Sunday, December 22, 2024
HomeAuto Testเดินทางย่ำแดนจิงโจ้ ขับ “Ford Ranger Raptor” เพื่อหาคำตอบ คุ้มหรือไม่ ทำไมต้อง Raptor? (ภาพ+คลิปวีดีโอ)

เดินทางย่ำแดนจิงโจ้ ขับ “Ford Ranger Raptor” เพื่อหาคำตอบ คุ้มหรือไม่ ทำไมต้อง Raptor? (ภาพ+คลิปวีดีโอ)

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ Ford สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการรถปิกอัพด้วยการเปิดตัว Ford Ranger Raptor เป็นปิกอัพที่ได้รับการพัฒนาจาก DNA ของแผนก Ford Performance ที่มีต้นสายธารจาก Ford F150 ปิกอัพตันครึ่งตัวใหญ่ในตลาดสหรัฐอเมริกา ครั้งนั้นเรียกกระแสฮือฮา ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสเปครถที่เปลี่ยนแปลงไปจาก Ranger อย่างที่ กูรู ในแวดวงออฟโรด บอกว่า มันแทบจะเป็นปิกอัพคนละคันกันเลยทีเดียว!!!

การเปลี่ยนแปลงจาก Ranger มาสู่ Raptor นั้น Autoworldthailand รายงานไปแล้ว ย้อนกลับไปดูข้อมูลเต็มๆได้ แต่เพื่อไม่ให้เสียเวลา ขอสรุปจุดสำคัญไว้ให้ตรงนี้

เริ่มที่กระจังหน้าใหม่ดุดัน แก้มข้างรถคู่หน้าแบบใหม่ตีโป่งขึ้นมาคลุมล้อขนาด 17 นิ้วและยาง All-terrain BF Goodrich ขนาด 285/70 R17 ดีไซน์มาสำหรับใช้กับ Raptor โดยเฉพาะ เช่นดัยวกับซุ้มล้อหลังที่ตีโป่งขึ้นมารับกันรองรับระยะยุบตัวของโช๊คอัพที่เพิ่มมากขึ้น บันไดข้างออกแบบเพื่อป้องกันไม่ให้เศษหินกระแทกกับตัวถังรถด้านหลัง

โครงสร้างภายนอกนั้นเพิ่มความสูงใต้ท้องเครื่องถึง 283 มิลลิเมตร ระยะช่วงล้อหน้าและล้อหลังที่กว้างขึ้น 150 มิลลิเมตร มาจากการนำแชสซีส์เดิมมาเพิ่มความแกร่งและใหญ่ ผลิตจากเหล็กอัลลอย HSLA (High-Strength Low-Alloy) เกรดต่างๆ เสริมความแข็งแรงด้านข้างของแชสซี (side-rails) เพื่อรองรับแรงกระแทกที่เกิดจากการขับขี่ด้วยความเร็วสูง

ระบบช่วงล่างหน้ามีปีกนกที่ทำจากอะลูมิเนียม โดยปีกนกบนทำด้วยวิธีการฟอร์จและปีกนกล่างใช้วิธีการหล่อ ติดตั้งแผงกันกระแทกด้านล่างเพื่อช่วยปกป้องห้องเครื่อง ผลิตจากเหล็กกล้า (High-strength steel) มีความหนา 2.3 มิลลิเมตร โช้คแบบ Position Sensitive Damping (PSD) แบรนด์ “Fox Racing Shox” ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษโดยใช้ลูกสูบขนาด 46.6 มิลลิเมตร ทั้งคู่หน้าและหลัง ระบบกันสะเทือนหลังแบบใหม่รวมถึงระบบวัตต์ลิงค์และสปริงคอยล์โอเวอร์ช็อคทำให้เพลาเคลื่อนที่อย่างมั่นคง

เครื่องยนต์ดีเซลใหม่แบบ Bi-Turbo (เทอร์โบคู่) ขนาด 2.0 ลิตร 213 แรงม้า (157 กิโลวัตต์) และแรงบิดที่มากถึง 500 นิวตันเมตร ทำงานร่วมกับการถ่ายทอดกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด (ชุดนี้ใหม่หมดเมื่อตอนเปิดตัวครั้งแรก แต่ตอนนี้ถูกนำไปใช้กับ Ranger รุ่นปรับโฉมใหม่เป็นที่เรียบร้อย)

ภายในห้องโดยสารจะมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดที่เพิ่มความเป็นเอกลักษณ์ เช่น เบาะนั่งบักเก็ตซีท ปักชื่อ Raptor แผงหน้าปัดหุ้มหนังเดินด้ายตะเข็บคู่สีฟ้า มีแป้น paddle shief ที่พวงมาลัยให้เล่นเกียร์ได้ด้วยตัวเอง เท่านี้ก็ทำให้อารมณ์เปลี่ยนจาก Ranger ธรรมดา ไปโขแล้วครับ

ว่ากันว่ามูลค่าของการเปลี่ยนแปลงนั้น ถ้าจับ Ranger ไปแต่งเองให้ได้ตามนี้ต้องมีไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท (อันนี้ผมฟังกูรูออฟโรดกระซิบมา) Ford เปิดราคา เปิดรับจองกันไปก็เมื่อเมษายนในงานมอเตอร์โชว์ที่ราคา 1.699 ล้านบาท สูงกว่า Ranger ตัวท๊อป Wildtrack ประมาณ 400,000 บาท เป็นปิกอัพที่แพงที่สุดในตลาด แต่กลับได้รับการตอบรับจากตลาดอย่างดี มีรายงานระบุว่า Raptor จากโรงงาน FMT ในไทยซึ่งประกอบป้อนในไทยและส่งออก มีโควตาให้ตลาดในไทย ปีละ 2,500 คัน ในปีแรกนั้น “หมด”แล้ว

ทำไม Raptor เป็นปิกอัพแพงสุด แต่หลายคนบอกว่าคุ้ม
ทำไม Ford กล้าหาญพอที่จะเปิด segment ใหม่ให้กับตลาดปิกอัพเมืองไทย

มาหาคำตอบจากรายงานการทดลองขับ Raptor ที่ผมได้รับเชิญไปร่วมคณะสื่อมวลชน ปอกเปลือก Raptor ในทุกสภาพถนน ที่เมือง ดาร์วิน ออสเตรเลีย ครับ

ดาร์วิน อยู่ที่ตอนบนสุดของ ออสเตรเลีย ห่างจาก ซิดนี่ย์ ประมาณ 4 ชัวโมงบิน ภูมิประเทศหลักของที่นี้เป็นหินทรายทุ่งหญ้ากว้างขวางสุดลูกหูลูกตา เขตนี้ค่อนช้างอุดมสมบูรณ์มีแม่น้ำใหญไหลผ่าน และที่น่าสนใจคือมี จระเข้เป็นสัญลักษณ์ของเมือง ถ้าใครที่อายุ 40 ขึ้นไปจะจำภาพยนตร์ Crocodile Dundee เรื่องราวของหนุ่มบ้านนอกนักล่าจระเข้ ที่มีอันต้องไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่นิวยอร์ค เหมือนบ้านนอกเข้ากรุงทำนองนี้ เป็นหนังที่โด่งดังมากในปี 1986 และ Dundee มาจากเมืองทางเหนือนี่เอง

หลังจากเดินทางไกลเอาการจากกรุงเทพมาถึงคาร์วิน เรามีโปรแกรมสำหรับการทดลองขับ Raptor 1วันเต็ม เป็นหนึ่งวันที่ได้ขับ Raptor ทุกสภาพถนนจริงๆ หลังจาก Brief เส้นทางและแนะนำรถให้รู้จักกันอีกครั้ง เราก็พร้อมเดินทาง ผมจับคู่กับ ลำยอง ปกป้อง นักข่าวหญิงเก่งรุ่นใหญ่จากเดลินิวส์ เมื่อเข้านั่งประจำตำแหน่งกันแล้ว ตำแหน่งผู้ขับสามารถปรับเบาะนั่งไฟฟ้าให้พอเหมาะกับสรีระได้ง่ายๆ ส่วนผู้โดยสารเป็นแบบแมนวล ดึงๆ โยกๆนิดหน่อยก็ลงตัว

การเดินทางเป็นไปในรูปแบบคาราวาน มีรถทีมงานนำขบวนไปบนไฮเวย์ออนโรด ช่วงแรกเราได้สัมผัสถึงความง่ายดายในการควบคุม พวงมาลัยแน่นๆ แม่นยำ มีความนุ่มนวลจากระบบรองรับช่วยให้ขับได้อย่างสบายๆ โหมดการขับขี่ในช่วงแรกใช้แบบ 2H หรือขับเคลื่อน 2 ล้อมาตลอด

ที่น่าสนใจคือเครื่องยนต์เมื่อเดินทางด้วยความเร็วสม่ำเสมอที่ 100 กม./ชม.สังเกตที่หน้าปัดจะเห็นรอบเครื่องยนต์เลย 1500 รอบต่อนาทีมานิดเดียว ซึ่งถือว่าทำงานน้อยมากความประหยัดย่อมทำได้ดีแน่นอน แต่ในจังหวะต้องการเร่งความเร็ว แม้จะไม่ได้เดินคันเร่งมากมาย แต่พละกำลังของเจ้า Raptor ก็ตอบสนองมาได้เป็นอย่างดี

หลังจากขับบนไฮเวย์มาสักประมาณ 100 กม.เมื่อมาถึงช่วงถนนแยกเป็นถนนดำแคบโค้งซ้ายขวาขึ้นเนินเขา Raptor แสดงอาการเกาะถนนให้เราเข้าโค้งได้อย่างเนียนๆ จนมาถึงแยกเข้าถนนส่วนบุคลเข้าในเขตพื้นที่ไร่ปศุสัตว์ สภาพถนนเป็นเส้นทางลูกรังเรียบในเขตปศุสัตว์ที่เป็นถนนปิด ทีมงานบอกว่าทำความเร็วได้ไม่เกิน 160 กม./ชม.ผมก็ทดลองตามนั้นแต่ปรับโหมดขับเคลื่อนเป็น 4H ขับ 4 ล้อที่ความเร็วสูงได้

Raptor พาผมลุยฝุ่นไปได้เหมือนกับวิ่งบนถนนดำทีเดียว หมายความว่าช่วงล่างรองรับได้ดีมากบางช่วงมีร่องน้ำ และ เนินเล็กๆ ที่ทำให้ต้องชะลอความเร็ว แต่พอผ่านไปโดยแทบจะได้รับอาการสะเทือนมากนัก หลังจากนั้นผมก็ “รูด” ตลอดเรียกว่ายิ่งเห็นร่องยิ่งเข้าหา กลายเป็นว่าสนุกไปเลย ยิ่งในช่วงโค้งกว้างๆรถจะมีอาการท้ายปัดเล็กๆยิ่งเพิ่มความสนุก


มาถึงช่วงทดสอบพิเศษ
สถานีทดสอบเฉพาะการขับขี่ที่หลากหลายในรูปแบบออฟโรด มี ระบบ Terrain Management System (TMS) เข้ามาช่วย ถึง 4 โหมดคือ

-โหมดหญ้า/กรวดหิน/หิมะ ออกแบบมาให้ขับขี่บนทางออฟโรดที่มีพื้นผิวลื่นและเป็นหลุมบ่อ โดยระบบจะทำการเปลี่ยนเกียร์อย่างนุ่มนวลขึ้นพร้อมทั้งออกตัวด้วยเกียร์ที่สอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดอัตราการลื่นไถลของล้อรถ


-โหมดโคลน/ทราย ระบบจะปรับการตอบสนองของระบบควบคุมการลื่นไถลให้เหมาะสมกับพื้นผิวที่มีความลึกและสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้อย่างพื้นทรายและโคลน ด้วยการใช้เกียร์ต่ำที่มีแรงบิดสูง


-โหมดหิน ใช้เมื่อขับขี่บนพื้นผิวในเขตภูเขาที่ลาดชัน ต้องใช้ความเร็วต่ำ และเน้นการควบคุมรถให้ขับเคลื่อนอย่างช้าๆ


-โหมดบาฮา ระบบจะปรับการตอบสนองของเครื่องยนต์ให้เหมาะกับการขับขี่ออฟโรดด้วยความเร็วสูงเสมือนนักแข่งแรลลี่กลางทะเลทรายบาฮาอันเลื่องชื่อ โดยระบบป้องกันล้อหมุนฟรีจะถูกตัดการทำงาน เพื่อไม่ให้แทรกแซงการทำงานของเครื่องยนต์ รวมทั้งเกียร์จะถูกปรับให้มีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด ระบบจะค้างรอบเครื่องไว้นานขึ้นและเปลี่ยนเกียร์ลงได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม

เริ่มด้วยสถานีออฟโรด เส้นทางที่ถูกปั้นขึ้นมาเป็นลักษณะการไต่เขา 45 องศาขึ้นลง เอียงข้างซ้ายขวา พื้นผิวเป็นหิน ดินฝุ่นลื่นไถลได้ตลอดเส้นทาง ผมสามารถใช้โหมดหิน ควบคุม Raptor ไต่ทางชัน 45 องศา ขึ้นลงได้อย่างง่ายดาย แรงบิดมหาศาล 500 นิวตันเมตร เพียงเดินคันเร่งเบาๆ Raptor จะขึ้นเขาได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่ขาลงระบบจะช่วยควบคุมความเร็วให้รถเดินลงอย่างช้าโดยไม่ต้องเดินคันเร่งหรือเหยียบเบรกเพื่อป้องกันการเกิดอาการลื่นไถล คือระบบจะเข้ามาช่วยจนเหมือนเราเป็นมืออาชีพด้านออฟโรด และทำให้เข้าใจได้ว่าไม่มีสภาพถนนแบบอีกไหนอีกแล้วที่ Raptor จะไปไม่ได้

มาถึงสถานีครอสสคันทรี คราวนี้ ได้ทดสอบโหมด บาฮา อย่างเต็มอิ่ม ซึ่งโหมดนี้ระบบจะปรับการตอบสนองของเครื่องยนต์ให้เหมาะกับการขับขี่ออฟโรดด้วยความเร็วสูง ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีจะถูกตัดการทำงาน เพื่อไม่ให้แทรกแซงการทำงานของเครื่องยนต์ เส้นทางในสถานีนี้จะพิสูจน์ช่วงล่างของ Raptor อย่างแท้จริง เพราะมีทั้งทางโค้งที่มีฝุ่นหนาเป็นฟุต รอกลั่นแกล้งให้เกิดอาการลื่นไถลได้อย่างง่ายดาย มีหลุม มีบ่อน้ำ ที่ทางตรงยาว มีเนินบินที่ Instructor เรียกว่า เนิน “วู้วว์บอย” จะเป็นอย่างไรเดี๋ยวได้รู้กัน

ก่อนจะได้ลงสนามทดสอบจริง เรานั่งรถไปกับ Instructor เพื่อดูสภาพเส้นทางก่อน แต่เขาไม่ได้พาทัวร์เหมือนนักท่องเที่ยวนะครับ ทุกคนในรถรัดเข็มขัดนิรภัยเรียบร้อยแล้ว หมอก็พา Raptor ตะลุยทันที ทุกโค้งที่บอกลื่นๆมีอาการปัดท้ายให้แก้ไขตลอด แต่เขาสามารถเอารถกลับคืนได้อย่างง่ายในขณะที่ผมคิดเองว่าเขาเป็นมืออาชีพที่คุ้นเคยกับรถมานานอยู่ จึงควบคุมได้ไม่ยาก และ ไม่ได้เบามือกับโค้งหรือแม้แต่ช่วงที่ใส่มาเต็มๆเกิน 100 กม./ชม. ช่วงบินเนินที่เรียกว่า “วู้วว์บอย” นั่นก็เพราะทุกคนจะลอยไปกับรถจนต้องลั่นเสียง “วู้ววว” ออกมาเองโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง

หลังจากนั้นเป็นคิวที่เราจะได้ทดลองด้วยตัวเอง โดย Instructor นั่งไปด้วยเพื่อแนะนำการขับ ตอนแรกผมคิดว่าจะเอาแค่ประคอง Raptor พอให้จบ คงขับได้ไม่เหมือน Instructor เอาเข้าจริงๆ แล้ว เพียงโค้งแรกก็จับอาการได้ แล้วจากนั้นก็สนุกกับการเล่นโค้งแก้อาการโอเวอร์สเตียร์ จากความลื่นของพื้นผิวถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นอย่างง่ายๆ คราวนี้ก็สนุกสิครับ หลุมบ่อนี่เป็นเรื่องเล็ก อาการให้ตัวของช๊อคในภาวะที่ต้องซับแรงกระแทกหนักๆนั้นทำได้ดีมาก เมื่อลงบ่อก็สามารถคุมรถให้อยู่ในเส้นทางที่ต้องการไปได้อย่างเชื่องมือ ไม่กระโดดโลดแล่นเหมือนปิกอัพทั่วไป โดยเฉพาะช่วงต้องผ่านเนิน “วู้วว์บอย” ผมกล้าที่จะใส่ไปด้วยความเร็ว เพื่อรับรู้ถึงอาการบินแบบลอยทั้ง 4 ล้อและลงมาสัมผัสพื้นด้วยอาการนิ่งไม่มีการโยนตัวให้คุมรถยากแต่อย่างใด

3 เนินที่ต้องบินผ่านไปนั้นมีทั้งขึ้นตรงๆ และเอียงขึ้น Raptor ทำหน้าที่มอบความสนุกให้อย่างมั่นใจทุกครั้ง และ นั่นเป็นเรื่องของรถเกือบทั้งหมด ผมทำหน้าที่เพียงแค่เก็บเกี่ยวความสนุกในตัวเท่านั้นเอง

ตลอดทั้งวันกับ Raptor ในทุกสภาพการขับขี่ ทุกสภาพผิวถนน ผมบอกได้เลยว่าปิกอัพคันนี้ เป็นของเล่นที่มีคุณค่า ขับง่าย ขับสนุกมากเท่าที่ต้องการ นั่นเป็นคำตอบที่ผมค้นหาได้จากหลายคำถามที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และคำถามที่สำคัญสุดคือ คุ้มหรือไม่กับค่าตัว 1.699 ล้านบาท ผมบอกได้เลยว่าคุ้มมาก Raptor เป็น SUV ในรูปร่างของ ปิกอัพ มากกว่าจะเป็น ปิกอัพทั่วไป นั่นคือคำตอบสุดท้ายครับ

RELATED ARTICLES

Most Popular