Thursday, July 25, 2024
HomeAuto TestTest DriveChevrolet Trailblazer 2.5L VGT 4X2 AT LT พีพีวีระดับพรีเมี่ยม ปรับเปลี่ยนหน้าตา พร้อมสมรรถนะแกร่ง

Chevrolet Trailblazer 2.5L VGT 4X2 AT LT พีพีวีระดับพรีเมี่ยม ปรับเปลี่ยนหน้าตา พร้อมสมรรถนะแกร่ง

ถึงเวลาแห่งการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงรถพีพีวีรุ่นธงแห่งค่ายโบว์ไทพ์สีทอง หลังจากได้มีการเปิดตัว COLORADO กระบะพันธุ์แกร่งไปเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา แน่นอนว่าก้าวต่อไปของโปรดักส์ใหม่แห่งค่ายนี้คือ Trailblazer ซึ่งใช้พื้นฐานเดียวกับกระบะร่วมค่าย แต่ได้รับการเติมเต็มความสะดวกสบายด้วยอุปกรณ์ทันสมัย และตกแต่งรูปลักษณ์ทั้งภายในและภายนอกให้มีความหรูหรา เพื่อยกระดับให้มีความ ”พรีเมียม” มากยิ่งขึ้น

มาดูกันว่า Chevrolet Trailblazer จะมีทีเด็ดอะไรบ้าง โดยการทดสอบในครั้งนี้ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ใช้ระยะทางให้สื่อมวลชนร่วมสัมผัสกับรถคันนี้กว่า 700 กิโลเมตรเลยทีเดียว…ว่าแล้วก็เข้าเรื่องกันเลยครับ

Chevrolet Trailblazer ใช้เวทีแจ้งเกิดในงาน Big Motor Sale 2016 จนถือเป็นดาวเด่นในงานไปโดยปริยาย พีพีวีระดับพรีเมียมคันนี้มากับขนาดความยาว 4,887 มม.ความกว้าง 1,902 มม.ความสูง 1,852 มม. พร้อมยางรองแท่นเครื่องแบบใหม่ที่ลดเสียงและการสั่นสะเทือน สิ่งที่เด่นชัดมาพร้อมกับลุคใหม่ในส่วนของรูปลักษณ์ เน้นไปที่ส่วนหน้าของรถ ตั้งแต่กระจัง ฝากระโปรง และกันชน ความโดดเด่นยังมีเรื่องของชุดโคมไฟหน้าที่ปรับแต่งให้คมขึ้น พร้อมกับติดตั้งไฟกลางวันรวมไว้ในโคมเดียวกัน

สิ่งที่ทีมผู้ออกแบบได้เพิ่มเติมยังมีในด้านของแอโรไดนามิกซึ่งปรับปรุงให้ดีกว่าโมเดลเดิมถึง 12 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนลวดลายของล้อแมกมาเป็นขนาด 18 นิ้ว แต่ในส่วนของดีไซน์ท้ายรถยังคงไว้ในรูปแบบเดียวกับรุ่นก่อน

นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกใหม่ Chevrolet Trailblazer ได้ออกแบบห้องโดยสาร ตกแต่งแผงข้างประตูใหม่ รวมถึงลดเสียงรบกวนลงถึง 8 % จากการลดช่องว่างระหว่างประตูคู่หน้าและตัวถัง รวมถึงปรับการซีลกระจกหน้าและกระจกมองข้าง ทั้งยังเพิ่มความหนาให้กระจกประตูคู่หน้าอีก 10 %

จัดวางเบาะนั่งแถวที่สองและสามให้มีทัศนวิสัยกว้างไกลในรูปแบบของโรงภาพยนตร์ (theatre-style) เย็นสบายด้วยช่องปรับอากาศซึ่งแยกส่วนการควบคุม รวมถึงเพิ่มเติมในส่วนของช่องปรับอากาศของผู้โดยสารแถวที่สาม นอกจากนี้ยังสามารถพับเบาะให้แบนราบเพื่อขยายพื้นที่ให้มีความกว้างขวางมากขึ้นสำหรับการบรรทุกสัมภาระ

ภายในยกชุดคอนโซลมาจากกระบะร่วมค่าย  มาตรวัดสำหรับผู้ขับขี่เป็นภาษาไทย ปรับตำแหน่งสวิทช์ต่างๆเพื่อใช้งานง่าย ติดตั้งจอทัชสกรีนขนาด 8 นิ้ว(ขึ้นอยู่กับรุ่น)  พร้อมระบบอินโฟร์เทนเมนท์รุ่นล่าสุด รองรับการเชื่อมต่อแอปเปิล คาร์เพลย์ แสดงผลจากสมาร์ทโฟนขึ้นบนหน้าจอทัชสกรีนของตัวรถได้ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นสิริ อายส์ฟรี และซอฟต์แวร์สั่งงานด้วยเสียง ทำให้ผู้ขับขี่สามารถสั่งงานด้วยเสียงโดยไม่ต้องละมือจากพวงมาลัย และยังเป็นรถรุ่นแรกในเซกเมนต์ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นรีโมท สตาร์ท ซึ่งสั่งการได้จากระยะไกลเพื่อความสบาย

Chevrolet Trailblazer ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ 4 สูบ ดีเซลเทอร์โบ 2.5 ลิตร ติดตั้งวัสดุดูดซับเสียงรบกวนบริเวณหัวฉีด เพื่อทำงานเงียบขึ้น และปรับปรุงระบบเทอร์โบแปรผันหรือ VGT (Variable Geometry Turbocharger) โดยให้พละกำลังสูงสุด 180 แรงม้า ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 440 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบต่อนาที ควบคุมระบบการทำงานโดยกล่องควบคุมเครื่องยนต์ (ECU) ที่พัฒนาโดย General Motor  ส่วนระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด มีระบบบวก/ลบ ปรับตำแหน่งได้แบบเกียร์ธรรมดา

รายละเอียดยิบย่อยที่ทางทีมผู้ออกแบบไม่มองข้ามคือเรื่องของยางรองตัวถังและยางรองแท่นเครื่องยนต์ ได้ถูกเปลี่ยนมาใช้แบบใหม่ซึ่งช่วยลดแรงสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ ทำให้มีระดับเสียงและแรงสั่นสะเทือนภายในห้องโดยสารลดลง ผลจากการทดสอบของค่ายผู้ผลิตแสดงให้เห็นว่าห้องโดยสารเงียบลง 2-4 เดซิเบลเลยทีเดียว

เทคโนโลยีและความปลอดภัยติดตั้งมาครบครัน ทั้งระบบแจ้งเตือนมุมอับสายตา (Side Blind Zone Alert) ระบบแจ้งเตือนการจราจรขณะถอยหลัง (Rear Cross Traffic Alert) ระบบแจ้งเตือนเมื่อออกจากช่องจราจร (Lane Departure Warning) ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Alert) ระบบช่วยเหลือการจอดด้านหน้าและหลัง (Front & Rear Parking Assist) และระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง (Tire Pressure Monitoring System) ระบบรักษาเสถียรภาพขณะลากจูง (Trailer Sway Control) ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ (Anti-Rolling Protection)  และถุงลมนิรภัยปกป้องหัวเข่าสำหรับผู้ขับขี่

อุ่นเครื่องกันด้วยข้อมูลคร่าวๆ แล้วก็ถึงเวลาของการทดลองขับ เส้นทางที่ใช้เริ่มต้นจากโรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ และสิ้นสุดการเดินทางที่เกาะช้าง จ.ตราด ระยะทางที่ใช้ทดสอบทั้งสิ้นร่วมๆ 700 กม. การที่ได้สัมผัสกับพีพีวีรุ่นธงของค่ายนี้คงได้สนิทแนบชิดกันจนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

การทดสอบในครั้งนี้มีสื่อมวลชนจากหลายสำนักเข้าร่วม และแบ่งออกเป็นรถ 1 คัน ต่อสื่อฯ 3-4 คน โดยพาหนะประจำทริพของผมได้แก่ Chevrolet Trailblazer รุ่น 2.5L VGT 4X2 AT LT ช่วงแรกขอนั่งชิวในฐานะผู้โดยสาร สิ่งที่สัมผัสได้และขอชื่นชมคือ เรื่องของเสียงรบกวนที่เร็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสาร ต้องบอกว่าเงียบขึ้นกว่ารุ่นเดิม และจะมีเสียงลมเร็ดรอดเข้ามาก็ต่อเมื่อใช้ความเร็วสูง แต่หากใช้วามเร็วปกติตามกฎหมายกำหนด สุนทรียแห่งการขับขี่และความเพลิดเพลินจากระบบความบันเทิงจะเพิ่มอรรถรสให้คุณขับรถคันนี้ได้สบายขึ้นแน่นอน ซึ่งทั้งหมดเป็นผลพวงมาจากการนำ ”โฟม” มาอุดรูทางเดินของลมปะทะ รวมถึงการซีลขอบประตูและกระจกที่ได้ประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม

แต่ในฐานะของผู้โดยสารผมเองรู้สึกว่าระบบช่วงล่างค่อนข้างแข็งกระด้างไปนิด ซึ่งเกิดความขัดแย้งเล็กน้อยจากเพื่อนสื่อที่เป็นผู้ขับและผู้โดยสารตอนหน้า ทัศนะของแต่ละคนอาจต่างกันซึ่งข้อสรุปมุ่งไปที่การเติมลมยาง เพราะเพื่อนๆที่นั่งในตำแหน่งแถวหน้าต่างบอกว่า ในส่วนนี้ไม่ถึงกับแข็งกระด้าง (ชักเริ่มมีการมองต่างมุม)

เมื่อถึงจุดสลับผู้ขับ ผมเปลี่ยนจากผู้โดยสารมาทำหน้าที่ควบคุมพวงมาลัย จริงอย่างที่เพื่อนสื่อว่าครับ ทำไมตำแหน่งนี้ให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากผู้โดยสารแถว 2 และเพื่อนสื่อฯที่สลับไปนั่งแถว 2 ก็มีคำตอบแบบที่ว่าคือทำไมถึงรู้สึกแข็งกระด้าง ความเห็นนี้เกิดจากการรวมหัวและมุ่งไปที่ส่วนของ ”ยาง” และ “ลมยาง” ก็จริงอย่างที่ว่า เพราะแรงดันลมยางพุ่งไปที่ 41 ปอนด์ คลายข้อสงสัยไปได้หนึ่งเปราะ

กลับมาถึงการเป็นผู้ขับขี่ เริ่มที่สมรรถนะของเครื่องยนต์ ถึงแม้ว่าขนาดความจุจะน้อยไปนิดตามเทรน เครื่องเล็ก แรงม้า เยอะ แต่ประหยัด ในจุดนี้ไม่ได้เป็นภาระของการแบกรับน้ำหนักตัว 2 ,142 กิโลกรัม แต่อย่างใด อัตราเร่งจากเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ 4 สูบ ดีเซลเทอร์โบ 2.5 ลิตร พละกำลังสูงสุด 180 แรงม้า ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 440 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ ไต่ความเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่โดดเด่นคือเกียร์อัตโนมัติแบบ  6 จังหวะ มาพร้อมกับบวก/ลบ บริเวณคันเกียร์ ทำงานได้ราบลื่น ลดการสะดุดของรอยต่อเกียร์ซึ่งสัมผัสได้ชัดเจน

สรุปแบบรวมๆได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยประมาณ 10-12 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งรูปแบบการขับขี่บางครั้งยังกดคันเร่งไปถึง 150-160 กม./ชม. สำหรับตัวเลขที่ระบบประมวลผลมายังมาตรวัด สำหรับผมถือว่าดีพอสำหรับรถอเนกประสงค์ที่มีน้ำหนักตัวกว่า 2 ตัน

รถคันใหญ่แบบนี้สตรีเพศคงมองว่าพวงมาลัยหนัก ขับลำบาก เล็งยาก ลืมเรื่องพวกนี้ไปก่อนแล้วมาปรับทัศนคติกันใหม่ ว่ากันด้วยเรื่องของระบบพวงมาลัยไฟฟ้า (EPS) ระบบนี้ช่วยให้คุณผู้หญิงขับขี่ได้ง่ายและเบามือโดยไม่ต้องออกแรงมาก เพราะระบบบังคับเลี้ยวจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นตามความเร็วในการขับขี่ ในช่วงความเร็วต่ำ น้ำหนักของพวงมาลัยค่อนข้างเบา จึงทำให้การบังคับเลี้ยวสะดวกสบาย ในกรณีที่ใช้ความเร็วสูง แม้ว่าน้ำหนักของพวงมาลัยจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ทั้งนี้เป็นเรื่องของการควบคุมที่ปลอดภัยและบังคับทิศทางได้แม่นยำ

ทีนี้มาลองฟังค์ชั่นเพื่อการชับขี่ที่ปลอดภัยกันบ้าง เรียกได้ว่ายกมาจาก Corolado แบบครบเซท จะไปติติงอะไรไม่ได้ครับ เพราะล้วนแต่เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยให้ Chevrolet Trailblazer เป็นพีพีวีระดับพรีเมียมได้อย่างเต็มภาคภูมิ

เริ่มกันที่รีโมทสตาร์ท ฟังค์ชั่นนี้ตอบโจทย์ให้กับผู้ใช้รถชาวไทยได้แน่นอน เพราะไม่ต้องทนร้อนตอนสตาร์ท แถมยังสามารถติดเครื่องยนต์พร้อมกับเปิดระบบปรับอากาศได้จากระยะไกลอย่างน้อย 20 ม. เพียงกดปุ่มล๊อค แล้วรอให้สัญญาณกระพริบ ต่อจากนั้นจึงกดปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ พอจะเข้าไปยังห้องโดยสารก็กดปุ่มเปิดล๊อคอีกครั้ง แล้วค่อยกดปุ่ม Push Start แค่นี้ก็ได้ห้องโดยสารที่เย็นสบายพร้อมสรรพสำหรับเดินทาง

ระบบแจ้งเตือนมุมอับสายตา (Side Blind Zone Alert) หากผู้ขับขี่ขาดสมาธิเพียงน้อยนิด อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุตามมาก็เป็นได้ ระบบนี้จะโชว์ไฟเตือนมาที่กระจกมองข้าง ในกรณีที่มีรถอยู่ในมุมอับสายตา เซนเซอร์จะทำการตรวจจับและแจ้งเตือนมาที่กระจกมองข้างได้อย่างทันท่วงที

ระบบแจ้งเตือนเมื่อออกจากช่องจราจร (Lane Departure Warning) เมื่อเซนเซอร์ตรวจจับการขับขี่ที่เริ่มเบี่ยงออกนอกช่องทาง โดยใช้เรดาร์จับที่เส้นแบ่งถนน จะทำการแจ้งเตือนในรูปแบบของเสียง และมีสัญลักษณ์โชว์ที่จอเล็กๆในชุดมาตรวัด แต่ไม่มีการดึงพวงมาลัยกลับหรือช่วยเบรกแต่อย่างใด

ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Alert) ทำงานจากเซ็นเซอร์ที่อยู่หน้ารถประมวลผลและส่งสัญญาณเตือนมายังผู้ขับขี่เพื่อให้เพิ่มความระมัดระวัง โดยสามารถตั้งระยะใกล้หรือไกลได้ตามขอบเขตที่ระบบที่จำกัดไว้ ทั้งนี้ฟังค์ชั่นที่ว่าเป็นเพียงการแจ้งเตือน แต่ไม่มีการช่วยเบรกอัตโนมัติ

ระบบแจ้งเตือนการจราจรขณะถอยหลัง (Rear Cross Traffic Alert) ถือเป็นระบบสุดท้ายที่ได้ลองในการทดสอบครั้งนี้ เมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง(ในกรณีนำรถออกจากช่องจอด) ระบบจะใช้เรดาร์สแกนหาวัตถุเคลื่อนไหว ระยะทำการกว่า 20 ม. หากตรวจพบจะส่งสัญญาณเตือนมาที่ลำโพงด้านใดด้านหนึ่งตามทิศทางการตรวจจับ เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่หยุดรถหรือเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

สำหรับ Chevrolet Trailblazer สรุปกันตรงนี้เลยว่า ในส่วนของรูปลักษณ์สะท้อนถึงการเป็น “พีพีวีระดับพรีเมี่ยม” ได้อย่างดี จะมีส่วนที่ขอติติงคือมุมมองด้านหลัง ยังคงรูปแบบเดิมๆไว้ น่าจะปรับแต่งอะไรสักเล็กน้อย จะทำให้ดูลงตัวมากกว่านี้

ในด้านของขุมพลังถึงแม้เครื่องยนต์จะมีขนาดความจุที่เล็กไปสักนิด แต่แรงม้าและแรงบิด มีมากพอจะพาร่างท้วมๆน้ำหนักตัวกว่า 2 ตันไปได้อย่างสบาย ความเร็วปลายทะลุ 160 กม./ชม.ในระยะเวลาไม่นานนัก ช่วงเริ่มแรกของการทดสอบ ระบบช่วงล่างอาจจะแข็งไปสักนิด แต่ก็มาถึงบางอ้อเพราะแรงดันลมยางเกินมาตรฐานไปเกือบ 10 ปอนด์เห็นจะได้ เมื่อปรับระดับแรงดันลมยางให้เข้าที่ สมรรถนะของระบบช่วงล่างได้สำแดงออกมาถึงความหนึบ และไม่แข็งกระด้างแบบในช่วงสัมผัสแรก  ที่โดดเด่นสุด คือเรื่องเสียงที่เร็ดรอดมาในห้องโดยสาร การบ้านนี้ทีมผู้ผลิตได้เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี และเงียบลงกว่ารุ่นก่อนอย่างชัดเจน

ฟังค์ชั่นที่ติดตั้งมากับตัวรถถือเป็นการยกระดับคำว่า”พรีเมียม”ได้เป็นอย่างดี แต่ทุกระบบที่ติดตั้งเป็นเพียงแค่การเตือนในรูปแบบของภาพและเสียง ถ้าจะให้ดีควรจะมีการช่วยเบรคแบบอัตโนมัติหรือควบคุมบังคับทิศทางตามเซ็นเซอร์ที่ตรวจจับและประมวลผลให้กล่องอีซียูเป็นผู้สั่งการ ทั้งนี้ถ้าจะเป็นไปตามใจอยากทุกอย่าง ราคาจำหน่ายของรถคันนี้คงพุ่งสูงไปกว่าที่ตั้งไว้  ซึ่งเริ่มที่ 1,244,000 บาท ในรุ่น 2.5L VGT 4X2 AT LT และไปจบที่ 1,479,000 บาท  ในรุ่นท๊อฟ 2.5L VGT 4X4 AT LTZ ถ้านำราคาของคู่แข่งแต่ละค่ายมาเทียบ Chevrolet Trailblazer ดุแล้วยังไงก็มีราคาที่เป็นต่อคู่แข่งอีกหลายค่าย รูปร่าง ประโยชน์ใช้สอย และฟังค์ชั่นที่ติดมากับรถ คำตอบทั้งหมดอยู่ที่ตัวคุณว่ามีความพอใจมากน้อยขนาดไหนกับ พีพีวีระดับพรีเมี่ยมในชื่อ Chevrolet Trailblazer แต่ถ้าเป็นในด้านของสมรรถนะ ผมสรุปไว้ได้เลยว่ารถคันนี้สอบผ่านอย่างไม่ต้องเป็นห่วง

RELATED ARTICLES

Most Popular