MG ZS EV รถยนต์พลังไฟฟ้า 100 % ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลัง 110 KWH หรือเทียบเท่า 150 แรงม้า พร้อมแรงบิดสูงถึง 350 นิวตันเมตร ชาร์จไฟ 1 ครั้งด้วย Home Charge ในเวลา 6.5 ชั่วโมง และ Quick Charge เพียง 30 นาที จะได้พลังงานกลับมาถึง 80 % เปิดตัวสนั่นวงการด้วยราคาเพียง 1.19 ล้านบาท พร้อมของแถม Home Charge และติดตั้งฟรี ความคุ้มค่าขนาดนี้สมรรถนะในการใช้งานจะมีความสนใจมากน้อยเพียงใด ติดตามได้จากรายงาน
กระแสดังจากการเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าที่เปิดราคาจำหน่ายได้อย่างสุดว๊าว โดย บริษัท เอ็มจี เซลส์ ประเทศไทย จำกัด ตั้งค่าตัวของ MG ZS EV ไว้เพียง 1.99 ล้านบาทพร้อมแถม Home Chart ติดตั้งฟรี (มูลค่ากว่า 80,000 บาท) เฉพาะ 1000 คันแรก ซึ่งรายละเอียดของรถคันนี้ Autoworldthailand ได้ทำการรีวิวไปเรียบร้อยเมื่อครั้งเปิดตัวและสามารถรับชมเพิ่มเติมได้ตามลิงค์นี้ครับ https://www.autoworldthailand.com/mg-zs-ev/
ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องราวของการทดสอบสมรรถนะมาดูความโดดเด่นของรถคันนี้กันก่อน
เริ่มจากขนาดตัวรถนั้นเท่ากับ MG ZS ในทุกมิติ แต่สีฟ้า Copenhagen Blue จะเรียกว่าเป็นสีเฉพาะของ MG ZS EV ก็ว่าได้ กระจังหน้าเป็นตำแหน่งของการเสียบปลั๊กชาร์จ โดยจะเปิดออกเมื่อกดสวิตช์จากภายในตัวรถ ใต้กระจังจะมีการติดตั้งเรดาร์ซึ่งเป็นศูนย์รวมการประมวลผลของตัวช่วยการขับขี่อีกหลายระบบ รวมถึงล้อแมกของ 17 นิ้วดีไซน์เฉพาะรุ่น และยังมีโลโก้บริเวณฝาท้ายที่บ่งบอกว่าเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า
ในด้านของห้องโดยสารไม่ได้มีอะไรผิดแปลกไปจากรุ่นปกติและยังคงโดดเด่นด้วย Panoramic Sunroof ที่มีขนาดใหญ่กินพื้นที่กว่า 70% ของหลังคารถ
การตกแต่งภายในเน้นวัสดุ Soft Touch กว่า 80 % ทั้งแผงคอนโซลและแผงข้าง ในส่วนของเบาะนั่งหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ เช่นเดียวกับพวงมาลัยซึ่งเป็นแบบท้ายตัดสไตล์สปอร์ต
สำหรับพวงมาลัยยังคงมาพร้อมระบบมัลติฟังค์ชั่น ซึ่งใช้ควบคุมอีกหลายระบบ ทั้งวิทยุ เนวิเกเตอร์ รวมถึงระบบ i-Smart ที่ใช้เสียงภาษาไทยในการสั่งการทั้งการเปิด/ปิด ซันรูฟ การปรับตั้งระบบปรับอากาศและวิทยุ เป็นต้น
นอกจากนี้สวิตช์ควบคุมฝั่งขวามือจะมีหน้าที่ในการปรับเซ็ทระบบเพื่อความสะดวกสบายและปลอดภัยอีกเพียบ ทั้งระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา Blind Sport Detection ติดตั้งที่กระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ACC (Adaptive Cruise Control), ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำ TJA (Traffic Jam Assist),ระบบช่วยเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการชนรถยนต์คันหน้าขณะขับขี่ FCW (Forward Collision Warning), ระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA (Lane Keep Assist), ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน LDW (Lane Departure Warning), ระบบช่วยควบคุมรถเมื่อรถออกนอกเลน LDP (Lane Departure Prevention) และระบบช่วยเตือนเมื่อต้องการเปลี่ยนเลน LCA (Lane Change Assist)
ชุดแดชบอร์ดเป็นแบบเดียวกับรุ่นธรรมดา บริเวณตรงกลางจะมีจอมัลติฟังค์ชั่นดิสเพลย์แสดงการทำงานระบบตัวช่วยต่างๆ และข้อมูลการใช้งานระบบมอเตอร์ไฟฟ้า มาในรูปแบบของภาพกราฟฟิกที่ทันสมัย
คอนโซลกลางติดตั้งจอทัชกรีนขนาด 8 นิ้ว มีหน้าที่ในการแสดงผลของทุกระบบตัวช่วยการขับขี่ วิทยุ ระบบปรับอากาศ รวมไปถึงการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า และระบบ Smart Connect ซึ่งสามารถตรวจเช็ค รวมถึงตรวจสอบสถานะของรถยนต์ ระดับพลังงานแบตเตอรี่ ระยะเวลาการชาร์จไฟ การค้นหาสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า ผ่านสมาร์ทโฟนเพียงแค่โหลดแอพลิเคชั่น
ความหรูหราที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมาจากบริเวณคอนโซลเกียร์ ซึ่งสามารถสั่งงานระบบเกียร์ด้วยการใช้มือหมุน ใกล้กันจะมีสวิตช์สั่งงานระบบเบรกมือไฟฟ้าและ Auto Hold เหนือระบบเกียร์จะมีสวิทช์ควบคุมโหมดการขับขี่ที่ปรับเลือกได้ถึง 3 รูปแบบ ประกอบด้วยโหมด Eco Normal และ Sport และระบบ KERS (Kinetic Energy Recovery System) ที่สามารถชาร์จพลังงานในระหว่างการขับขี่กลับเข้าแบตเตอรี่ (Regenerative) ซึ่งเลือกการชาร์จพลังงานได้ถึง 3 ระดับ
MG ZS EV ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า แบบ Permanent Magnet Synchronous Motor โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่แบบ Lithium-ion ความจุ 44.5 kWh ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร ซึ่งได้รับการเคลมจากผู้ผลิตว่าสามารถเร่งจาก 0-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ด้วยระยะเวลาเพียง 3.1 วินาที และทำความเร็ว0-100 กม./ชม.ในเวลาแค่ 8.5 วินาที และหากชาร์จไฟเต็ม 100% จะสามารถใช้งานได้ไกลถึง 337 กิโลเมตร
ขอเพิ่มเติมข้อมูลเรื่องแบตเตอรี่ก่อนพาไปถึงการทดสอบอีกสักเล็กน้อย ในส่วนของแบตเตอรี่ Lithium-ion ความจุ 44.5 kWh สามารถอัดประจุไฟฟ้าได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ สายชาร์จที่ติดมากับรถ วีธีการนี้ควรเป็นทางออกในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เพราะอาจเกิดอันตรายเนื่องจากการชาร์จแบบนี้ไม่ควรมีการต่อปลั๊กพ่วง และสายไฟที่ใช้ต้องมีขนาดใหญ่กว่าปกติ สำหรับเวลาในการชาร์จจะสูงถึง 11 ชั่วโมงกว่าพลังงานจะกลับมาเต็ม 100 %
การชาร์จไฟด้วย Home Charge อย่างที่เกริ่นนำ ผู้ที่สั่งจอง 1000 รายแรก จะได้รับอุปกรณ์ชิ้นนี้ฟรีพร้อมติดตั้ง แต่หากหมดโปรโมชั่น ต้องเสียค่าใช้จ่ายพร้อมติดตั้งราว 80,000 บาท เวลาในการชาร์จประจุไฟฟ้าให้เต็ม 100 % จะใช้เวลาเพียง 6.5 ชั่วโมง
วิธีสุดท้ายคือแบบ Quick Charge เป็นการชาร์จไฟแบบเร่งด่วนด้วยเวลาเพียง 30 นาที จะได้พลังงานกลับมา 80% ซึ่งวิธีนี้สามารถอัดประจุจากสถานีบริการของภาครัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่พอมีให้เห็นหลายที่ในเมืองกรุงและตามหัวเมืองของจังหวัดใหญ่ๆเท่านั้น
ในส่วนของการทดสอบนั้นเริ่มที่สนามMG Driving Experience ซึ่งประกอบไปด้วยการขับขี่ 3 รูปแบบ อันดับแรกเป็นการลองพลังของมอเตอร์ไฟฟ้าด้วยการใช้ความเร็ว 0-100 กม./ชม. การทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นไปตามการเปิดคันเร่งโดยไม่มีการรอรอบแม้แต่น้อย
ต่อด้วยการขับขี่ในเส้นทางโค้ง ก่อนหน้านี้ในรุ่นปกติ ระบบช่วงล่างนั้นนุ่มนวลจนออกอาการให้ตัวเมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็ว แต่พอมาถึงคิวของรุ่นที่ใช้พลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้า แม้น้ำหนักตัวรถจะเบากว่ารุ่นปกติที่ใช้เครื่องยนต์ แต่อาการให้ตัวกลับดีขึ้น และช่วงล่างที่เคยนุ่มก็แน่นและหนึบขึ้นกว่ารุ่นเดิม
สถานีสุดท้ายเป็นการทดสอบแบบหักหลบฉุกเฉินด้วยความเร็วประมาณ 50-60 กม./ชม. การควบคุมรถในสถานีนี้ค่อนข้างน่าประทับใจ เพราะพวงมาลัยมีอัตราทดที่แม่นยำ ระบบช่วงล่างที่แน่นขึ้น ส่งผลให้อาการโยนตัวนั้นลดน้อยลง
อุ่นเครื่องเบาๆในสนามทดสอบเป็นที่เรียบร้อย มาถึงการใช้งานจริงโดยเริ่มเดินทางจากถ.ศรีนครินทร์ไปถึงปลายทางที่พัทยาใต้ บริเวณ ถ.เทพประสิทธิ์ ซึ่งผ่านการใช้งานหลากหลายรูปแบบทั้งการจราจรที่พลุกพล่าน สู่การเดินทางไกลบนไฮเวย์ที่ต้องใช้ความเร็ว แต่น่าแปลกใจตรงที่หากใช้ความเร็ว ระบบช่วงล่างอาจมีการโยนตัวมากขึ้นกว่าที่ลองในสนามทดสอบ
ว่ากันด้วยเรื่องโหมดขับขี่ที่มีมาให้ถึง 3 รูปแบบ โหมด Eco เป็นโหมดเพื่อการประหยัด พลังขับเคลื่อนจากมอเตอร์ไฟฟ้าจะปล่อยออกมาไม่มากนักเพื่อการประหยัดพลังงานจากแบตเตอรี่ เหมาะสมกับการใช้งานในเมืองที่ต้องการความประหยัด
Normal เป็นโหมดที่ใช้ขับขี่ทั่วไป พลังงานจากมอเตอร์จะปลดปล่อยมาให้เพียงพอต่อการใช้คันเร่ง และพวงมาลัยจะหนืดขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่ให้ดียิ่งขึ้น
Sport โหมดนี้สำหรับสายซิ่งที่ต้องการการตอบสนองต่อคันเร่งซึ่งเรียกพลังได้อย่างรุนแรง แต่ทั้งนี้อาจติดขัดนิดหน่อยตรงที่มีการล๊อคความเร็วไว้ที่ไม่เกิน 160 กม./ชม. และพลังงานจากแบตเตอรี่ก็หมดไวขึ้นเป็นทวีคูณ
ระบบที่คอยเรียกพลังกลับมายังแบตเตอรี่อย่าง KERS (Kinetic Energy Recovery System) จะทำหน้าที่ในการรีชาร์จพลังด้วยการแปรแรงเฉื่อยจากล้อให้กลับมาเป็นพลังงานเพื่อส่งกลับไปยังแบตเตอรี่ ระบบนี้จะมีให้เลือกถึง 3 ระดับ โดยที่ระดับ 3 จะช่วยทำให้การสรางกำลังกลับไปยังแบตเตอรี่เร็วยิ่งขึ้น ในขณะที่แรงเฉื่อยนั้นรับรู้ได้จากอาการดึงทุกครั้งที่มีการถอนคันเร่ง
ตัวช่วยการขับขี่อย่างระบบ ACC หรือ Adaptive Cruise control ถือเป็นตัวช่วยที่ดี เมื่อทำงานร่วมกับระบบช่วยคุมรถให้อยู่ในช่องทาง รวมถึงเมื่อทำงานร่วมกับระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำ หรือ Traffic Jam System ทำให้การขับขี่ของรถคันนี้เป็นแบบเกือบอัตโนมัติ เพราะหากความเร็วต่ำกว่า 30 กม./ชม. ระบบ Traffic Jam System จะช่วยให้รถขับเคลื่อนไปได้ ถ้าความเร็วสูงกว่า 30 กม./ชม. ก็จะเป็นหน้าที่ของระบบ ACC
เมื่อไหร่ก็ตามที่คันหน้าเบรก ระบบเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการชนจะทำงาน และหากรถคันหน้าเคลื่อนตัวในเวลาไม่เกิน 3 วินาที ระบบ Traffic Jam System ก็จะสั่งการให้รถเคลื่อนตัวไปต่อได้ ทั้งนี้หากต้องการพลังงานเพื่อขับเคลื่อนให้ได้ระยะทางที่ยาวนานมากยิ่งขึ้น ระบบเหล่านี้จะกลายเป็นตัวแชร์พลังงานทันที เพราะมอเตอร์จะเรียกใช้พลังงานเป็นจังหวะไม่นุ่มนวลเหมือนการควบคุมด้วยตัวเอง
ระยะทางที่ผู้ผลิตเคลมไว้ว่าการชาร์จไฟเต็ม 100 % นั้นทำระยะทางในการขับขี่ได้ถึง 337 กม.อาจจะสูงไปสักหน่อย เพราะหากการเดินทางมีตัวแปรทั้งสภาพการจราจรที่พลุกพล่านหรือเมื่อไหร่ที่ขับขี่ด้วยความเร็ว
จากถ.ศรีนครินทร์ไปยัง ถ.เทพประสิทธิ์ย่านพัทยาใต้ เพื่อไปอัดประจุไฟฟ้าในรูปแบบ Quick Charge เพื่อใช้เป้นพลังงานในการเดินทางกลับกทม.ที่สถานีอัดประจุไฟฟ้าของ 7-11 สาขาธารา ใช้ระยะทางไปทั้งสิ้น 136 กม.ด้วยความเร็วเฉลี่ยไม่ถึง 70 กม./ชม. เหลือพลังงานจากแบตเตอรี่เพียง 37% แน่นอนว่าถ้าไป-กลับโดยไม่มีการแวะชาร์จ คงกลับไม่ถึงจุดเริ่มต้น ซึ่งถ้าคิดระยะทางรวมจะอยู่เพียง 272 กม.เท่านั้น และถ้าให้แบตเตอรี่หมดจนรถดับ ระยะทางที่ทำได้คงไม่ถึง 200 กม.
ตัวแปรสำคัญอยู่ที่พฤติกรรมการขับขี่ เพราะการทดสอบในครั้งนี้ได้ลองหลายโหมดซึ่งในโหมด Sport นั้นมีการพิสูจน์ในด้านความแรง และยังมีบางช่วงที่รถติดซึ่งทั้งหมดถือเป็นตัวแปรที่ทำให้ระยะทางผิดไปจากตัวเลขที่เคลมจากผู้ผลิต และหากคิดเป็นค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่กม.ละ 40 – 50 สต. โดยคำนวณจากค่า FT ปัจจุบัน ประเด็นนี้ยังไงก็ถูกกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง หรือลูกผสมแบบไฮบริด
บทสรุปการทดสอบสมรรถนะ MG ZS EV ในด้านระบบตัวช่วยการขับขี่และความปลอดภัยอัดแน่นเต็มๆคัน รวมถึงสมรรถนะของพลังขับเคลื่อนในรูปแบบของมอเตอร์ไฟฟ้าสอบผ่านอย่างไร้ข้อกังขา แต่ด้านสมรรถนะช่วงล่างแทบไม่ต่างไปจากรุ่นปกติมากนัก ยิ่งใช้ความเร็วสูงก็จะสัมผัสได้ถึงอาการโยนตัว
และหากคุณอยากใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะต้องปรับพฤติกรรมการขับขี่เพื่อให้ได้มาซึ่งความประหยัด และต้องวางแผนเส้นทางเพื่อหาทีสถานีอัดประจุในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งถ้าเป็นตามหัวเมืองใหญ่หรือในกรุงเทพมหานครจะมีสถานีบริการอัดประจุอยู่พอสมควร ส่วนต่างจังหวัดนั้น
ในด้านการของความคุ้มค่าและการประหยัดค่าใช้จ่าย รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ตอบโจทย์ได้อย่างแน่นอน เพราะการบำรุงรักษาตลอดระยะการใช้งาน 100,000 กม. จะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 8,454 บาท ซึ่งเมื่อเทียบค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟจะอยู่ไม่เกิน 50 สต./กม. หนำซ้ำของแถมในรูปแบบของ Home Charge ก็ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่าย ซึ่งหากหมดโปรโมชั่นช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ คุณอาจจะต้องควักเงินกว่า 80,000 บาทเพื่อติดตั้งที่ชาร์จไฟในบ้านก็เป็นได้
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับเริ่มต้นใช้รถไฟฟ้ารวมถึงการติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้าในรูปแบบ Home Charge
1.สำหรับสายชาร์จที่แถมมากับตัวรถควรใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น และไม่ควรใช้ปลั๊กชาร์จพ่วงกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ
2.สายไฟที่ใช้ติดตั้ง Home Charge ควรเป็นขนาดใหญ่และรองรับกระแสไฟในรูปแบบ 30/100 ซึ่งการไฟฟ้าจะเป็นผุ้รับหน้าที่ในการเดินไฟมายังตัวบ้าน
3.ควรหลีกเลี่ยงการลุยน้ำท่วมที่มีความสูงเกิน 50 ซม.เพราะน้ำอาจเข้าไปทำความเสียหายต่อระบบไฟฟ้าภายในรถ
ข้อมูลทางเทคนิค: MG ZS EV
ประเภทมอเตอร์ไฟฟ้า: แบบ Permanent Magnet Synchronous Motor
ประเภทของแบตเตอรี่: Lithium-ion
กำลังสูงสุด (แรงม้า): 150
แรงบิดสูงสุด (นิวตัน-เมตร): 350
ระบบส่งกำลัง: อัตโนมัติ
ระบบขับเคลื่อน: ล้อหน้า
ระบบกันสะเทือน(หน้า/หลัง): แม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง/ทอร์ชั่นบีมพร้อมเหล็กกันโคลง
เบรก(หน้า/หลัง): ดิสก์/ดิสก์
ยาว/กว้าง/สูง(มม.): 4,314 x1,809×1,624 มม
ขนาดล้อและยาง: 215/50R17
ราคา (บาท): 1,190,000
ตัวแทนจำหน่าย: บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด