มาดูกันว่า Chevrolet Trailblazer จะมีทีเด็ดอะไรบ้าง โดยการทดสอบในครั้งนี้ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ใช้ระยะทางให้สื่อมวลชนร่วมสัมผัสกับรถคันนี้กว่า 700 กิโลเมตรเลยทีเดียว…ว่าแล้วก็เข้าเรื่องกันเลยครับ
Chevrolet Trailblazer ใช้เวทีแจ้งเกิดในงาน Big Motor Sale 2016 จนถือเป็นดาวเด่นในงานไปโดยปริยาย พีพีวีระดับพรีเมียมคันนี้มากับขนาดความยาว 4,887 มม.ความกว้าง 1,902 มม.ความสูง 1,852 มม. พร้อมยางรองแท่นเครื่องแบบใหม่ที่ลดเสียงและการสั่นสะเทือน สิ่งที่เด่นชัดมาพร้อมกับลุคใหม่ในส่วนของรูปลักษณ์ เน้นไปที่ส่วนหน้าของรถ ตั้งแต่กระจัง ฝากระโปรง และกันชน ความโดดเด่นยังมีเรื่องของชุดโคมไฟหน้าที่ปรับแต่งให้คมขึ้น พร้อมกับติดตั้งไฟกลางวันรวมไว้ในโคมเดียวกัน
สิ่งที่ทีมผู้ออกแบบได้เพิ่มเติมยังมีในด้านของแอโรไดนามิกซึ่งปรับปรุงให้ดีกว่าโมเดลเดิมถึง 12 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนลวดลายของล้อแมกมาเป็นขนาด 18 นิ้ว แต่ในส่วนของดีไซน์ท้ายรถยังคงไว้ในรูปแบบเดียวกับรุ่นก่อน
นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกใหม่ Chevrolet Trailblazer ได้ออกแบบห้องโดยสาร ตกแต่งแผงข้างประตูใหม่ รวมถึงลดเสียงรบกวนลงถึง 8 % จากการลดช่องว่างระหว่างประตูคู่หน้าและตัวถัง รวมถึงปรับการซีลกระจกหน้าและกระจกมองข้าง ทั้งยังเพิ่มความหนาให้กระจกประตูคู่หน้าอีก 10 %
จัดวางเบาะนั่งแถวที่สองและสามให้มีทัศนวิสัยกว้างไกลในรูปแบบของโรงภาพยนตร์ (theatre-style) เย็นสบายด้วยช่องปรับอากาศซึ่งแยกส่วนการควบคุม รวมถึงเพิ่มเติมในส่วนของช่องปรับอากาศของผู้โดยสารแถวที่สาม นอกจากนี้ยังสามารถพับเบาะให้แบนราบเพื่อขยายพื้นที่ให้มีความกว้างขวางมากขึ้นสำหรับการบรรทุกสัมภาระ
ภายในยกชุดคอนโซลมาจากกระบะร่วมค่าย มาตรวัดสำหรับผู้ขับขี่เป็นภาษาไทย ปรับตำแหน่งสวิทช์ต่างๆเพื่อใช้งานง่าย ติดตั้งจอทัชสกรีนขนาด 8 นิ้ว(ขึ้นอยู่กับรุ่น) พร้อมระบบอินโฟร์เทนเมนท์รุ่นล่าสุด รองรับการเชื่อมต่อแอปเปิล คาร์เพลย์ แสดงผลจากสมาร์ทโฟนขึ้นบนหน้าจอทัชสกรีนของตัวรถได้ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นสิริ อายส์ฟรี และซอฟต์แวร์สั่งงานด้วยเสียง ทำให้ผู้ขับขี่สามารถสั่งงานด้วยเสียงโดยไม่ต้องละมือจากพวงมาลัย และยังเป็นรถรุ่นแรกในเซกเมนต์ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นรีโมท สตาร์ท ซึ่งสั่งการได้จากระยะไกลเพื่อความสบาย
Chevrolet Trailblazer ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ 4 สูบ ดีเซลเทอร์โบ 2.5 ลิตร ติดตั้งวัสดุดูดซับเสียงรบกวนบริเวณหัวฉีด เพื่อทำงานเงียบขึ้น และปรับปรุงระบบเทอร์โบแปรผันหรือ VGT (Variable Geometry Turbocharger) โดยให้พละกำลังสูงสุด 180 แรงม้า ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 440 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบต่อนาที ควบคุมระบบการทำงานโดยกล่องควบคุมเครื่องยนต์ (ECU) ที่พัฒนาโดย General Motor ส่วนระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด มีระบบบวก/ลบ ปรับตำแหน่งได้แบบเกียร์ธรรมดา
รายละเอียดยิบย่อยที่ทางทีมผู้ออกแบบไม่มองข้ามคือเรื่องของยางรองตัวถังและยางรองแท่นเครื่องยนต์ ได้ถูกเปลี่ยนมาใช้แบบใหม่ซึ่งช่วยลดแรงสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ ทำให้มีระดับเสียงและแรงสั่นสะเทือนภายในห้องโดยสารลดลง ผลจากการทดสอบของค่ายผู้ผลิตแสดงให้เห็นว่าห้องโดยสารเงียบลง 2-4 เดซิเบลเลยทีเดียว
เทคโนโลยีและความปลอดภัยติดตั้งมาครบครัน ทั้งระบบแจ้งเตือนมุมอับสายตา (Side Blind Zone Alert) ระบบแจ้งเตือนการจราจรขณะถอยหลัง (Rear Cross Traffic Alert) ระบบแจ้งเตือนเมื่อออกจากช่องจราจร (Lane Departure Warning) ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Alert) ระบบช่วยเหลือการจอดด้านหน้าและหลัง (Front & Rear Parking Assist) และระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง (Tire Pressure Monitoring System) ระบบรักษาเสถียรภาพขณะลากจูง (Trailer Sway Control) ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ (Anti-Rolling Protection) และถุงลมนิรภัยปกป้องหัวเข่าสำหรับผู้ขับขี่
อุ่นเครื่องกันด้วยข้อมูลคร่าวๆ แล้วก็ถึงเวลาของการทดลองขับ เส้นทางที่ใช้เริ่มต้นจากโรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ และสิ้นสุดการเดินทางที่เกาะช้าง จ.ตราด ระยะทางที่ใช้ทดสอบทั้งสิ้นร่วมๆ 700 กม. การที่ได้สัมผัสกับพีพีวีรุ่นธงของค่ายนี้คงได้สนิทแนบชิดกันจนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร
การทดสอบในครั้งนี้มีสื่อมวลชนจากหลายสำนักเข้าร่วม และแบ่งออกเป็นรถ 1 คัน ต่อสื่อฯ 3-4 คน โดยพาหนะประจำทริพของผมได้แก่ Chevrolet Trailblazer รุ่น 2.5L VGT 4X2 AT LT ช่วงแรกขอนั่งชิวในฐานะผู้โดยสาร สิ่งที่สัมผัสได้และขอชื่นชมคือ เรื่องของเสียงรบกวนที่เร็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสาร ต้องบอกว่าเงียบขึ้นกว่ารุ่นเดิม และจะมีเสียงลมเร็ดรอดเข้ามาก็ต่อเมื่อใช้ความเร็วสูง แต่หากใช้วามเร็วปกติตามกฎหมายกำหนด สุนทรียแห่งการขับขี่และความเพลิดเพลินจากระบบความบันเทิงจะเพิ่มอรรถรสให้คุณขับรถคันนี้ได้สบายขึ้นแน่นอน ซึ่งทั้งหมดเป็นผลพวงมาจากการนำ ”โฟม” มาอุดรูทางเดินของลมปะทะ รวมถึงการซีลขอบประตูและกระจกที่ได้ประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม
แต่ในฐานะของผู้โดยสารผมเองรู้สึกว่าระบบช่วงล่างค่อนข้างแข็งกระด้างไปนิด ซึ่งเกิดความขัดแย้งเล็กน้อยจากเพื่อนสื่อที่เป็นผู้ขับและผู้โดยสารตอนหน้า ทัศนะของแต่ละคนอาจต่างกันซึ่งข้อสรุปมุ่งไปที่การเติมลมยาง เพราะเพื่อนๆที่นั่งในตำแหน่งแถวหน้าต่างบอกว่า ในส่วนนี้ไม่ถึงกับแข็งกระด้าง (ชักเริ่มมีการมองต่างมุม)
เมื่อถึงจุดสลับผู้ขับ ผมเปลี่ยนจากผู้โดยสารมาทำหน้าที่ควบคุมพวงมาลัย จริงอย่างที่เพื่อนสื่อว่าครับ ทำไมตำแหน่งนี้ให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากผู้โดยสารแถว 2 และเพื่อนสื่อฯที่สลับไปนั่งแถว 2 ก็มีคำตอบแบบที่ว่าคือทำไมถึงรู้สึกแข็งกระด้าง ความเห็นนี้เกิดจากการรวมหัวและมุ่งไปที่ส่วนของ ”ยาง” และ “ลมยาง” ก็จริงอย่างที่ว่า เพราะแรงดันลมยางพุ่งไปที่ 41 ปอนด์ คลายข้อสงสัยไปได้หนึ่งเปราะ
กลับมาถึงการเป็นผู้ขับขี่ เริ่มที่สมรรถนะของเครื่องยนต์ ถึงแม้ว่าขนาดความจุจะน้อยไปนิดตามเทรน เครื่องเล็ก แรงม้า เยอะ แต่ประหยัด ในจุดนี้ไม่ได้เป็นภาระของการแบกรับน้ำหนักตัว 2 ,142 กิโลกรัม แต่อย่างใด อัตราเร่งจากเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ 4 สูบ ดีเซลเทอร์โบ 2.5 ลิตร พละกำลังสูงสุด 180 แรงม้า ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 440 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ ไต่ความเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่โดดเด่นคือเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 จังหวะ มาพร้อมกับบวก/ลบ บริเวณคันเกียร์ ทำงานได้ราบลื่น ลดการสะดุดของรอยต่อเกียร์ซึ่งสัมผัสได้ชัดเจน
สรุปแบบรวมๆได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยประมาณ 10-12 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งรูปแบบการขับขี่บางครั้งยังกดคันเร่งไปถึง 150-160 กม./ชม. สำหรับตัวเลขที่ระบบประมวลผลมายังมาตรวัด สำหรับผมถือว่าดีพอสำหรับรถอเนกประสงค์ที่มีน้ำหนักตัวกว่า 2 ตัน
รถคันใหญ่แบบนี้สตรีเพศคงมองว่าพวงมาลัยหนัก ขับลำบาก เล็งยาก ลืมเรื่องพวกนี้ไปก่อนแล้วมาปรับทัศนคติกันใหม่ ว่ากันด้วยเรื่องของระบบพวงมาลัยไฟฟ้า (EPS) ระบบนี้ช่วยให้คุณผู้หญิงขับขี่ได้ง่ายและเบามือโดยไม่ต้องออกแรงมาก เพราะระบบบังคับเลี้ยวจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นตามความเร็วในการขับขี่ ในช่วงความเร็วต่ำ น้ำหนักของพวงมาลัยค่อนข้างเบา จึงทำให้การบังคับเลี้ยวสะดวกสบาย ในกรณีที่ใช้ความเร็วสูง แม้ว่าน้ำหนักของพวงมาลัยจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ทั้งนี้เป็นเรื่องของการควบคุมที่ปลอดภัยและบังคับทิศทางได้แม่นยำ
ทีนี้มาลองฟังค์ชั่นเพื่อการชับขี่ที่ปลอดภัยกันบ้าง เรียกได้ว่ายกมาจาก Corolado แบบครบเซท จะไปติติงอะไรไม่ได้ครับ เพราะล้วนแต่เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยให้ Chevrolet Trailblazer เป็นพีพีวีระดับพรีเมียมได้อย่างเต็มภาคภูมิ
เริ่มกันที่รีโมทสตาร์ท ฟังค์ชั่นนี้ตอบโจทย์ให้กับผู้ใช้รถชาวไทยได้แน่นอน เพราะไม่ต้องทนร้อนตอนสตาร์ท แถมยังสามารถติดเครื่องยนต์พร้อมกับเปิดระบบปรับอากาศได้จากระยะไกลอย่างน้อย 20 ม. เพียงกดปุ่มล๊อค แล้วรอให้สัญญาณกระพริบ ต่อจากนั้นจึงกดปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ พอจะเข้าไปยังห้องโดยสารก็กดปุ่มเปิดล๊อคอีกครั้ง แล้วค่อยกดปุ่ม Push Start แค่นี้ก็ได้ห้องโดยสารที่เย็นสบายพร้อมสรรพสำหรับเดินทาง
ระบบแจ้งเตือนมุมอับสายตา (Side Blind Zone Alert) หากผู้ขับขี่ขาดสมาธิเพียงน้อยนิด อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุตามมาก็เป็นได้ ระบบนี้จะโชว์ไฟเตือนมาที่กระจกมองข้าง ในกรณีที่มีรถอยู่ในมุมอับสายตา เซนเซอร์จะทำการตรวจจับและแจ้งเตือนมาที่กระจกมองข้างได้อย่างทันท่วงที
ระบบแจ้งเตือนเมื่อออกจากช่องจราจร (Lane Departure Warning) เมื่อเซนเซอร์ตรวจจับการขับขี่ที่เริ่มเบี่ยงออกนอกช่องทาง โดยใช้เรดาร์จับที่เส้นแบ่งถนน จะทำการแจ้งเตือนในรูปแบบของเสียง และมีสัญลักษณ์โชว์ที่จอเล็กๆในชุดมาตรวัด แต่ไม่มีการดึงพวงมาลัยกลับหรือช่วยเบรกแต่อย่างใด
ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Alert) ทำงานจากเซ็นเซอร์ที่อยู่หน้ารถประมวลผลและส่งสัญญาณเตือนมายังผู้ขับขี่เพื่อให้เพิ่มความระมัดระวัง โดยสามารถตั้งระยะใกล้หรือไกลได้ตามขอบเขตที่ระบบที่จำกัดไว้ ทั้งนี้ฟังค์ชั่นที่ว่าเป็นเพียงการแจ้งเตือน แต่ไม่มีการช่วยเบรกอัตโนมัติ
ระบบแจ้งเตือนการจราจรขณะถอยหลัง (Rear Cross Traffic Alert) ถือเป็นระบบสุดท้ายที่ได้ลองในการทดสอบครั้งนี้ เมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง(ในกรณีนำรถออกจากช่องจอด) ระบบจะใช้เรดาร์สแกนหาวัตถุเคลื่อนไหว ระยะทำการกว่า 20 ม. หากตรวจพบจะส่งสัญญาณเตือนมาที่ลำโพงด้านใดด้านหนึ่งตามทิศทางการตรวจจับ เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่หยุดรถหรือเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
สำหรับ Chevrolet Trailblazer สรุปกันตรงนี้เลยว่า ในส่วนของรูปลักษณ์สะท้อนถึงการเป็น “พีพีวีระดับพรีเมี่ยม” ได้อย่างดี จะมีส่วนที่ขอติติงคือมุมมองด้านหลัง ยังคงรูปแบบเดิมๆไว้ น่าจะปรับแต่งอะไรสักเล็กน้อย จะทำให้ดูลงตัวมากกว่านี้
ในด้านของขุมพลังถึงแม้เครื่องยนต์จะมีขนาดความจุที่เล็กไปสักนิด แต่แรงม้าและแรงบิด มีมากพอจะพาร่างท้วมๆน้ำหนักตัวกว่า 2 ตันไปได้อย่างสบาย ความเร็วปลายทะลุ 160 กม./ชม.ในระยะเวลาไม่นานนัก ช่วงเริ่มแรกของการทดสอบ ระบบช่วงล่างอาจจะแข็งไปสักนิด แต่ก็มาถึงบางอ้อเพราะแรงดันลมยางเกินมาตรฐานไปเกือบ 10 ปอนด์เห็นจะได้ เมื่อปรับระดับแรงดันลมยางให้เข้าที่ สมรรถนะของระบบช่วงล่างได้สำแดงออกมาถึงความหนึบ และไม่แข็งกระด้างแบบในช่วงสัมผัสแรก ที่โดดเด่นสุด คือเรื่องเสียงที่เร็ดรอดมาในห้องโดยสาร การบ้านนี้ทีมผู้ผลิตได้เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี และเงียบลงกว่ารุ่นก่อนอย่างชัดเจน
ฟังค์ชั่นที่ติดตั้งมากับตัวรถถือเป็นการยกระดับคำว่า”พรีเมียม”ได้เป็นอย่างดี แต่ทุกระบบที่ติดตั้งเป็นเพียงแค่การเตือนในรูปแบบของภาพและเสียง ถ้าจะให้ดีควรจะมีการช่วยเบรคแบบอัตโนมัติหรือควบคุมบังคับทิศทางตามเซ็นเซอร์ที่ตรวจจับและประมวลผลให้กล่องอีซียูเป็นผู้สั่งการ ทั้งนี้ถ้าจะเป็นไปตามใจอยากทุกอย่าง ราคาจำหน่ายของรถคันนี้คงพุ่งสูงไปกว่าที่ตั้งไว้ ซึ่งเริ่มที่ 1,244,000 บาท ในรุ่น 2.5L VGT 4X2 AT LT และไปจบที่ 1,479,000 บาท ในรุ่นท๊อฟ 2.5L VGT 4X4 AT LTZ ถ้านำราคาของคู่แข่งแต่ละค่ายมาเทียบ Chevrolet Trailblazer ดุแล้วยังไงก็มีราคาที่เป็นต่อคู่แข่งอีกหลายค่าย รูปร่าง ประโยชน์ใช้สอย และฟังค์ชั่นที่ติดมากับรถ คำตอบทั้งหมดอยู่ที่ตัวคุณว่ามีความพอใจมากน้อยขนาดไหนกับ พีพีวีระดับพรีเมี่ยมในชื่อ Chevrolet Trailblazer แต่ถ้าเป็นในด้านของสมรรถนะ ผมสรุปไว้ได้เลยว่ารถคันนี้สอบผ่านอย่างไม่ต้องเป็นห่วง