Monday, December 23, 2024
HomeAuto NewsMG จัดงานสัมมนา “New Generation of Automotive” ขับเคลื่อนนโยบาย และแนวทางส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

MG จัดงานสัมมนา “New Generation of Automotive” ขับเคลื่อนนโยบาย และแนวทางส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย จัดงานสัมมนาหัวข้อ “New Generation of Automotive” โดยได้รับเกียรติจาก นาย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมปาฐกถา “Roadmap ไทย ขับเคลื่อน EV” รวมถึงผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน รวมขับเคลื่อนนโยบาย และแนวทางส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวถึงนโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าในปาฐกถา “Roadmap ไทย ขับเคลื่อน EV” ว่า “ภาครัฐให้ความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า และกระตุ้นให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญ ความจำเป็น และประโยชน์จากการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการลดมลพิษในอากาศในระยะยาว ซึ่งประเด็นการปล่อยมลพิษของรถยนต์สันดาปภายใน ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือก เกิดเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ๆ รวมถึงการออกกฎหมายควบคุมมลพิษจากยานยนต์เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากกำหนดค่าไอเสียที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีการกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยมลพิษของตัวเอง เพื่อควบคุมและแก้ปัญหามลพิษ รวมไปถึงภูมิภาคอื่นๆ อย่างเช่นในประเทศในกลุ่มยุโรปก็ได้มีการออกมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยานยนต์อย่าง มาตรฐานยูโร โดยเริ่มตั้งแต่ ยูโร 1 ถึงปัจจุบันอยู่ที่มาตรฐานยูโร 6”

ปัจจุบันมียานยนต์จำหน่ายทั่วโลกรวมกันกว่า 1,200 ล้านคัน ย่อมก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศที่มากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลประเทศต่างๆ จึงได้มีการออกมาตรการที่เข้มงวดในเรื่องระบบท่อไอเสีย รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีให้รองรับการใช้ทั้งเครื่องยนต์และแบตเตอรี่ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV) ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) รวมทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) รวมถึงการออกนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ประเภทนี้ อาทิ รัฐแคลิฟอร์เนียออกนโยบายการเงินในการสนับสนุนเงินให้ผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้าสูงสุดกว่า 200,000 บาทต่อคัน และการสนับสนุนให้ตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ทำให้ในปี ค.ศ. 2018 มีจำนวนแท่นชาร์จไฟกว่า 450,000 มากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา 

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญ โดยในปี ค.ศ. 2019 มีการผลิตอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก และอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ถือเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ และมีการบูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมครั้งที่ 1 ได้มีการเห็นชอบ  แผน 30@30 โดยปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะสั้น (2020-2022) ผลิตรถสำหรับรถราชการ รถสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ 60,000-110,000 คัน
  • ระยะกลาง (2021-2025) จะผลักดัน ECO EV จำนวน 100,000-250,000 คัน และผลักดันสมาร์ท ซิตี้ บัส จำนวน 300,000 คัน
  • ระยะยาว (2026-2030) ให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประมาณ 750,000 คัน

พร้อมกันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าโครงการมาตรการยานยนต์เก่าแลกยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) โดยการนำรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี มาเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมตลาดและการจัดการซากยานยนต์ โดยจะมีการศึกษาการจัดการซากยานยนต์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการจัดการซากรถยนต์ที่เป็นระบบ ลงทุนการรีไซเคิลซากรถยนต์และแบตเตอรี่ และเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้านโครงสร้างพื้นฐานได้รองรับการส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ 2.63 บาท ต่อหน่วย และตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะให้ตั้งภายในรัศมี 50-70 กิโลเมตร เพื่อให้ครอบคลุมการเดินทางระยะไกล ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐและภาคเอกชนมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในอนาคตอันใกล้

มร. จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ของเอ็มจีว่า “สำหรับเอ็มจี นิยามของ New Generation of Automotive ประกอบด้วย 3 ประเด็นสำคัญ คือ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบไร้คนขับ และพลังงานทางเลือก สำหรับ SAIC Motor ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเอ็มจี ถือเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าลำดับต้นๆ ของโลกที่พัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง”

มร. จาง ยังกล่าวถึง การยกระดับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยด้วยการทำการตลาดภายใต้แบรนด์เอ็มจี โดยเอ็มจีถือเป็นผู้จุดประกายให้เกิดกระแสยานยนต์ไฟฟ้าในสังคมไทยด้วยการเปิดตัว MG ZS EV ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ด้วยคอนเซ็ปต์ “EASY” ที่สามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย ดูแลรักษาได้ง่าย ใช้งานได้ง่าย เมื่อปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เอ็มจียังเดินหน้าสร้างระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องด้วยการลงทุนติดตั้งจุดชาร์จ ในรูปแบบ DC โดยภายในปีนี้ จะมีจุดชาร์จจำนวน 100 แห่งในโชว์รูมและศูนย์บริการเอ็มจีทั่วประเทศ และวางแผนในการขยายจุดชาร์จเพิ่มอีก 1 เท่าตัวภายในปีหน้า ส่วนแผนงานในระยะที่ 2 ในการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จให้มากขึ้น จะเลือกสถานีที่อยู่เส้นทางหลักตามทางหลวง และแผนงานในระยะที่ 3 จะเพิ่มสถานีชาร์จที่ศูนย์การค้า ออฟฟิศ หมู่บ้าน ที่พักอาศัย นอกจากนี้ ยังมีแผนนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดเข้ามาทำตลาดอีกด้วย โดยเอ็มจีมุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการและพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สังคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเติบโตมากขึ้น พร้อมนำเสนอให้รัฐบาลช่วยผลักดันเรื่องสิทธิพิเศษด้านภาษี หรือการลงทุน รวมถึงการมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวถึงนโยบายกระตุ้นการลงทุนในกลุ่มยานยนต์พลังงานทางเลือกพร้อมมาตรการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตว่า “ในปี พ.ศ. 2560 BOI เตรียมการลงทุนเรื่องนโยบายการลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ครอบคลุมทุกเรื่อง อาทิ การผลิต ความต้องการตลาด การส่งเสริมการลงทุน การสร้างสถานีชาร์จ รถยนต์ใช้ส่วนบุคคล รถยนต์สาธารณะ และชิ้นส่วน”

ปัจจุบัน มีผู้เข้ามาลงทุนในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 16 บริษัท รวม 26 โครงการ โดยมีการขอส่งเสริมการลงทุนในการผลิตรถยนต์ ประเภทไฮบริด (HEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) รวมถึงรถพลังงานไฟฟ้า 100% (BEV) และมียอดการผลิตรวมกันกว่า 560,000 คัน และ BOI กำลังพิจารณาส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของสามล้อไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่มีแผนการเปิดโครงการในช่วงการประชุมคณะกรรมการบีโอไอครั้งต่อไป  

สำหรับประเทศไทย BOI มองว่า เราต้องสร้างการรับรู้เรื่องนวัตกรรม และต่อยอดสู่การพัฒนาให้ได้ รวมถึงต้องเข้าใจบริบทของความต้องการ เพราะประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ประเภทสันดาปภายในมานาน ดังนั้น การจะผันตัวเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ต้องปรับตัวให้ได้และให้ทัน ทั้งเรื่องเครื่องมือ (Supply) และการขยายตลาด (Demand) ต้องดูเรื่องผู้ผลิตและผู้ใช้งานมีความพร้อมหรือไม่ ซึ่งจากแผน 30@30 เราต้องคิดกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการลงทุนที่มากขึ้น อาทิ การผลิตรถบัสพลังงานไฟฟ้า เพื่อการใช้งานขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นถือเป็นจำนวนการผลิตที่ค่อนข้างสูง

นายเสกสรร เสริมพงศ์ รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวถึงทิศทางการขยายสถานีชาร์จและแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยว่า “การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รับผิดชอบพื้นที่ครอบคลุม 74 จังหวัด โดยในปัจจุบัน เรามีการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งหมด 11 แห่ง นอกจากนี้ เรายังมีแผนในการทำสถานีร่วมกับบางจาก เพิ่มอีก 62 จุด แบ่งเป็นสถานีปั๊มน้ำมันบางจาก 56 จุด และส่วนพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีก 6 จุด โดยจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของ ปี พ.ศ. 2564 และในระยะถัดไป ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – พ.ศ. 2565 เราจะดำเนินการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าอีก 64 จุด ทำให้ในปี พ.ศ. 2565 ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 137 จุด ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) โดยต้นทุนในการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า เฉลี่ย 2.5 ล้านบาท ต่อหนึ่งแท่นชาร์จ”

นายพรศักดิ์ อุดมทรัพยากุล ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาองค์กร การไฟฟ้านครหลวง (MEA) กล่าวถึงทิศทางการขยายสถานีชาร์ทและการขยายสถานีชาร์ทให้ตอบโจทย์กับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าว่า “ส่วนงานของการไฟฟ้านครหลวง ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ในปัจจุบัน เรามีสถานีอัดประจุไฟฟ้า 10 จุด จำนวน 15 แท่นชาร์จ โดยมีแผนการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพิ่มขึ้นอีก 118 จุด รวมเป็น 128 จุด ภายในปี พ.ศ. 2565 พร้อมทั้งมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ในการค้นหาสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งประเทศ และสามารถจองแท่นชาร์จก่อนเข้ารับบริการได้ ในเชิงนโยบายนั้น ทางการไฟฟ้านครหลวงได้มีการเร่งดำเนินการขยายสถานีชาร์จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เราจะส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าใจในการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน หากไม่ได้ออกนอกบริเวณจังหวัดที่ใกล้เคียง รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในปัจจุบันมีระยะทางวิ่งมากกว่า 200 กิโลเมตร ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน สะดวกต่อการชาร์จพลังงานไฟฟ้าที่ที่พักอาศัยของผู้ใช้งาน”

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยสู่การกำหนด Roadmap ของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคตว่า “สถาบันยานยนต์เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นกลไกของภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม มีพันธกิจในเรื่องของการศึกษาวิจัยในด้านเทคโนโลยียานยนต์ร่วมกับทั้งทางภาครัฐและเอกชน รวมถึง การพัฒนาบุคลากรในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ ฝึกอบรม ศูนย์ทดสอบ ตามมาตรฐาน มอก. และตามมาตรฐานต่างประเทศด้วย ปัจจุบันสถาบันยานยนต์มีที่ตั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย กล้วยน้ำไท ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูล นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ทำหน้าที่ทดสอบเรื่องมลพิษ และสนามไชยเขต  จ.ฉะเชิงเทรา ทำหน้าที่ทดสอบด้าน EV ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับ ศูนย์ทดสอบสนามไชยเขต คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้”

ในส่วนของเครื่องมือที่จำเป็นต่อการทดสอบ ทางสถาบันฯ ได้รับอุปกรณ์มาแล้วทั้งสิ้น 5 ชิ้นในปี พ.ศ. 2562 คือ เครื่องทดสอบความแข็งแรง ทดสอบการชาร์จไฟ ทดสอบการปล่อยประจุเกิน ทดสอบการทนต่ออุณหภูมิ และทดสอบไฟรั่วหรือไฟฟ้าลัดวงจร โดยในปีงบประมาณพ.ศ. 2563 จะได้รับอุปกรณ์เพิ่มอีก 4 ชิ้น ซึ่งจะทำให้ทางสถาบันฯ มีเครื่องมือในการทดสอบรวมทั้งสิ้น 9 เครื่อง ในส่วนงานด้านบุคลากร สถาบันฯ กำลังจะทำ MoU กับทางศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)

ดร. ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงแผนงานในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ว่า “ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) นับได้ว่าเป็น Think Tank ในด้านการทำ R&D เพราะการวิจัยที่ดีจะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาไปได้ไกล ในอนาคตเราได้มีการจัดทำมาตรฐานแกนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแบตเตอรี่ Charging Station ในด้านของการกำหนดมาตรฐานเราใช้ IEC & ISO เป็นตัวกำหนด และมีการพัฒนาระบบยานยนต์ รวมถึงระบบช่วยขับขี่ ADAS ที่มีการใช้มากขึ้น เราต้องการให้มีมาตรฐานของเครื่องชาร์จ หัวชาร์จ แบตเตอรี่ แท่นชาร์จ และหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแบตเตอรี่ เพราะฉะนั้นมาตรฐานในเรื่องนี้จึงสำคัญมาก”

PTEC จะเป็นฝ่ายดูแลและควบคุมเรื่องแบตเตอรี่ผ่านขั้นตอนการทำ Lab Test ที่เป็นมาตรฐานบังคับรวมไปถึงการนำ Cell Battery ที่มีโมดูลและวงจรควบคุมแบตเตอรี่ (Battery Management System) ในการจัดการและควบคุมประจุของแบตเตอรี่ การวิจัยเรื่องการปล่อยประจุไฟฟ้า และการชาร์จไฟฟ้า ทั้งในรูปแบบ AC และ DC การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และการระบายความร้อนของแบตเตอรี่ โดยทดสอบตั้งแต่เรื่องอุณหภูมิแบตเตอรี่ขณะขับขี่ ระบบระบายความร้อน การสั่นสะเทือนขณะขับขี่ ระบบความปลอดภัย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพและคุณภาพการขับขี่  ในประเทศไทย

นอกจากนี้ PTEC กำลังดำเนินการสร้าง Lab ทดสอบ ที่สามารถนำรถบัส 2 ชั้นที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและมีเป็นยานยนต์อัตโนมัติ ไร้คนขับ พร้อมทั้งทดสอบโครงสร้างที่น้ำหนักเบา และรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการควบคุมเรื่องความถี่ของรถที่จะไม่กวนการทำงานของเครื่องยนต์หรือ ซอฟต์แวร์ อื่นๆ

และมองว่าประเทศไทย อุตสาหกรรมยานยนต์ของเราไม่ได้มีความห่างชั้นกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเรามีศักยภาพที่ค่อนข้างพร้อม และประเทศไทยก็ยังเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอับดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน และส่วนสำคัญที่จะเร่งการพัฒนาของประเทศไปอีกขั้น คือ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่โดดเด่นจากประเทศอื่นๆ เข้ามาปรับใช้ในเมืองไทย หากเราได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะสามารถทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

 

RELATED ARTICLES

Most Popular