การทดสอบรถยนต์ในครั้งนี้อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง จากเดิมทดลองให้รู้ถึงสมรรถนะการขับขี่ในทุกๆด้าน ทั้งรูปลักษณ์ การใช้งาน ความสะดวกสบาย รวมถึงในเรื่องของขุมพลัง ซึ่งทั้งหมดได้รู้แจ้งไปแล้วเมื่อประมาณ 1ปีที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้เป็นขับ Suzuki Ciaz เพื่อพิสูจน์สมรรถนะความประหยัด โดยมีชิ่อว่า “The Happiness Journey with Suzuki CIAZ” ซึ่งเป็นกิจกรรมแห่งการค้นหาตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื่อเพลิง งานนี้มีลุ้นครับ แต่ก็ดันต้องมาตกม้าตายตอนจบ เพราะอะไรถึงทำให้ภารกิจล่ม ตามต่อได้ในรายงาน
“The Happiness Journey with Suzuki CIAZ” กิจกรรมการทดสอบรถยนต์ Suzuki CIAZ ในรูปแบบของการหาตัวเลขอัตราสิ้นเปลือง จัดขึ้นทั้งหมด 5 เส้นทาง เริ่มตั้งแต่จ.เชียงใหม่ แล้วไปจบทริพสุดท้ายที่จ.ภูเก็ต โดยมีกติกาบังคับชัดเจน ซึ่งผู้จัดงานได้ออกกฎมาอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาในภายหลัง
กติกามีอยู่ว่ารถทุกคันที่เข้าร่วมจะมีผู้โดยสารท่านละ 3 คน (รวมสัมภาระ) เติมเชื้อเพลิงเต็มถังในปริมาณเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน ในส่วนของระบบปรับอากาศและก้านเซ็ทระยะทางจะถูกแพคปิดมิดชิด รถทุกคันจะถูกเตรียมไว้เพื่อใช้ในการแข่งขัน เข้าเส้นชัยก่อนกำหนดไม่มีผลต่อการแข่งขัน แต่หากเข้าหลังจากเวลาที่กำหนดถือว่าถูกตัดสิทธิ์และแพ้ฟาล์วซึ่งถือคำตัดสินของกรรมการเป็นที่สิ้นสุด
ในส่วนของเส้นทางทั้งหมดมีอยู่ 5 เส้นทาง ทริพแรกเริ่มจาก เชียงใหม่-พิษณุโลก แต่ทริพนี้จะเป็นการเดินทางจากพิษณุโลก-นครสวรรค์ ระยะทางรวม 137 กิโลเมตร ในเวลา 120 นาที โดยมีการกำหนดเส้นทางไว้ชัดเจน ซึ่งสภาพโดยรวมเป็นพื้นราบ ไม่มีช่วงเนิน โค้ง หรือขึ้น ลง ภูเขา เท่ากับว่าตัวแปรของเส้นทางแทบจะถูกตัดออกจากการเป็นปัญหาต่อการแข่งขัน
ผมขันอาสารับเป็นสารถีโดยให้เพื่อนๆสื่อมวลชนที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกประจำรถอีก 2 ท่านคอยสังเกตเส้นทาง รวมถึงระยะทางที่เหลือในการแข่งขัน ออกสตาร์ทจากโรงแรมโยเดียซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธชินราชซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ผุ้คนเมืองสองแควเคารพสักการะ
รถทั้ง 5 คันที่เข้าร่วมการแข่งขันขับขี่ไปตามเส้นทางที่ผู้จัดกำหนดไว้คือจากพิษณุโลก มุ่งสู่พิจิตร เพื่อไปจบการแข่งขันที่เมืองปากน้ำโพ ด้วยความเป็นรถอีโค่คาร์ในรูปแบบซีดานกลุ่ม B Segment ออกแบบตัวรถให้มีขนาดใหญ่ด้วยความยาว 4,490 มม. กว้าง 1,730 มม. และสูง 1,475 มม.ซึ่งถ้านำมาเทียบกับรถในกลุ่ม B CAR ขนาด 1,500 cc ของหลายๆ ค่าย อาจจะใกล้เคียงหรือเป็นต่อจากเรื่องความยาวและยังช่วยในเรื่องของอากาศพลศาสตร์ด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานต่ำเพียง 0.29 จึงทำให้อีโค่คาร์ในรูปแบบซีดานคันนี้มีการต้านลมต่ำ
ห้องโดยสารถือเป็นจุดเด่นเพราะ กว้างขวาง และ นั่งสบาย รวมถึงคณะกรรมการปรับเซทระบบปรับอากาศไว้ที่อุณหภูมิ 23 องศา จนทำให้เพื่อนสมาชิกที่เข้าร่วมเผลอหลับไปตั้งแต่ออกเดินทางเพียงนานนัก ส่วนผมขอขับด้วยวิธีเลี้ยงรอบความเร็วไว้ไม่เกิน 1700 รอบ ซึ่งเข็มความเร็วแสดงที่ประมาณ 90 กม./ชม. พร้อมฟังบทเพลงแก้เหงาจากเครื่องเล่นวิทยุที่มากับช่องเสียบ USB MP3 รวมถึงเชื่อมต่อบลูทูธผ่านโปรแกรม Apple Carplay
เส้นทางไม่ถือเป็นอุปสรรคต่อขุมพลังเครื่องยนต์เบนซินรหัส K12B ขนาดความจุ 1,242 ซีซี มีกำลังสูงสุด 91 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 118 นิวตันเมตรที่ 4,800 รอบต่อนาที ติดตั้งระบบส่งกำลัง เกียร์อัตโนมัติแบบ CVT รวมถึงมีฟังค์ชั่น ครูสคอนโทรล ซึ่งการขับขี่ในรูปแบบนี้ไม่ควรใช้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติจะคอยเพิ่มรอบเครื่องยนต์ให้กลับไปอยู่ในย่านความเร็วที่ปรับเซทไว้ ทำให้ระบบการฉีดเชื้อเพลิงใม่คงที่ ส่งผลให้เกิดการสิ้นเปลืองมากกว่าการควบคุมคันเร่งให้สม่ำเสมอตลอดการเดินทาง
บางช่วงของเส้นทางบริเวณ จ.พิจิตรมายังจ.นครสวรรค์ มีการซ่อมผิวถนน อุปสรรคนี้ถือว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีการยกขาออกจากคันเร่ง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของช่วงล่างหน้าแบบแม็กเฟอร์สันสตรัทพร้อมคอยล์สปริง และ ด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม พร้อมคอยล์สปริงได้มีส่วนในการรองรับแรงกระแทกจากสภาพเส้นทางที่อยู่ในขั้นตอนของการซ่อมบำรุง
ผ่านช่วงการซ่อมผิวถนน เพื่อสมาชิกก็เริ่มตื่นจากภวังค์และกลับมาช่วยดูเส้นทางรวมถึงเช็คอัตราการสิ้นเปลืองที่แสดงอยู่ที่จอ Multi Information Display ซึ่งในขณะนั้นแสดงอยู่ที่ ประมาณ 25 กม./ลิตร กับระยะทางที่เหลืออีกไม่ถึง 100 กม. และเหลือเวลาในการแข่งขันอีกประมาณ 60 นาที
ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นจนกระทั่งเหลือเวลา 15 นาที กับระยะทางอีกประมาณ 10 กม. เส้นทางก่อนเข้าเส้นชัยจะเป็นถือเป็นปัญหาหนัก นั่นคือการจราจรในเมืองปากน้ำโพ ทั้งรถท้องถิ่น สิบล้อ รถพ่วง ประเดประดังมาแน่นถนน แม้เป็นช่วงเวลาใกล้เที่ยงก็ตามที ตัวเมืองปากน้ำโพยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ อาจเป็นเพราะมีถนนหลักที่ใช้ขึ้นสายเหนือมาประจบกันที่นี่ จึงทำให้การจราจรหนาแน่นและเคลื่อนตัวไปได้ช้า ยิ่งช่วง 5 กม.สุดท้ายก่อนถึงจุดสิ้นสุดการแข่งขัน เป็นอะไรที่กดดันมากๆ ทั้งการจราจร และวินัยการขับรถของผุ้ใช้รถใช้ถนน แต่ก็เอาเป็นว่ามาถึงปลายทางได้อย่างปลอดภัย
สวิตช์ Keyless Push ถูกสั่งการให้ปิดการทำงาน ทุกอย่างสิ้นสุดลงที่ร้าน เฮือนธารา ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตัวเมืองนครสวรรค์ ตัวเลขแสดงอัตราสิ้นเปลืองที่ทำได้ในครั้งนี้อยู่ที่ 23.6 กม./ลิตร แต่ทว่าเวลาที่ใช้ในการแข่งขันทั้งหมด 120 นาที แต่ผมทำเวลาเกินไป 2 นาที เท่ากับว่าการแข่งขันตลอดระยะทาง 137 กิโลเมตร ถือเป็นโมฆะ และไม่มีการบันทึกสถิติตัวเลขการประหยัดเชื้อเพลิงแต่อย่างใด
สำหรับผลการแข่งขันของ “The Happiness Journey with Suzuki CIAZ” รถคันที่ได้แชมป์ ทำเวลาไปได้ 22.8 ถึงแม้ว่าค่าเฉลี่ยอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถคันที่ผมขับจะทำเวลาได้ดีกว่าผู้ชนะเลิศ แต่เมื่อกติการะบุไว้ชัดเจนในส่วนของเวลาที่ใช้แข่งขัน ซึ่งในส่วนนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ถูกตัดสิทธิ์ สุดท้ายเลยกลายว่าได้ครองตำแหน่ง ”แชมป์ว่าว” อย่างเต็มภาคภูมิ
ความคิดเห็น
กิจกรรมนี้ถือว่าเป็นการขับขี่ในรูปแบบประหยัดที่ได้สะท้อนออกมาในรูปแบบการใช้งานจริง ด้วยระยะทางที่กำหนดไว้ทำให้ต้องใช้ความเร็วประมาณ 90 กม./ชม. ซึ่งเป็นย่านความเร็วที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในเมือง จนทำให้ผลการแข่งขันออกมาเป็นตัวเลขประหยัดเชื้อเพลิงที่น่าสนใจ ซึ่งทำให้ Suzuki Ciaz เป็นรถอีโค่คาร์ที่แม้ใช้งานในรูปแบบเดินทางไกลก็ถือว่าเหมาะสม ส่วนผมนั้นก็ถูกต้องแล้วที่คว้าตำแหน่ง “แชมป์ว่าว” ไปครองได้สำเร็จ
ข้อมูลเทคนิค
ผู้จัดจำหน่าย บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์(ประเทศไทย) จำกัด
ยี่ห้อ,รุ่น | Suzuki Ciaz |
เครื่องยนต์ | เบนซิน 4 สูบ แถวเรียง 16 วาลว์ รหัส K12B |
ความจุ (ซีซี) | 1,242 |
กำลังสูงสุด (แรงม้า/รตน.) | 91/6,000 |
แรงบิดสูงสุด (นิวตันเมตร./รตน.) | 118/4,800 |
ระบบถ่ายทอดกำลัง (จังหวะ) | อัตโนมัติซีวีที |
ขับเคลื่อน (ล้อ) | ล้อหน้า |
ระบบรองรับ(หน้า/หลัง) | แม็กเฟอร์สันสตรัทพร้อมคอยล์สปริง,ด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีมพร้อคอยล์สปริง |
ยาว กว้าง สูง (มม.) | 4,490×1,730×1,475 |
ระยะฐานล้อ(มม.) | 2,650 |
ความสูงจากพื้น (มม.) | 160 |
ระบบห้ามล้อ | ดิสก์ แบบมีครีบระบายความร้อน/ดุม |
ราคา(บาท) | 625,000 |