เหล่ารถหรูจากค่ายใบพัดฟ้าขาวผมมั่นใจว่าหลายคนอยากได้ทดลองสมรรถนะและขุมพลังอันเร้าใจ งานนี้บีเอมดับเบิลยูกรุ๊ป ได้นำรถหลากรุ่นมาให้ทดลอง ผมพร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ใหม่ให้ทุกท่านได้ติดตามเช่นเคยครับ
กองทัพรถซีดานจากค่ายบีเอมดับเบิลยูจอดคอยให้สื่อมวลชนหลากสำนักได้สัมผัสสมรรถนะอันเร้าใจจากความหลากหลายของเครื่องยนต์ที่ติดตั้งมาในบีเอมดับเบิลยูแทบทุกรุ่น โดยมีทีมงานได้จำลองสถานการณ์ต่างๆไว้เต็มพื้นที่ และแบ่งออกเป็นสถานีทดสอบออกเป็น 6 รูปแบบ ตามหลักสูตรของ BMWDRIVING EXPERIENCE DRIVING COURSE
วัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้คือการทดลองรถและระบบการขับขี่ในรูปแบบต่างๆของโหมด Sport,ComFort,และ ECOPRO วถึงความแตกต่างด้านสมรรถนะ ผมเลือกรถที่จะใช้ทดสอบไว้ทั้งหมด 3 รุ่น ตัวแรงทั้งนั้น!!!
เริ่มจากน้องเล็ก BMW 118i M Sport เครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ เทคโนโลยี บีเอ็มดับเบิลยู ทวินพาวเวอร์ เทอร์โบ ขนาด 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 136 แรงม้า
ต่อด้วย BMW 320d Sport ขุมพลังดีเซลเทอร์โบระดับ 190 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านระบบ เกียร์อัตโนมัติ Steptronic Sport 8 สปีด พร้อมก้านเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย
BMW 525d M Sport เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 16 วาล์ว เทคโนโลยี BMW TwinPower Turbo กำลังสูงสุด 218 แรงม้า
งานนี้โจทย์ตั้งมาค่อนข้างหินกับสถานีทดสอบ 6 รูปแบบ ที่ทีมอินสตรัคเตอร์ได้จัดไว้ แต่ก็มีบางช่วงที่พอจะทำความเร็วให้ได้ขับขี่แบบสนุก มาดูแต่ละสถานีที่ว่าหินนั้นมีรูปแบบอย่างไร
สถานี SLALOM
ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทดลองขับกับกิจกรรม BMW Driving Experience 2016 สถานีนี้มีการจัดฉากให้เกิดอุปสรรคที่ต้องขับรถหักหลบทุ่นจราจรโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 40 กม./ชม. BMW ทุกคันที่ทางผู้จัดงานได้เตรียมไว้ให้ผู้สื่อข่าวทุกคนต้องผ่านสถานนีนี้เป็นอันดับแรกเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับตัวรถ และวอร์มอัพระบบช่วงล่างถือเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนไปยังสถานีถัดไป
สถานี DOUBLE CIRCLE
เส้นทางถูกบังคับให้มายังสถานี DOUBLE CIRCLE ทุ่นจราจรถูกวางเป็นวงกลม 2 วง ขับไปตามทิศทางในรูปแบบของเลข 8 ช่วงล่างและระบบต่างๆของรถ ถูกใช้งานหนักขึ้น หลังจากวอร์มเบาๆ ที่สถานีแรก ความเร็วที่ใช้ไม่มีกำหนด ขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนบุคคลว่าจะมีควบคุมรถได้ขนาดไหน
40 กม./ชม.คือความเร็วที่ผมตั้งเอาไว้เพื่อเป็นโจทย์ แต่ขณะขับจริง 30 กม./ชม. ก็ถือว่าสาหัส เพราะเสียงยางที่บดกับพื้นถนนเริ่มลั่นเข้าไปหู แต่ถึงอย่างไร ระบบ DSC : DYNAMIC STABILITY CONTROL ที่ติดตั้งมากับรถยังคอยช่วยแก้อาการที่รถเสียการควบคุมได้ในระดับหนึ่ง
สถานี OVER/UNDER STEERING
สถานีนี้สนุกครับ ทุ่นจราจรจัดเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางกะจากสายตาน่าจะประมาณ 10 ม.น่าจะได้ การขับขี่จะอ้อมทุ่นเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ เพื่อสังเกตรถว่าเกิดอาการท้ายปัด และ หน้าดื้อ ในช่วงความเร็วเท่าไหร่ จากที่มองผ่านชุดมาตรวัดของ รถทั้ง 3 คัน พอทำความเร็วทะลุ 30 กม./ชม. เริ่มออกอาการบ้างในบางครั้ง แต่ยากหน่อยเพราะมี ระบบDTC: DYNAMIC TRACTION CONTROL คอยจะแก้อาการให้ตลอด ปิดระบบทั้งหมดก็ไม่ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องของความปลอดภัย ทางวิศวกรผู้ผลิตกำหนดมาให้ปิดระบบได้เพียง 50 % อาการเสียหลักที่ว่าจะออกไปในรูปแบบของหน้าดื้อเสียส่วนใหญ่ ในทางเทคนิคแก้อาการได้ง่ายกว่าแบบท้ายปัด
สถานี HANDLING
มาถึงการจัดเต็ม HANDLING เป็นสถานีที่ใช้ความเร็วได้สูง จำลองเส้นทางโค้งทั้งกว้าง แคบ และโค้งยูเทริ์นไว้ในระยะทางหลาย 100 ม. รูปแบบการขับขี่ที่สนองความซ่าถูกปรับให้อยู่ในโหมด Sport ทันที การเลี้ยงรอบเครื่องยนต์ทั้ง 3 สถานีที่ผ่านมา ถูกเพิ่มกำลังไปที่ความเร็วกว่า 100 กม./ชม. ในช่วงทางโค้งกว้าง และลดลงมาเกือบถึง 40 กม./ชม.ในโค้งยูเทริ์น
สิ่งที่รถทั้ง 3 คันสัมผัสได้นั่นคือเสียงเครื่องยนต์ที่คำราม รวมถึงช่วงล่างที่แข็งและหนึบขึ้นโดยปริยาย แน่นอนว่าถ้าสมองกลถูกปรับให้ปลดปล่อยพลังเครื่องยนต์ แต่ระบบช่วงล่างถ้ายังเป็นแบบเดิม การขับขี่ก็จะเสี่ยงอันตรายยิ่งขึ้น สรุปง่ายๆว่าสมรรถนะการขับขี่ในรูปแบบ Sport ให้ความรู้สึกมั่นใจขึ้นในขณะที่ต้องใช้ความเร็ว
สถานี ABS PLANIC BRAKE
เป็นการทดสอบอัตราเร่ง 0-100 กม.ชม. และให้ลดความเร็วก่อนเลี้ยวไปหาทุ่นจราจรที่เปิดไว้แบบเลนสลับ โดยจะเบรคหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถ หลายๆรอบที่ผ่านช่องทางเลนสลับจากรถทั้งสามคัน สิ่งที่ประทับใจคือพวงมาลัยที่แม่นยำ ควบคุมได้ตามทิศทางที่อยากให้ไป
เมื่อความแม่นยำไปทำงานร่วมกับ DTC และ DSC ความสนุกก็บังเกิด กี่รอบต่อกี่รอบ ไม่เคยได้ใช้เบรก เพียงแค่ควบคุมความเร็วและบังคับทิศทาง ก็สามารถขับผ่านอุปสรรคไปได้อย่างสนุกและมีลุ้นตลอดว่าจะกวาดทุ่นจราจรหรือไม่ เอาเป็นว่ารอดครับแม้บางครั้งอาจเฉี่ยวแบบเฉียดฉิวก็ตาม
สถานี EVASON BLOCK
“หมดลายที่ปลายทาง” กล่าวไว้อย่างนี้ความหมายตรงกันไม่มีผิดเพี้ยน ถือว่าเป็นสถานีสุดท้ายที่ปราบเซียน เรียกเสียงฮาได้ดีทีเดียว กับรูปแบบของการขับรถพุ่งเข้าไปหาอินสตรัคเตอร์ซึ่งคอยบอกทิศทางให้หักเลี้ยว ในความเร็ว 40 กม./ชม. มีทุ่นจราจรตั้งเป็นกำแพงดักให้ต้องบังคับเลี้ยวและห้ามชนทุ่น
นอกจากการควบคุม “สติ” มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะต้องคอยสังเกตุว่าธงจะชี้ให้เลี้ยวขวา หรือ ซ้าย ในระยะกระชั้นชิด ตรงนี้มีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้น รอบไหนที่เลี้ยวถูกฝั่งก็สบายหน่อย ไร้เสียงฮา แต่ถ้ารอบไหนเลี้ยวผิด จะมีทั้งเสียงฮาและอาจจะโดนทับถมจากเพื่อนสื่อมวลชนร่วมอาชีพ ตามภาษาคนคุ้นเคย
ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการทดสอบตัวแรงพลังไฟฟ้า ในรุ่น BMW 330e M Sport รถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด รุ่นถัดจาก BMW i8 พร้อมทดสอบระบบ iPerformance โดยฝ่ายเทคนิคจากบีเอมดับเบิลยูมาอบรมและให้ความรู้ทั้งด้านการใช้งาน การชาร์จไฟ รวมถึงระบบการทำงานของมอเตอร์ ที่โดดเด่นด้านการประหยัดพลังงาน แต่ให้สมรรถนะจัดจ้าน ซึ่งอาจจะไม่ได้เจาะลึกไปกับระบบต่างๆมากนักเนื่องจากตัวแปรเรื่องเวลา เอาเป็นว่าขอติดไว้ก่อน แล้วจะหาโอกาสหยืบยืมรถเสียบปลั๊กจากค่ายใบพัดมาทดสอบแบบจริงจังอีกครั้งแบบฟูลรีวิวครับ
หลังจากที่ทดสอบแบบไม่มีหยุดสำหรับรถทั้ง 3 คันนี้ดำเนินไปกว่า 1 ชม. พอทำให้ได้ข้อสรุปว่าคาแรคเตอร์ของรถแต่ละคันเป็นอย่างไร ผมนิยามไว้สั้นๆว่าถ้าชอบ หล่อ สุขุมและแฝงความดุ ดิบ จากขุมพลังแรง น่าจะเหมาะสมกับ BMW 525d M Sport ถ้าหากเลือกซ่า ขับสนุก ต้องยกให้ BMW 320d Sport
แต่สำหรับผม ขอแค่น้องเล็ก BMW 118i M Sport ก็เพียงพอจากเหตุผลที่ว่าราคาไม่ไกลเกินเอื้อม และควบคุมง่าย เพราะมีมิติตัวถังขนาดเล็กกะทัดรัด การใช้งานของชีวิตคนเมืองน่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ที่เหมาะกับรถคันนี้ที่สุด