ในปัจจุบันนี้ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สู่การปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ต้องปรับตัวไปในทิศทางดังกล่าวเช่นกัน นวัตกรรมยานยนต์ที่สะอาดและทันสมัย เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้ขับขี่และการพัฒนาในยุคใหม่ซึ่งต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ จึงทำให้ยังมีผู้ขับขี่บางส่วนที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และคงมีข้อกังวลใจในการใช้งานรถยนต์ประเภทนี้ ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับยานยนต์พลังงานสะอาดแห่งอนาคต ทางบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย จึงขอส่งมอบความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับยนตรกรรมไฟฟ้าและนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่น่าสนใจ รวมทั้งแชร์เคล็ดลับง่าย ๆ ที่เป็นประโยชน์กับทุกคนในการเตรียมความพร้อมเพื่อการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดแบบไร้กังวลรองรับเทรนด์แห่งอนาคต
1) เรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าก่อนการขับขี่จริง
- ผู้ขับขี่ควรเรียนรู้มาตรฐานเกี่ยวกับระยะทางของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งบอกว่ารถยนต์ไฟฟ้าคันนั้นมีระยะทางการวิ่งได้ไกลที่สุดแค่ไหนต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ซึ่งจะช่วยให้สามารถตัดสินใจได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่น
นั้น ๆ เหมาะสมกับการใช้งานของตนเองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ระยะทางที่สามารถขับขี่ได้จริงยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น พฤติกรรมในการขับขี่ สภาพถนน หรือ สภาพอากาศ เป็นต้น โดยมาตรฐานการวัดระยะทางของรถยนต์ไฟฟ้าที่นิยมใช้ในประเทศไทย มี 2 มาตรฐานด้วยกัน ได้แก่- มาตรฐาน NEDC (New European Driving Cycle) เป็นมาตรฐานที่พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการทดสอบอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษของรถยนต์ในยุโรป ซึ่งประกอบด้วยการทดสอบในสภาวะต่าง ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในห้องทดลองแบบปิด เช่น การจำลองสภาวะการขับขี่ในตัวเมืองหรือบริเวณชนบท ซึ่งจะมีการควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ในการขับขี่ เช่น อุณหภูมิ ความเร็ว สภาพพื้นถนน เป็นต้น
- มาตรฐาน WLTP (Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure) เป็นมาตรฐานที่พัฒนาขึ้นโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติในยุโรป (United Nations Economic Commission for Europe หรือ UNECE) เพื่อใช้ในการทดสอบอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษของรถยนต์ โดยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลกว่ามีความแม่นยำและใกล้เคียงกับการใช้งานจริง และได้กลายมาเป็นมาตรฐานที่ใช้ในยุโรปแทนที่มาตรฐาน NEDC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ซึ่งการทดสอบในมาตรฐาน WLTP จะประกอบด้วยรูปแบบการขับขี่ที่หลากหลาย และเงื่อนไขการขับขี่ที่ใกล้เคียงกับการใช้งานจริง ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบด้วยความเร็วและอัตราเร่งที่ต่างกัน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ระบบปรับอากาศ และระบบอื่น ๆ ที่มีผลต่อการใช้พลังงาน
- นอกจากนี้ เจ้าของรถควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับความจุของแบตเตอรี่ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงความสามารถในการกักเก็บและจ่ายกระแสไฟของรถยนต์ไฟฟ้าคันนั้น ๆ ด้วยว่า สามารถจ่ายไฟได้มากน้อยแค่ไหนและนานเท่าไหร่ ซึ่งระยะทางในการขับขี่สูงสุดที่ได้ของแต่ละรุ่นก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การเหยียบคันเร่งและพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ใช้ หากเหยียบคันเร่งหนัก ขับขี่ค่อนข้างเร็ว จะทำให้ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่แรงดันสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ระยะทางในการวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้าลดน้อยลงตามไปด้วย
2) แยกแยะประเภทการชาร์จของรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้
โดยหลัก ๆ แล้ว เราสามารถแบ่งประเภทการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- การชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating Current – AC)
คือการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยใช้ไฟบ้าน ผ่านสายชาร์จฉุกเฉินซึ่งสามารถเสียบกับปลั๊กไฟในบ้านที่สามารถรองรับการจ่ายกระแสไฟได้เพียงพอ หรือ ผ่าน Wall box (แผงวงจรที่ได้รับการออกแบบมาให้มีช่องปล่อยกระแสไฟแบบพิเศษเพื่อการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ) โดยผู้ใช้สามารถติดตั้ง Wall box ที่บ้านเพื่อใช้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ทุกรุ่น เหมาะสำหรับผู้ที่มีบ้านพักอาศัยส่วนตัวซึ่งสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบข้ามคืนได้ เนื่องจากการชาร์จไฟฟ้าแบบ AC จะใช้เวลาพอสมควร ซึ่งเวลาที่ใช้ในการชาร์จ จะแปรผันตามความสามารถในการจ่ายกระแสไฟของเครื่องชาร์จ และความสามารถของตัวรถในรับกระแสไฟด้วยเช่นกัน โดยรถยนต์ไฟฟ้าของบีเอ็มดับเบิลยู อย่างบีเอ็มดับเบิลยู i7 และบีเอ็มดับเบิลยู iX สามารถรับกระแสไฟในการชาร์จแบบ AC ได้สูงสุดถึง 22 กิโลวัตต์
- การชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current – DC)
คือการชาร์จผ่านสถานีชาร์จตามห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน หรือศูนย์ชาร์จรถไฟฟ้า ที่ใช้การจ่ายไฟฟ้าแบบกระแสตรง ซึ่งใช้เวลาในการชาร์จค่อนข้างเร็ว สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าบีเอ็มดับเบิลยูและมินิจะสามารถรองรับการชาร์จแบบ DC ด้วยกระแสไฟตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ ไปจนถึง 250 กิโลวัตต์ (ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู i4, iX, i7 เป็นต้น)
3) เตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้าที่บ้านก่อนออกสตาร์ท
- โดยทั่วไป สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าแบบ 30 แอมป์ เนื่องจากจะช่วยเรื่องการแบ่งกระแสไฟ ทำให้ไม่ต้องกังวลใจเรื่องไฟตกหรือไฟกระชาก สำหรับเรื่องเฟสไฟบ้าน สามารถใช้ได้กับทั้งไฟ 1 เฟสและ 3 เฟส และเพื่อลดระยะเวลาการชาร์จให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้ายังควรติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Wall Box ไว้ที่บ้าน โดยสามารถตรวจสอบประเภทและแจ้งขอเปลี่ยนประเภทเฟสไฟบ้านได้ที่การไฟฟ้าใกล้บ้านของท่าน
4) วางแผนก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพื่อความอุ่นใจทุกเส้นทางใกล้ไกล
- ก่อนออกเดินทางไกลทุกครั้ง ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าต้องวางแผนการชาร์จไฟฟ้าให้ดี ซึ่งถ้าหากมีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนแล้ว สามารถตรวจสอบสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตามแนวเส้นทางการเดินทางผ่านทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ หากยังไม่แน่ใจในจุดหมาย ก็สามารถวางแผนแบบเผื่อระยะได้ โดยเมื่อมีกำลังไฟฟ้าทั้งหมดเหลือสำหรับระยะทางประมาณ 100-150 กิโลเมตร ควรเริ่มวางแผนหาที่ชาร์จได้ทันที เพราะในบางครั้งอาจจะมีกรณีหัวชาร์จไม่พร้อมใช้งานหรือมีรถยนต์คันอื่นจอดชาร์จไฟอยู่ตามสถานีชาร์จ
- นอกจากนี้ เรายังสามารถค้นหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ผ่านหลากหลายแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน My BMW, EVOLT, EleXa และอื่น ๆ โดยแต่ละแอปพลิเคชันจะมีวิธีจองหัวชาร์จแตกต่างกันออกไป พร้อมช่วยคำนวณระยะทางก่อนถึงสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งยังสามารถชำระเงินค่าชาร์จไฟฟ้าได้ง่าย ๆ ผ่านบัตรเครดิต หรือการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตรูปแบบต่าง ๆ ก็ได้
สำหรับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ในฐานะผู้นำในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าพรีเมียม ยังคงเดินหน้าผลักดันการใช้ยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมียนตรกรรมไฟฟ้าให้เลือกซื้อครบทั้ง 3 แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น บีเอ็มดับเบิลยู iX3, บีเอ็มดับเบิลยู iX, บีเอ็มดับเบิลยู i4, บีเอ็มดับเบิลยู i7, มินิ คูเปอร์ เอสอี รวมถึงสกู้ตเตอร์ไฟฟ้าจากบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด อย่าง CE04 ซึ่งนอกจากที่ลูกค้าจะได้สัมผัสความเป็นเลิศในด้านสมรรถนะการขับขี่ และเทคโนโลยีสุดล้ำในรถแต่ละรุ่นแล้ว ลูกค้ายังสามารถขับขี่ได้อย่างอุ่นใจด้วยแพ็คเกจบำรุงรักษา BMW / MINI Service Inclusive Standard และ Ultimate ที่ครอบคลุมการบำรุงรักษาและการรับประกัน 4 ปีและ 6 ปี ไม่จำกัดระยะทาง พร้อมการรับประกันแบตเตอรี่แรงดันสูง 8 ปี / 160,000 กิโลเมตร
ความรู้และเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ จะช่วยลดข้อกังวลใจของผู้ขับขี่ให้สามารถขับรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างมั่นใจและได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้นในทุกเส้นทาง ซึ่งจะช่วยสร้างความคุ้นเคยในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าและปูทางไปสู่แนวทางการสัญจรที่ยั่งยืนในอนาคตค สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘Neue Klasse’ ของบีเอ็มดับเบิลยู ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่คำนึงถึงองค์ประกอบหลักอันเป็นแก่นของแบรนด์ 3 ประการ ได้แก่ ยนตรกรรมไฟฟ้า (Electrification) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เสริมประสบการณ์การขับขี่ (Digitalisation) รวมถึงการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร (Circularity) เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Footprint ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ได้ถ่ายทอดแนวคิดเหล่านี้ออกมาในรถยนต์ต้นแบบ ‘BMW Vision Neue Klasse’ ที่มาในปรัชญาการดีไซน์แบบใหม่ เน้นย้ำความเรียบง่าย แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของบีเอ็มดับเบิลยู อย่างกระจังหน้าทรงไตคู่ และยังมาพร้อมเทคโนโลยี BMW iDrive ที่สามารถผสานโลกเสมือนเข้าไว้กับโลกแห่งความเป็นจริง พร้อมสอดประสานความยั่งยืนอย่างการใช้วัสดุหมุนเวียนและระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป ซึ่งรถยนต์ต้นแบบนี้ จะกลายมาเป็นหัวใจสำคัญในนำรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แห่งสุนทรียภาพแห่งการขับขี่