ยนตกรรมอเนกประสงค์ในกลุ่ม (Premium Crossover MPV) นำเข้าทั้งคันจากอินโดเนเซีย ลบภาพเดิมจากรุ่นก่อนหน้าทิ้งไปให้หมด ก่อนที่จะอัดแน่นด้วยดีไซน์ทันสมัย พร้อมความสะดวกสบายครบครัน มากับสมรรถนะเกินตัวซึ่งให้ความประทับใจ และมั่นใจได้ตลอดการขับขี่ ล่าสุด TOYOTA INNOVA CRYSTA สามารถเข้าไปครองใจผู้ใช้รถชาวไทยและกวาดยอดจำหน่ายทะลุเป้าที่วางไว้ 600 คันไปเรียบร้อย
ข้อมูลหลังจากทดลองขับบนเส้นทางกรุงเทพ-เขาใหญ่ ทำให้พอสังเขปได้ว่ารถคันนี้มีความสมบูรณ์แบบกว่ารุ่นที่ผ่านมา เรียกได้ว่า “หนังคนละม้วน” เพราะเหตุใด และ ทำไม ซึ่งจะเป็นจริงอย่างว่าหรือไม่ www.autoworldthailand.com มีรายงาน
การกลับมาของยนตรกรรมในเซกเมนต์ MPV แน่นอนว่าต้องเกิดจากการพัฒนาให้ได้มาโดยมีความพอใจของผู้บริโภคเป็นเดิมพันเพื่อยึดตำแหน่งหัวแถว และดูเหมือนว่า All NEW TOYOTA INNOVA CRYSTA ซึ่งนำเข้าทั้งคันจากประเทศ อินโดเนเซีย จะตอบโจทย์ของปัญหาเหล่านั้นได้อย่างลงตัวยิ่งขึ้น จากการเป็นรถยนต์ที่ให้ความอเนกประสงค์ด้วยมิติตัวถังที่กว้างขวาง สะดวกสบาย ตามขนาดความยาว 4,735 มม. กว้าง 1,830 มม. และสูง 1,795 มม.
TOYOTA INNOVA CRYSTA มากับภาพลักษณ์ที่หรูหราผสมรวมกับความสปอร์ตของสเกริต์รอบคัน โดดเด่นด้วยไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ติดตั้งหลอดแอลอีดีและไฟเดย์ไทม์รูปแบบคล้ายคลึงกับ Revo พร้อมกระจังหน้ารูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดใหญ่ ติดตั้งสปอร์ตไลท์ไว้ที่มุมกันชนทั้ง 2 ฝั่ง
ประตูเปิดเข้าห้องโดยสารยังคงเป็นในรูปแบบเดิม ไม่ได้รับการติดตั้งระบบไฟฟ้าอย่าง Sienta แต่อย่างใด ในส่วนของมุมมองด้านหลังอาจดูเทอะทะไปสักนิด แต่ก็มีการนำไฟทับทิมขนาดใหญ่ติดตั้งไว้เกือบเต็มฝาท้าย ซึ่งทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมองเห็นได้อย่างชัดเจน รถที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้ล้วนเป็นตัวท๊อพรุ่น 2.8 V ติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว ส่วนอีก 2 รุ่นย่อยคือ 2.8 G และ 2.0 E จะเป็นขนาด 16 นิ้ว
ภายในกว้างขวาง เสริมความหรูด้วยด้วยลายไม้และไฟส่องสว่างในห้องโดยสารแบบซ่อนฝ้า PREMIUM ILLUMINATION LED ใกล้เคียงกับรถยุโรปที่มีการตกแต่งในรูปแบบ Ambient Light
คอนโซลกลางดีไซน์หรู เสมือนยกชุดมาจากรถยนต์เซกเมนต์อื่นๆที่โตโยต้าผลิตขึ้น มีชุดมาตรวัดเรืองแสง Optitron พร้อมจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID หน้าจอสีแบบ TFT พวงมาลัยเป็นแบบมัลติฟังค์ชั่นหุ้มหนังพร้อมติดตั้งสวิทช์ควบคุมระบบต่างๆทั้งระบบความบันเทิง และครูสคอนโทรล รวมถึง Push Start เพื่อความสะดวก
เบาะนั่งนอกจากปรับเปลี่ยนได้หลากรูปแบบ สำหรับเบาะคนขับปรับด้วยไฟฟ้าได้ 8 ทิศทาง ในส่วนของแถวที่ 2 เป็นแบบ Captain Seatเพิ่มความสะดวกสบายด้วยที่พักแขนพร้อมติดตั้งระบบปรับพับเบาะจังหวะเดียว 1-Touch Tumble
เบาะแถวที่ 3 ในอดีตแทบจะใช้งานไม่ได้ หากจำเป็นต้องใช้งานจะเหมาะกับเด็กเล็กหรือคนที่มีความสูงไม่มากนัก เนื่องจากหัวเข่าจะไปชนกับเบาะนั่งแถวที่ 2 หรือไม่ก็ทำได้เพียงเป็นที่เก็บสัมภาระ แต่การปรับปรุงในครั้งนี้ จากมิติตัวรถที่ยาวขึ้นกว่าเดิม ทำให้ส่วนสูงกว่า 170 ซม.สามารถนั่งได้สบายโดยไม่มีปัญหาให้กวนใจหรือสร้างความเมื่อยล้าในการเดินทางไกล แถมยังเหลือพื้นที่ในการเก็บสัมภาระ
ระบบเครื่องเสียงใน TOYOTA INNOVA CRYSTA ควบคุมผ่านหน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว พร้อมรองรับระบบดีวีดี เนวิเกเตอร์ และ T-CONNECT มาพร้อมช่องเสียบ USB เชื่อมต่อทุกความบันเทิงเต็มรูปแบบ ทั้งยังมีการเพิ่มวัสดุซับเสียงและแผ่นยางกันเสียงรอบคัน เพื่อเพิ่มสุนทรียในการเดินทางสะท้อนความเป็นรถอเนกประสงค์ได้อย่างลงตัว
แน่นอนว่าห้องโดยสารที่ถูกขยายใหญ่ขึ้น ทางวิศวกรจากค่ายผู้ผลิตจึงทำการเพิ่มเติมในส่วนของการกระจายความเย็น ติดตั้งระบบปรับอากาศแยกส่วนหน้า-หลัง แบบดิจิตอล ส่งลมเย็นไปให้กับผู้โดยสารทุกตำแหน่ง และในด้านความปลอดภัยของห้องโดยสาร TOYOTA INNOVA CRYSTA ได้รับการติดตั้งถุงลมนิรภัยถึง 7 จุด ซึ่งผ่านมาตรฐาน ASEAN NCAP ระดับ 5 ดาว
การทดสอบครั้งนี้รถทุกคันเป็นรุ่นท๊อพเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบแปรผัน รหัส 1GD-FTV ขนาด 2.8 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 174 แรงม้า เทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ใน REVO และ FORTUNER โดยปรับลดแรงบิดลงให้เหลือเพียง 360 นิวตันเมตร แต่อัพเกรดโปรแกรมจากกล่องอีซียูเพื่อให้ได้พละกำลังที่มาเร็วขึ้นในรอบเครื่องยนต์เพียง 1,200-3,400 รอบ/นาที
ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ โดยปรับแต่งส่วนของโอเวอร์ไดรฟ์ในตำแหน่งเกียร์ 5 และ 6 พร้อม Sequential Shift ที่เลือกลด หรือ เพิ่ม เพื่อการขับขี่ที่สนุกสนานในรูปแบบเกียร์ธรรมดา
สิ่งที่น่าสนใจและทำงานร่วมกับเครื่องยนต์คือโปรแกรมการขับขี่ในรูปแบบของ Drive Mode Switch ตอบสนองทั้งแบบประหยัด Eco Mode หรือเลือกเต็มสมรรถนะไปกับ Power Mode
ระบบช่วงล่างจัดว่าเด็ด ด้านหน้าเป็นแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น ติดตั้งคอยล์สปริงพร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบโฟร์ลิงค์ มากับคอยล์สปริงพร้อมคานแข็ง ซึ่งพัฒนามาโดยเฉพาะ โดยเปลี่ยนลูกสูบในกระบอกโช๊คอัพให้มีขนาดใหญ่ และเปลี่ยนจุดยึดใหม่ที่เหมาะสมยิ่งขึ้น
ในส่วนของความปลอดภัย นอกจากและระบบถุงลมเสริมความปลอดภัย 7 จุด,โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA,ระบบเบรก ABS, ระบบควบคุมการทรงตัว VSC และระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC ยังได้รับติดตั้งระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill-start Assist Control รวมถึงกล้องมองหลังปรับมุมมองได้ 3 รูปแบบ
หลังจากบรีฟข้อมูลคร่าวๆ ก่อนเดินทางยังได้วอร์มอัพและสร้างความคุ้นเคยกับ TOYOTA INNOVA CRYSTA ในสนามทดสอบของ Toyota Driving Experience Park โดยจัดสถานีต่างๆไว้เพื่อทดสอบอัตราเร่ง การบังคับควบคุมในส่วนของระบบ VSC และ ทดลองระบบป้องกันล้อหมุนฟรีไปในขณะเดียวกัน ถือว่าเป็นการลองแบบจริงจังครั้งแรกบนสนามที่มีความปลอดภัยสูง เพราะคงไม่มีใครอยากลองบนถนนจริงแน่ๆ พื้นผิวที่ได้ทดสอบเป็นกระเบี้องที่มีน้ำเจิ่งนองเต็มพื้นที่ ระบบทั้ง 2 ทำงานร่วมกันอย่างสมเหตุสมผล หากเสียการทรงตัว และล้อหมุนฟรี เครื่องยนต์จะตัดการทำงานออกทันที แต่ยังเหลือกำลังพอให้รถเคลื่อนตัวไปได้
การบังคับควบคุมรถให้ไปตามทิศทางสำหรับขับขี่แบบสลาลอม พวงมาลัยไฟฟ้าที่ใช้กับ TOYOTA INNOVA CRYSTA อาจถุกปรับเซ็ตมาไม่เหมือนกับรุ่นก่อนๆ ซึ่งต้องสร้างความคุ้นเคยกันเล็กน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะมีช่วงฟรีเยอะจนผิดวิสัยและทำให้ลดทอนการบังคับควบคุมที่แม่นยำแต่อย่างใด สรุปสั้นว่าความคมอาจลดลงไปบ้างซึ่งถือว่าพอรับได้
ด้านการทดลองในรูปแบบการเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน รวมถึงสภาพพื้นผิวขรุขระ ผมเริ่มสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของช่วงล่างโดยเฉพาะ “โฟว์ลิงค์” และการอัพเกรดระบบรองรับ ระยะทางเพียงน้อยนิดแต่ก็ยังสามารถรับรู้ได้ถึงความนุ่มนวลและยึดเกาะ แม้สภาพพื้นผิวที่จำลองการขับขี่ในสภาพเส้นทางทุรกันดารยังไม่เป็นปัจจัยทำให้รถคันนี้แข็งกระด้าง หรือ โยนตัว
เสร็จสิ้นการทดลองในสนามทดสอบ ถึงเวลาที่ต้องใช้งานจริงบนถนนหลวง เส้นทางในครั้งนี้ผู้จัดงานเริ่มต้นการทดสอบจากบางนา โดยมีปลายทางอยู่ที่เขาใหญ่ ใช้เส้นทางหลวงมอเตอร์เวย์ ผ่านโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ มุ่งตรงสู่ปราจีนบุรี แล้วขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก่อนจบปลายทางที่โรงแรมดุสิตD2 บริเวณอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เส้นทางทั้งหมดร่วม 300 กม.
160 กิโลเมตรโดยประมาณคือเส้นทางที่ได้ควบคุมรถคันนี้อย่างเต็มอิ่ม ทั้งในสภาพการจราจรของเมืองหลวงที่หนาแน่น รวมถึงการสัญจรไปมาที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนต่างจังหวัด มาดูกันที่การบังคับควบคุมก่อนอันดับแรก เพราะจะเอาฟิลลิ่งจากสนามทดสอบมาเป็นบรรทัดฐานคงไม่เหมาะสมกับสภาพการใช้งานจริง
น้ำหนักของพวงมาลัยในรอบต้นถือว่าหน่วงไปนิด แต่พอรอบกลางเริ่มเข้าที่และกระชับ รวมถึงเบามือกว่าเดิม แน่นอนว่าการออกแบบบางส่วนมาจากวิศวกรของประเทศอินโดเนเซีย เพราะฉะนั้นรูปแบบนี้ชาวอิเหนาอาจจะถูกใจ แต่ถ้าเป็นคนไทยก็ใช่ว่าจะรับไม่ได้ อย่างที่บอกไว้ถ้าหากคุ้นชินกับการควบคุม คุณก็จะบังคับรถคันนี้ได้แม่นยำและไปตามทิศทางที่กำหนดได้อย่างสบายๆ
มาถึงเรื่องของอัตราเร่ง เครื่องยนต์ที่ได้รับการปรับแต่งและถุกนำมาวางในบอดี้ของรถเอมพีวีที่เน้นความอเนกประสงค์สำหรับครอบครัวหรือนักธุรกิจสมัยใหม่ ไม่จำเป็นต้องเร็ว หรือ แรงมากนัก เพียงแค่สนองต่อความต้องการของผุ้ขับขี่ได้ดี และมีอัตราสิ้นเปลืองที่คุ้มค่า
ขุมพลังดีเซลรหัส1GD-FTV ขนาด 2.8 ลิตร ที่ประจำการอยู่ใน TOYOTA INNOVA CRYSTA ถือว่าได้รับการอัพเกรดมาได้อย่างโดนใจ รอบเครื่องยนต์เพียง 2,000 รอบ สามารถทำความเร็วซึ่งแสดงบนแผงหน้าปัดได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และทำอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยได้กว่า 14 กิโลเมตรต่อลิตร ในช่วงเร่งแซงถึงแม้ว่าจะเป็นระบบคันเร่งไฟฟ้าแต่ก็ไม่ต้องรอรอบ สามารถคิกดาวน์ได้โดยมีการประมวลผลจากกล่องอีซียูที่แม่นยำ หรือจะใช้โหมดขับขี่ที่ Drive Mode Switch โดยเลือก Power Mode เครื่องยนต์ก็จะสำแดงฤทธิ์เดชในรูปแบบห้าวหานได้อย่างน่าหวั่นเกรง
ช่วงล่างและระบบรองรับ…หากใครได้ลองเป็นต้องติดใจ การเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงหรือกระโดดคอสะพาน การยึดเกาะรวมถึงการยืด-ยุบของโช๊คอัพและสปริง ได้รับการออกแบบมาอย่างมีประสิทธิภาพ นักทดสอบรถในเมืองไทยแทบทุกรายที่เข้าร่วมทดสอบต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน “โฟร์ลิงค์” ที่ได้รับการติดตั้งในส่วนช่วงล่างด้านหลังทำงานได้สัมพันธ์กับปีกนกคู่หน้า จนเป็นที่มาของการยึดเกาะและนุ่มหนึบ ประเด็นสำคัญซึ่งทำให้คลายความเหนื่อยล้าและมีความสุขกับการขับขี่สำหรับการเดินทางไกล
สิ่งที่อยากรู้อีกหนึ่งเรื่องคือเสียงลมที่เร็ดรอดเข้าสู่ห้องโดยสาร ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของรถในเซกเมนต์นี้ แทบทุกรุ่น และทุกค่าย ต่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กันทั้งนั้น เช่นเดียวกับ TOYOTA INNOVA CRYSTA แต่เสียงที่เร็ดรอดเข้ามานั้นเริ่มมีในช่วงรอบความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สาเหตุมาจากกระจกมองข้างที่ออกแบบมาค่อนข้างใหญ่ สำหรับผมนั้นถือว่ารับได้ เพราะไม่บ่อยครั้งที่จะทำความเร็วเกินนี้ ถ้าไม่จงใจฟังหรือปิดเครื่องเสียงที่ขับกล่อม คงแทบจะจับผิดไม่ได้เลยทีเดียว
สุดท้ายถึงเวลาทดสอบในฐานะผู้โดยสาร เบาะนั่งแถว 3 ที่หลายคนเข็ดขยาด แต่ด้วยการเพิ่มมิติของตัวรถให้มีความยาวขึ้น ความสูงกว่า 170 เซนติเมตร ตามมาตรฐานชายไทย ก็ไม่ถือเป็นปัญหาเพราะยังเหลือพื้นที่ให้ขายาวๆได้ผ่อนคลาย ไม่นิ่งอยุ่กับที่ตลอดระยะทางเกือบ 50 กิโลเมตร ส่วนเบาะนั่งแถว 2 ไม่ได้เป็นแถวยาวแบบ 3 ที่นั่งอย่างที่หลายคนคิด ตรงกลางระหว่างเบาะนั่งถุกออกแบบให้เว้นว่าง เพื่อการเข้าออกแถว 3 ได้อย่างสะดวก โดยปรับและพับในรูปแบบ Touch Tumble เพียงดึงใต้เบาะเพียงครั้งเดียว ด้านหลังเบาะหน้า ยังมี Seat Back Table ที่สามารถนำโน้ตบุคมานั่งทำงาน หรือจะใช้ประโยชน์ในการวางสิ่งของ อาหาร หรือ ขวดน้ำ ก็สามารถทำได้อย่างสะดวกสบาย
ทีนี้ก็ถึงเวลาปรับเบาะเอนนอนเพื่อพักสายตาโดยมีพลขับวัยเก๋ารับหน้าที่เป็นสารถีขับต่อบนเขาใหญ่ ที่โค้งเยอะพร้อมกับสายฝนโปรยปราย ไปจนถึงจุดหมายปลายทางที่โรงแรมดุสิตD2โดยสวัสดิภาพ
TOYOTA INNOVA CRYSTA ได้รับการพัฒนาจากทีมผุ้สร้างชาวอินโดเนเซีย มั่นใจได้ว่าสามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ใช้รถชาวไทยแน่นอน เพราะสมรรถนะที่เกินตัวรวมถึงทีเด็ดจากระบบรองรับ จะทำให้ลืมภาพเดิมๆของรุ่นก่อนหน้าอย่างไร้ข้อกังขา สิ่งที่อยากให้ปรับปรุงนอกจากการออกแบบไฟท้ายที่ดูเทอะทะไปสักนิด และแผงข้างประตูที่ดูขัดตาไปสักหน่อย ในเรื่องของการควบคุมพวงมาลัยที่ต้องสร้างความคุ้นชิน ผมไม่ขอเรียกว่าเป็นปัญหา ส่วนเรื่องอื่นๆนอกจากนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำรถคันนี้สอบผ่านสบายๆ