Friday, November 8, 2024
HomeAuto Newsกสอ. ผนึกโตโยต้า เปิดตัวพี่ช่วยน้อง “ธุรกิจชุมชนพัฒน์” นำระบบคาราคุริและไคเซ็น เพื่อเสริมศักยภาพโอทอปและเอสเอ็มอีไทย

กสอ. ผนึกโตโยต้า เปิดตัวพี่ช่วยน้อง “ธุรกิจชุมชนพัฒน์” นำระบบคาราคุริและไคเซ็น เพื่อเสริมศักยภาพโอทอปและเอสเอ็มอีไทย

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ผนึกความร่วมมือกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดศูนย์เรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (กล้วยน้ำไท) ภายใต้โครงการ Big Brother หรือ พี่ช่วยน้อง ที่จะร่วมมือกันเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนา ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC) ให้เป็นศูนย์ฯขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายครบวงจร ได้แก่ กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มดิจิทัลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง โดยการนำระบบ “คาราคุริ” กลไกอัจฉริยะจากญี่ปุ่นที่โตโยต้าใช้เพิ่มผลิตภาพ ในกระบวนการผลิตมาถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ พร้อมทั้งยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใน 4 ภูมิภาค ให้เป็นวิสาหกิจและหมู่บ้านต้นแบบของประเทศไทย ด้วยหลักการ “ไคเซ็น”

นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ล่าสุด กสอ. ได้ผนึกกำลังร่วมกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการร่วมมือเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC) และโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ซึ่งมุ่งสนับสนุนกลไกที่จำเป็นต่าง ๆ ให้แก่เอสเอ็มอี และโอทอป เพื่อการยกระดับศักยภาพในหลากหลายด้าน พร้อมทั้งการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มาถ่ายทอดประสบการณ์จริง เพื่อเป็นแนวทางไปสู่การเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถเติบโตและดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพในหลากหลายมิติ

ทั้งนี้ ยังได้ร่วมกันเปิด “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (กล้วยน้ำไท) เพื่อขับเคลื่อน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

  • กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกล ที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม
  • กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว
  • กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง


โดยโตโยต้าจะให้ความช่วยเหลือด้วยการนำองค์ความรู้ในการทำธุรกิจที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่ วิถีโตโยต้า (Toyota Way) และระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System) และปรัชญาลูกค้าเป็นที่หนึ่ง (Customer First) มาถ่ายทอดเพื่อพัฒนาศักยภาพให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ พร้อมมุ่งเน้นให้มีการปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐาน สามารถแข่งขันได้ทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ และราคา นอกจากนี้ยังจะมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทุกกระบวนการจัดการ ซึ่งมั่นใจว่ากลไกความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นส่วนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น พร้อมเชื่อมโยงการตลาดและการทำการค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างมีศักยภาพในอนาคต

ด้านนายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ ได้สนับสนุนสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านโครงการ Big Brother หรือ “พี่ช่วยน้อง” ซึ่งนำองค์กรเอกชนขนาดใหญ่มาผนึกกำลังความช่วยเหลือ ถ่ายทอดนวัตกรรม ความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ ในการทำธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “SMEs ยุค 4.0” โดยโตโยต้าได้ใช้ประสบการณ์จริงนำความรู้ทางวิชาการและความรู้เชิงขั้นตอนของโตโยต้ามาสนับสนุนใน 2 โครงการดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 1. ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center: ITC) โตโยต้าได้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 3 แห่ง ในกรุงเทพฯ ชลบุรี และนครราชสีมา ที่ให้ข้อมูลในเรื่องระบบการผลิตแบบโตโยต้าและการประยุกต์ใช้กับธุรกิจ ซึ่งเป็นนิทรรศการเพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าศึกษาหลักการปรับปรุงธุรกิจและแนวทางการบริหารจัดการตามแนวปฏิบัติของโตโยต้า รวมถึงตัวอย่างการปรับปรุงธุรกิจชุมชนต่าง ๆ ภายใต้โครงการ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงวิธีการไคเซ็นกระบวนการผลิตด้วย กลไกอัติโนมัติ Karakuri หรือ การใช้กลไกพื้นฐาน เช่น รอก พื้นเอียง คาน ฯลฯ มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เพื่อลดการใช้พลังงาน และค่าใช้จ่าย

    2. หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village: CIV) โตโยต้านำประสบการณ์ จาก โครงการโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ เข้ายกระดับหมู่บ้านที่มีศักยภาพ 4 แห่ง ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบ โดยจะร่วมกับเจ้าหน้าที่ของโครงการเข้าเป็นพี่เลี้ยงในการถ่ายทอดหลักการไคเซ็นแก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์หลักของชุมชน ตลอดจนการจัดอบรมผู้ฝึกสอนเพื่อให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาและขยายผลการนำไปประยุกต์ใช้แก่หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสมต่อไป อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การขยายผลทางการท่องเที่ยวของชุมชนในอนาคต


โดย นายวุฒิกร กล่าวปิดท้ายว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การร่วมมือระหว่าง กสอ. และโตโยต้าในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทย ให้สามารถแข่งขันและพึ่งพาตนเอง เตรียมความพร้อมสู่การเป็น SMEs 4.0 ได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งโตโยต้ายังคงจะเดินหน้าขยายผลโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อการสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ดี กสอ. และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยังได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 และโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” พร้อมเปิดศูนย์ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ณ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล้วยน้ำไท กรุงเทพฯ

RELATED ARTICLES

Most Popular