เปิดตัวหวือหวาตลอดสำหรับรถยนต์จากค่าย MG ในครั้งนี้เป็นคิวของรถเอสยูวีพลังขับเคลื่อนแบบลูกผสมที่กับราคาค่าตัวเพียง 1.359 ล้านบาท ซึ่งนอกจากฟังค์ชั่นการใช้งานอัดแน่นเต็มคัน ความเด็ดดวงยังมาจากความประหยัด โดยใช้โหมด EV ตลอดการทดสอบ บนระยะทาง 70 กิโลเมตร รอบกรุงเทพฯ มาดูกันครับว่าเอสยูวีเสียบปลั๊กรุ่นนี้ จะเป็นที่น่าสนใจมากน้อยเพียงใด
ตั้งแต่เปิดตัว MG HS ในราคาสนั่นวงการด้วยค่าตัวเริ่มต้นไม่ถึง 1 ล้านบาท จนถึงรุ่นท๊อพที่จำหน่ายในราคาเพียง 1.19 ล้านบาท แน่นอนว่าถูกอกถูกใจกลุ่มลูกค้าที่กำลังมองหารถเอสยูวีไว้ตอบโจทย์การใช้งานที่มากด้วยเทคโนโลยีอันโดดเด่นกว่าคู่แข่งที่อยู่ในเซกเมนต์เดียวกัน ต่อมาด้วยระยะเวลาประมาณ 1 ปี หลังจากรถรุ่นนี้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ผุ้บริหารของค่าย MG ก็ได้ผุดโปรเจคใหม่โดยการนำระบบปลั๊กอินไฮบริดไปติดตั้งกับรถรุ่นนี้เป็นครั้งแรก
รูปลักษณ์โดยรวมยังคงความเป็นสปอร์ตี้เอสยูวี ที่ไม่ต่างไปจาก MG HS สักเท่าไหร่นัก จะมีก็แต่ไฟหน้าเน้นการใช้งานจากแอลอีดีโปรเจคเตอร์ ที่มีไฟเลี้ยววิ่งแบบรถยุโรปและเดย์ไทม์ในโคมเดียวกัน พร้อมระบบเปิด-ปิด ไฟสูงอัตโนมัติ
ในขณะที่ล้อแมกยังคงขนาด 18 นิ้วแต่มีลวดลายแตกต่าง รวมถึงสัญลักษณ์ PHEV บริเวณท้ายรถ และหลังคาพาโนรามิคซันรูฟขนาดใหญ่เกือบ 80% ของห้องโดยสารยังคงไว้ซึ่งสไตล์เฉพาะตัว
เบาะนั่งยังใช้โครงเดิมในรูปแบบกึ่งบักเกทซีท แต่มาในสีใหม่นั่นคือดำด้ายแดง และขาวสลับน้ำเงิน แต่งหนัง Alcantara แบบเดียวกับรถหรูจากฝั่งยุโรป
อีกหนึ่งความแตกต่างที่เพิ่มเข้ามานั่นคือปุ่มการทำงานของโหมด EV บริเวณคอนโซลเกียร์
ที่เหลือเหมือนรุ่นปกติแบบยกมาทั้งกระบิ ทั้งไฟ Amblient Light ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ถึง 64 เฉดสีและยังปรับตามโหมดการขับขี่ ทั้ง Eco Normal และ Super Sport mode
มาตรวัดสไตล์ล้ำมีจอแสดงผลแบบ Full Visual Dashboard ขนาด 12 นิ้วที่แสดงผลของระบบเอนเตอร์เทนเมนท์ซิสเต็ม และการทำงานของระบบ Advance Driver System ในรูปแบบของภาพกราฟฟิกสีสดใส
พวงมาลัยเป็นแบบท้ายตัดติดตั้งระบบมัลติฟังค์ชั่นใช้สั่งการระบบต่างๆ และจะมีปุ่มควบคุมโหมด Super Sport สีแดงสดแยกออกมาอย่างโดดเด่น และมีก้านแพดเดิลชิฟท์ แต่ไม่ได้มีไว้สำหรับปรับเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ โดยก้านนี้ใช้เป็นตัวเพิ่มแรงหน่วงหรือที่ผู้ผลิตเรียกว่า Kers ซึ่งสามารถปรับได้ถึง 3 ระดับ
จอกลาง 10 นิ้วสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ทั้ง Android Auto และ Apple Carplay นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์กล้อง Around View Camera เลือกมุมมองของภาพได้รอบคัน และใช้ในการแสดงผลระบบบันเทิง ส่วนเทคโนโลยี i-Smart ทั้ง Smart Command หรือการสั่งงานด้วยเสียง Smart Check ตรวจสอบสถานะของรถผ่านสมาร์ทโฟน Smart Connect อัพเดทเรื่องราวของความบันเทิงทั้งเพลง ข่าว ร้านอาหารดัง และล่าสุดในด้านการรายงานสภาพอากาศ
ถ้ามาว่ากันด้วยเสียง ลำโพงเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ได้รับการปรับปรุงโดยใช้ลำโพงของ BOSE ที่มาพร้อมกับซับวูฟเฟอร์ในตัว
ขุมพลังเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบบล๊อคเดิม ขนาด 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 162 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร ที่ 1,700 – 4,300 รอบ/นาที ส่วนควบมาจากมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet Synchronous Motor พละกำลังสูงสุด 122 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 230 นิวตันเมตร
เมื่อเครื่องยนต์ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า จะได้พละกำลังรวมสูงสุด 284 แรงม้า 480 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ Lithium-ion จำนวน 6 โมดูล ขนาด 16.6 kW ถูกติดตั้งไว้ใต้พื้นห้องโดยสารพร้อมระบบระบายความร้อนแบบ Coolant สามารถแยกซ่อมแต่ละโมดูลได้
สำหรับเรื่องของการชาร์จไฟ สามารถนำปลั๊กที่มากับรถอัดประจุไฟกลับเข้าแบตเตอรี่ในเวลา 5.5 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็น Wall Charge จะทำได้เร็วขึ้นในเวลาเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น หรือหากให้กำลังจากแรงหน่วง อัดประจุไฟกลับเข้าไปยังแบตเตอรี่
ระบบเกียร์เป็นแบบ Twin Clutch Sportronic เดิมทีเป็น 7 จังหวะ แต่เมื่อรวมกับที่ต้องใช้งานส่วนของมอเตอร์ฟ้าจะขยับขึ้นเป็น 10 จังหวะ แบ่งเป็นใช้งานกับเครื่องยนต์ 6 จังหวะ และมอเตอร์ไฟฟ้า 4 จังหวะ โดยใช้ชุดคลัชในห้องเกียร์ตัดต่อการทำงานเพื่อให้นุ่มนวลและตอบสนองต่อการใช้งานได้ดีที่สุด
การยึดเกาะตามแบบฉบับของ Euro Tuning Suspension ซึ่งเป็นแบบอิสระทั้ง 4 ล้อ ด้านหน้าใช้เป็นแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์พร้อมเหล็กกันโคลง นอกจากนี้ระบบเบรกจะเป็นแบบดิสเบรกทั้ง 4 ล้อด้วยเช่นกัน
ส่วนระบบความปลอดภัยที่อัดแน่นเต็มๆคัน ได้แก่
-ระบบป้องกันล้อล็อก ABS
-ระบบกระจายแรงเบรก EBD
-ระบบเสริมแรงเบรก EBA
-ระบบควบคุมการทรงตัว SCS
-ระบบควบคุมการเบรกในขณะเข้าโค้ง CBC
-ระบบควบคุมการเบรกในขณะเข้าโค้งด้วยความเร็ว XDS
-ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี และควบคุมการลื่นไถล TCS
-ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน HAS
-ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC
-ระบบป้องกันการลื่นไถลเมื่อเกียร์ลดต่ำอย่างฉับพลัน MSR
-ระบบลดความเสี่ยงที่จะทำให้พลิกคว่ำ ARP
-ระบบสัญญาณไฟแจ้งเตือน เมื่อมีการเบรกฉุกเฉิน ESS
-ระบบตรวจสอบความผิดปกติของลมยาง TPMS
-ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ACC : Adaptive Cruise Control
-ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำ TJA
-ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัตโมัติ IHC
-ระบบเบรกมือไฟฟ้า EPB พร้อมระบบ Auto Vehicle Hold
-ระบบช่วยเตือนเมื่อรถเสี่ยงต่อการชนคันหน้าขณะขับขี่ FCW
-ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA
-ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน LDW
-ระบบช่วยควบคุมรถเมื่อรถออกนอกเลน LDP
-ระบบช่วยเตือนเมื่อต้องการเปลี่ยนเลน LCA
-ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา BSD
-ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลัง RCTA
-ระบบช่วยเตือนการปิดประตู DOW
-ระบบล็อคประตูอัตโนมัติ Speed Sensing Door Lock
-ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า-ด้านข้าง-ม่านนิรภัย)
-กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา
-เซนเซอร์กะระยะช่วยจอดด้านหลัง 4 ตำแหน่ง
เข้าสู่การทดสอบกับกิจกรรม “1 Day 1 Liter with NEW MG HS PHEV” แต่ในครั้งนี้ขอข้ามโจทย์นี้ไป เนื่องจากอยากลองของว่า ถ้าใช้ EV MODE ที่ทางผู้ผลิตเคลมไว้ว่า ถ้าแบตเตอรี่ชาร์จเต็ม จะสามารถทำระยะทางจากการใช้งานมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียวอยู่ประมาณ 63 กม. แต่เส้นทางที่ใช้ทดสอบนั้นอยู่ที่ประมาณ 70 กม. โดยมีสภาพการจราจรรอบๆกรุงเทพฯ เป็นตัวแปร
การออกตัวทำได้ลื่นและเร็วขึ้น เดิมทีถ้าเป็นขุมพลังเทอร์โบ อัตราเร่ง 0-100 จะแตะ 10 วินาที แต่พอมีมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาช่วย อัตราเร่งแรงขึ้นกว่าเดิมชัดเจน รวมถึงได้นน.ที่เพิ่มขึ้นจากชุดปลั๊กอินไฮบริด ทำให้ช่วงล่างนั้นแน่นและขับสบายมากยิ่งขึ้น ส่วนการระบายความร้อนของแบตเตอรี่นั้นจะใช้น้ำหล่อเย็นเป็นตัวช่วยซึ่งถูกเก็บไว้บริเวณตำแหน่งของยางอะไหล่เดิม ซึ่งถูกถอดออกและแทนที่ด้วยชุดซ่อมยาง
ช่วงแรกของการทดสอบเป็นการทดลองระบบความปลอดภัยของ Adas ซึ่งประกอบไปด้วย ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ACC : Adaptive Cruise Control, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำ TJA, ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัตโมัติ IHC, ระบบเบรกมือไฟฟ้า EPB พร้อมระบบ Auto Vehicle Hold,ระบบช่วยเตือนเมื่อรถเสี่ยงต่อการชนคันหน้าขณะขับขี่ FCW,ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA,ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน LDW,ระบบช่วยควบคุมรถเมื่อรถออกนอกเลน LDP,ระบบช่วยเตือนเมื่อต้องการเปลี่ยนเลน LCA,ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา BSD
การทำงานของระบบทำให้การใช้งานรถคันนี้เกือบจะเป็นการขับขึกึ่งอัตโนมัติ เพราะการทำงานของ 4 ฟีเจอร์ซึ่งทำหน้าที่อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ในกรณีที่มีรถตัดหน้า ก็จะทำการเบรคให้อัตโนมัติ และถ้ารถคันหน้าเคลื่อนตัวในเวลาไม่เกิน 3 วินาที ระบบก็จะสั่งการให้เคลื่อนตัวตาม หรือแม้กระทั่งมีรถแซงจากด้านหลังก็จะมีสัญญาณเตือน
สำหรับ Kers Mode รถรุ่นนี้ไม่มีสวิตช์การทำงานของระบบแยกออกมาเป็นสัดส่วน แต่สามารถใช้แป้นแพดเดิลชิฟท์ด้านหลังพวงมาลัยปรับระดับการหน่วงได้ถึง 3 ระดับ และจะทำงานร่วมกับโหมด Eco และ Normal ส่วน Sport และ Super Sport นั้นไม่สามารถทำงานร่วมกันได้
แม้ว่าระบบส่งกำลังจะมีแค่เดินหน้า และถอยหลัง แต่ก็สัมผัสการตัดต่อของเกียร์ได้ เพราะชุดเกียร์มี 2 ระบบ ไว้สำหรับทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า
หลังจากทดลองขับผ่าน 60 กม. แบตเตอรี่เหลือ 8% แต่ยังมีระยะทางเหลืออยู่ 10 กม. ไม่นานนัก เครื่องยนต์ถูกสั่งให้เปิดการทำงานอัตโนมัติ แบตเตอรี่เหลือ 0% ระยะทางที่ทำได้ 69 กม. โดยไม่ใช้การหน่วงช่วยเพื่อชาร์จ ถึงแม้ขาดระยะทางไม่ถึง 5 กม. สุดท้าย Challenge นี้ก็ไม่สำเร็จ แต่ถึงยังไงตัวเลขระยะทางที่ได้ ก็ทะลุไปจากที่ผู้ผลิตเคลมไว้อยู่ดี
บทสรุปการทดสอบในครั้งนี้เกือบจะผ่านฉลุย แต่ก็สามารถทำระยะทางมากกว่าที่อีโค่สติกเกอร์เคลมไว้ ระบบที่มากับรถคันนี้พูดได้ว่า “ล้นคัน” เอาแค่ระบบเพื่อความปลอดภัยก็จัดหนักถึง 25 ระบบ ไหนจะฟีเจอร์เพื่อความบันเทิงและการใช้งานด้วยคำสั่งเสียง ซึ่งถือว่าเป็นต่อคู่แข่งในกลุ่มของรถเอสยูวีอยู่พอสมควร ทั้งนี้ ถ้ามีระบบ Kick Sensor ที่ใช้เท้าเปิดฝาท้าย จะเป็นรถที่เฟอร์เฟคที่สุดคันหนึ่งก็ว่าได้