หลังจาก Isuzu เปิดตัวเป็นทางการให้กับ D-Max 1.9 DDi BLUE POWER ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 ก่อนที่จะเข้าไปสร้างกระแสต่อเนื่องในงาน Motor Expo 2015 และเดินสายเปิดรับจองทั่วประเทศ ปรากฏว่า การตอบรับดีมากๆ สร้างปรากฎการณ์สวนกระแสจังหวะที่ตลาดรถยนต์ยังอยู่ในช่วงสับสนจะขึ้นจะลง เพราะมีปัจจัยสองทิศทางลบคือ เศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย บวกคือแรงกระตุ้นจากการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ที่ใช้พิกัด อัตราการปล่อยไอเสีย คาร์บอนไดออกไซด์ เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง D- Max ใหม่ใช้โอกาสที่ดีที่สุด ชิงความเป็นผู้นำใช้เครื่องยนต์เล็ก 1.9 DDi ที่ระบุว่ามีค่าการคายคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำที่สุด161 กรัม/กม. น้อยที่สุดในบรรดารถปิกอัพทั้งหมดในตลาด ซึ่งจะทำให้ได้เปรียบในเรื่องของราคาและเป็นจุดขายที่ทำให้ได้ยอดจองช่วงปลายปีเข้ามามากมาย
ความข้องใจของเครื่องยนต์ 1.9 DDi ก็ยังอยู่ในความคิด ก่อนการตัดสินใจของใครอีกหลายๆ คน ถึงแม้ Isuzu จะจัดกิจกรรมทดสอบสมรรถนะความทนทานของ D-Max เครื่องยนต์เล็กนี้ด้วยการทดสอบสุดโหดไปแล้วก็ตาม โดยการทดสอบนั้นทำขึ้นก่อนจะเปิดตัวรถเป็นทางการเป็นการทดสอบ วิ่งต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืนโดยไม่ดับเครื่องยนต์เป็นเวลากว่า 85 ชั่วโมง บนเส้นทางผ่านทุกสภาพภูมิประเทศของ 3 ประเทศรวมระยะทางประมาณ 5,755 กม. จากกรุงเทพฯ ผ่านสปป.ลาว ไปสิ้นสุดที่เมืองอุรุมชี เขตปกครองพิเศษซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ร่วมทดสอบมีทั้งเจ้าของรถ Isuzu ที่เคยเข้าร่วมการแข่งขัน Isuzu Insight Big Challenge 2015 และมีคณาจารย์สักขีพยานจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือร่วมเดินทาง และได้ผลสรุกว่า D-Max 1.9 DDi สอบผ่าน ปฏิบัติภารกิจได้ลุล่วง ถึงจุดหมายปลายทางครบทุกคัน
ปฐมบทของการทดสอบ D-Max 1.9 DDi เริ่มต้นไปแล้ว ถึงเวลาที่ต้องหาคำตอบว่า D-Max 1.9 DDi จะมีแรงหรือ? ทรงตัวดีมั้ย? ตามที่โปรยเรื่องไว้แล้ว
Isuzu ให้ทีมงานขนส่งรถ D-Max 1.9 DDi ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักของรถปิกอัพ Isuzu ที่ไม่เพียงแต่จะขายในบ้านเราเท่านั้นแต่เป็นโรงงานผลิตส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลกรวมทั้งกลับมาที่ญี่ปุ่นด้วย D-Max 1.9 DDi ทั้งแบบ 4 ประตู แค็ปโฟร์ และแบบสเปซแค็ป ขับเคลื่อนด้วยเกียร์ธรรมดา 6 สปีด และ มี D-Max 1.9 DDi แบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ซึ่งจะเปิดตัวสู่ตลาดอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม โอกาสนี้จึงนำรถแบบ Preproduction ยังไม่ได้เป็นคันที่ผลิตออกมาจากสายการผลิตจำหน่ายเนื่องจากยังต้องปรับปรุงรายละเอียดบางส่วนมาให้ทดลองขับไปก่อน นำมาถึงญี่ปุ่นและส่งตรงมาที่สนามแข่งรถ Autopolis International Race Course สนามแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ระดับนานาชาติ ตั้งอยู่ที่จังหวัดโออิตะ บนเกาะคิวชู เกาะใหญ่ทางใต้สุดของญี่ปุ่น สนามแข่งรถมาตรฐานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันได้ถึงระดับฟอร์มูล่า-วัน สภาพสนามมีมาตรฐานสูงออกแบบตามสภาพภูมิประเทศที่อยู่บนแนวเทือกเขาสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 3,000 เมตร และออกแบบเซอร์กิตให้ทุกโค้งมีความหมายต่อการทำความเร็วและให้ความท้าทายตื่นเต้นเป็นยิ่งนัก เส้นทางในแทร็คมีความลดหลั่นตามภูมิประเทศจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดต่างระดับกันถึง 150 เมตรทำให้การทดลองขับ D-Max 1.9 DDi ได้รับรู้สมรรถนะทั้งเครื่องยนต์และช่วงล่างได้อย่างสมบูรณ์
D-Max 1.9DDi ที่เตรียมมาให้ทดสอบนี้เป็นตัวจริงที่ขายในบ้านเราเพียงแต่ย้ายสถานที่มาทดลองขับในญี่ปุ่นแทน โดยรวมเครื่องยนต์ใหม่นี้ใช้รหัส RZ4E-TC ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมขนาด 2.5 Ddi VGS Turbo ขนาด 2,500 ซี.ซี. ประมาณ 10% แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตร ที่ 1,800-2,600 รอบ/นาที เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิม 9% เป็นเครื่องยนต์ที่พัฒนาการดีขึ้นจากรุ่นเดิมทุกมิติ ในทางผลงานที่ออกมาคือ น้ำหนักเบาขึ้น ถึง 60 กก. หรือกว่า 20% ส่งผลให้อัตราเร่งดีขึ้น 8% ประหยัดน้ำมันขึ้น 19% และค่ามลพิษต่ำสุด 161 กรัม/กม. ดีขึ้นถึง21% จากข้อมูลของ Isuzu ระบุเรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างคือ เครื่องยนต์ใหม่นี้มีค่าบำรุงรักษาน้อยลงจากการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องยนต์ใหม่หลายจุดเช่น กระเดื่องวาล์วแบบเป็นแบบลูกกลิ้งพร้อมระบบปรับตั้งระยะวาล์วอัตโนมัติทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับตั้งวาล์วตลอดอายุการใช้งาน
ชุดขับเคลื่อนเพลาลูกเบี้ยวด้วยเฟืองและโซ่ ไม่ต้องบำรุงรักษาตลอดอายุการใช้งาน สายพานหน้าเครื่องแบบเส้นเดียว พร้อมปรับตั้งอัตโนมัติ กรองน้ำมันเครื่องแบบเปลี่ยนเฉพาะไส้กระดาษ และเปลี่ยนน้ำเครื่องเพียง 5.6 ลิตรน้อยที่สุดในรถปิกอัพระดับเดียวกันและการออกแบบหัวฉีดใหม่สามารถบำรุงรักษาได้โดยไม่ต้องเปิดฝาครอบวาล์ว
ผมได้ลองขับD-Max1.9DDi ในตัวถัง 4 ประตู เกียร์ธรรมดา 6 สปีด ในสนามแข่งที่มีความยาวสนาม เต็มรอบ 4.67 กม. เริ่มตั้งแต่ตำแหน่งและจังหวะเปลี่ยนเกียร์นั้น สะดวกช่วงเกียร์สั้นเพียงพลักเบาๆ ก็เปลี่ยนตำแหน่งได้ง่ายๆ และถ่ายทอดกำลังออกมาได้ตามที่ต้องการ การตอบสนองของเครื่องยนต์เป็นไปด้วยดี ที่น่าสนใจคือ เสียงของเครื่องยนต์นั้นเงียบอย่างเห็นได้ชัด เทียบเคียงกับรถยนต์นั่งที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลได้ไม่แตกต่าง เครื่องยนต์มีกำลังเพียงพอที่จะปล่อยอัตราเร่งเมื่อออกจากโค้งแต่ละครั้งโดยไม่รู้สึกจะอ่อนแรง ในบางครั้งที่ยังใช้เกียร์ 3 เข้าโค้งลึกๆ แล้วออกมาที่ความเร็วต่ำกว่า 40 กม./ชม. ยังสามารถเร่งออกจากโค้งได้อย่างต่อเนื่องไม่ถึงกับจะรู้สึกอัดอัดตรงนี้เห็นได้ชัดถึงกำลังเครื่องยนต์ที่มีแรง มีอัตราเร่งที่ดีกว่าเครื่องยนต์ 2.5 ลิตรเดิมแน่นอน ที่น่าสนใจคือ การควบคุมบังคับรถทำได้ง่ายมาก เข้าใจได้ว่าเป็นผลจากการลดน้ำหนักเครื่องยนต์ลงไปถึง 60 กก. และขนาดเครื่องยนต์ที่เล็กลงนั้นถูกจัดวางในตำแหน่งที่เยื้องเข้าข้างในห้องเครื่องมากขึ้น ทำให้มีความสมดุลของน้ำหนักมากขึ้น และนั่นจึงส่งผลถึงการทรงตัวที่มีเสถียรภาพ และถือเป็นจุดเด่นที่สุดอีกอย่างหนึ่งของ D-Max1.9DDi แน่นอน
สำหรับรุ่นเกียร์อัตโนมัติ มาอยู่ในการทดสอบครั้งนี้ด่้วยถึงแม้จะไม่สมบูรณ์เต็ม 100% แต่ในหนึ่งรอบสนามเท่าที่ได้สัมผัส การทำงานของเกียร์อัตโนมัติรุ่นใหม่ 6 จังหวะนี้ ทำหน้าที่ได้ดี จังหวะการเปลี่ยนเกียร์มีความต่อเนื่องลื่นไหลไม่มีรอยสะดุดในรอยต่อระหว่างเกียร์ ในขณะเดียวกันก็ฉลาดที่จะปรับจังหวะการเปลี่ยนทั้งขึ้นและลงตามพฤติกรรมการขับในขณะนั้นได้ดีพอสมควร ทำให้ไม่ต้องกังวลกับการเปลี่ยนเกียร์ คือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเกียร์ไปเลย แล้วมาสนุกกับการจับจังหวะเข้าโค้ง-ออกโค้ง ผลสรุปคือ ได้ขับรถกระบะในสนามแข่งอย่างสนุกสนานอย่างที่ไม่คิดว่าจะได้รับความรู้สึกนี้มาก่อน
คำตอบของทุกคำถามที่ตั้งประเด็นไว้นั้นถูกตอบอย่างตรงประเด็นได้ครบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมีแรงพอหรือไม่? คำตอบคือมีและมากพอที่จะตอบสนองได้อย่างมั่นใจ การทรงตัวดีมั้ย? ตอบได้ว่า เสถียรภาพการทรงตัวที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เข้าโค้งได้มั่นใจขึ้น ส่วนเรื่องราคานั้นตอบได้ด้วยราคาค่าตัวที่น่าสนใจชัดเจนเช่นเดียวกัน
ครบทุกคำถามสำหรับ Isuzu D- Max DDi BLUE POWER คันนี้
ข้อมูลทางเทคนิค Isuzu D Max 1.9 DDi Blue Power
เครื่องยนต์ | ดีเซล 4 สูบ 16 วาล์ว คอมมอนเรล เทอร์โบไดเรคอินเจคชั่น |
ความจุกระบอกสูบ(ซี.ซี.) | 1,900 |
กระบอกสูบ x ช่วงชัก (มม.) | 80 x 94.4 |
อัตราส่วนกำลังอัด | 16:5 |
ระบบส่งกำลัง | เกียร์ธรรมดา 6สปีด |
กำลังสูงสุด(แรงม้า ที่รอบ/นาที) | 150/3,600 |
แรงบิดสูงสุด(นิวตันเมตร ที่รอบ/นาที) | 350/1,800-2,600 |
ยาว/กว้าง/สูง (มม.) | 5,200 x 1,860 x1,795 |
ความยาวฐานล้อ (มม.) | 3,095 |
ระยะห่างระหว่างล้อ หน้า/หลัง (มม.) | 1,570/ 1,570 |
ระบบกันสะเทือนหน้า | อิสระปีกนก2 ชั้น คอยล์สปริง เหล็กกันโคลง และ โช๊คอัพแก๊ส |
ระบบกันสะเทือนหลัง | แหนบแผ่นรูปครึ่งวงรี โช๊คอัพแก๊ส |
ระบบเบรก หน้า/หลัง | ดิสก์เบรกมีครีบระบายความร้อน/ ดรัมเบรก |
ล้อและยาง | อัลลอย 16 นิ้ว/235/70R16 |
ความจุถังน้ำมัน(ลิตร) | 76 |
ราคา(บาท) | 840,000 |
ผู้จำหน่าย | บริษัท ตรีเพชร อีซูซุเซลส์ จำกัด |