่ต้องการใช้ความเร็ว จะตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว
หากสรุปเรื่องราวของ Mercedes GLB 200 Progessive เอสยูวีหรู 7 ที่นั่งรุ่นแรกคันนี้ เริ่มจากแพลทฟอร์มที่ใช้ร่วมกับ GLA และ GLC นั้นถือว่าไม่ใช่ฌโรงสร้างที่มีขนาดใหญ่ การนำมาเป็นรถ 7 ที่นั่ง สำหรับเบาะแถว 3 อาจจะเข้าออกได้ไม่สะดวก รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับคนตัวเล็ก หรือ เด็ก น่าจะเหมาะสมกว่า อีก 2 เรื่องที่น่าจะติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานนั่นคือช่องระบายความเย็นสำหรับผู้โดยสารแถว 2 กับ แถว 3 รวมถึงฟีเจอร์ของยุคสมัยอย่างระบบรักษาความเร็วอัตโนมัติตามรถคันหน้าหรือระบบเตือนพร้อมดึงกลับเมื่อรถออกนอกช่องทาง
แต่ประเด็นเรื่องสมรรถนะที่มาจากขุมพลังจิ๋วแต่แจ๋ว ในบลอคของเครื่องยนต์ 1.3 ลิตร 163 แรงม้า ที่เลือกสนุกกับ โหมด Dynamic และเทคโนโลยีหน้าจอที่แสดงผลรวมถึงสั่งการระบบต่างๆ ก็มีดีพอที่จะทำให้ราคาค่าตัว 2.86 ล้านบาทนั้นสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น