Sunday, September 15, 2024
HomeAuto TestTest DriveSuzuki Ciaz อีโค่คาร์ร่างใหญ่

Suzuki Ciaz อีโค่คาร์ร่างใหญ่

สร้างยอดจำหน่ายถล่มทลายไปกับ Swift รถในกลุ่มอีโคคาร์แบบแฮตช์แบ็ก 5 ประตู ล่าสุด ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย  ก็ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบของรถอีโคคาร์แบบซีดานในชื่อ Ciaz ซึ่งถือเป็นรถรุ่นสุดท้ายสำหรับโครงการรถคันแรก พร้อมจัดกิจกรรมทดสอบรถยนต์เส้นทางกรุงเทพฯ-ตราด เพื่อให้สื่อมวลชนได้ทดลองขับ ขุนศึกน้องใหม่ในสังเวียนของรถอีโคคาร์คันนี้มีอะไรเด็ดมาดูกันเลยครับ

Ciaz มากับรูปลักษณ์แบบรถซีดาน 4 ประตูที่ออกแบบตัวรถให้มีขนาดใหญ่ด้วยความยาว 4,490 มม. กว้าง 1,730 มม. และสูง 1,475 มม. ซึ่งถ้านำมาเทียบกับรถในกลุ่ม B CAR ขนาด 1,500 ซี.ซี. ของหลายๆ ค่าย อาจจะใกล้เคียงหรือเป็นต่อจากเรื่องความยาวที่ช่วยให้การทรงตัวที่ดีขึ้นรวมถึงมีรัศมีวงเลี้ยวแคบเพียง 5.4 เมตร ดีไซน์ภายนอกเน้นไปที่ความหรู สง่างาม เติมแต่งวัสดุโครเมี่ยมไปที่กระจังหน้าพร้อมโลโก้ตัวนูน มือจับประตู และฝากระโปรงท้าย โคมไฟหน้าเป็นแบบโปรเจคเตอร์ซึ่งมีไฟตัดหมอกทรงกลมที่มุมกันชน ท้ายรถเป็นอะไรที่ดูลงตัวเด่นด้วยโคมไฟขนาดใหญ่สีแดงทับทิมและขาว ฝากระโปรงท้ายเชิดสูงเป็นการดีไซน์ช่วยในเรื่องของอากาศพลศาสตร์ ทำให้รถคันนี้มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานต่ำเพียง 0.29 รวมถึงติดตั้งล้ออัลลอยด์ขนาด 15 นิ้ว หุ้มยางไซส์ 185/65 จากเหตุผลในเรื่องของความนุ่มนวลและประหยัดเชื้อเพลิง

ห้องโดยสารเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนจากทุกสำนักคอมเมนต์แบบเดียวกันคือ กว้างขวาง และ นั่งสบาย ตกแต่งคอลโซนหน้าด้วยสีดำตัดกับเส้นสีเงินทั่วทั้งคัน พวงมาลัยเป็นแบบสามก้านหุ้มหนังมีปรับเครื่องเสียงและปุ่มรับสายสัญญาณโทรศัพท์ มาตรวัดดีไซน์สปอร์ตเป็นแบบเรืองแสงสีขาวติดตั้งระบบ MID (Multi Information Display) นอกจากทำหน้าที่วัดระยะทางทั่วๆ ไป ยังสามารถตรวจเหลือน้ำมันที่เหลืออยู่ภายในถัง และระยะทางที่จะใช้งานได้จากน้ำมันที่คงเหลือ ใกล้ๆ กันมีสวิตช์ Keyless Push พร้อมกุญแจแบบ Keyless Entry เบาะผู้โดยสารแถวหลังออกแบบได้ดีหากไม่สูงเกิน 200 ซม. การันตีได้ว่าไม่มีทางที่จะนั่งแล้วหัวเข่าไปกระทบกับเบาะของผู้โดยสารตอนหน้า แต่ก็มีเรื่องที่น่าตำหนิซึ่งอาจจะเป็นปัญหาสำหรับบางคน เนื่องจากไม่สามารถปรับหัวหมอนรวมถึงพับเบาะเพื่อขยายช่องเก็บสัมภาระได้

ขุมพลังของ Ciaz ใช้แบบเดียวกับที่ประจำการอยู่ใน Swift เป็นเครื่องยนต์เบนซินรหัส K12B ขนาดความจุ 1,242 ซี.ซี. ให้กำลังสูงสุด 91 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 118 นิวตัน-เมตร ที่ 4,800 รอบ/นาที ระบบส่งกำลังมีให้เลือกทั้งแบบเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และ เกียร์อัตโนมัติแบบ CVT ซึ่งได้รับการปรับแต่งโปรแกรมให้มีการตอบสนองที่ดีขึ้นและยังเปลี่ยนเกียร์ได้นุ่มนวลกว่าเดิม มาพร้อมกับช่วงล่างหน้าระบบแม็กเฟอร์สันสตรัทพร้อมคอยล์สปริง และด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม พร้อมคอยล์สปริงเช่นกัน

ในเรื่องของรูปลักษณ์และอุปกรณ์ภายในคงไม่ต้องอธิบายหรือให้ทัศนะอะไรมากมาย ส่วนที่พูดถึงคงต้องเป็นเรื่องของเครื่องยนต์และระบบช่วงล่างที่ทางทีมวิศวกรจากซูซูกิ ได้ปรับเซ็ตให้มีการตอบสนองยิ่งขึ้นกว่าเดิม การทดสอบในครั้งนี้มีระยะทางรวมกว่า 300 กม. จากกรุงเทพฯ ไปยัง จ.ตราด ด้วยเส้นทางหลากหลายรูปแบบ สิ่งที่รับรู้ได้ว่าแตกต่างไปจาก Swift คือการตอบสนองของเครื่องยนต์ที่ให้อัตราเร่งได้ดีรวมถึงการเปลี่ยนเกียร์ที่นุ่มนวล ย่านความเร็วที่ใช้ทั่วไปคือตั้งแต่ 90-120 กม./ชม.ทำได้โดยไม่ต้องเค้นพลังจากเครื่องยนต์มากนัก ความเร็วปลายทำได้กว่า 160 กม./ชม. ระบบช่วงล่างที่ปรับเซ็ตใหม่มีความแน่นและหนึบมากกว่าแฮตช์แบ็กร่วมค่ายอย่างชัดเจน แต่ก็มีจุดบกพร่องเล็กน้อยในเรื่องของรอบความเร็วที่ยังสูงไปนิดทำให้เสียงเครื่องยนต์ดังเล็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสารในบางขณะ ทั้งนี้ทางบริษัทผู้ผลิตได้เคลมตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองทะลุ 20 กม./ลิตร ถือว่าเป็นตัวเลขการประหยัดเชื้อเพลิงที่มากลบเสียงของเครื่องยนต์ไปได้ไม่มากก็น้อย และด้วยราคาค่าตัวที่เริ่มต้นเพียง 484,000 บาท ในรุ่น GA เกียร์ธรรมดา และจบที่ราคา 625,000 บาท ในรุ่นท็อป GLX รถคันนี้จะเป็นทางเลือกล่าสุดสำหรับผู้ที่กำลังเลือกซื้อรถในกลุ่มอีโคคาร์ รวมถึงอาจจะแย่งกลุ่มเป้าหมายจากผู้ที่กำลังจะซื้อรถในกลุ่ม B เซ็กเมนต์ได้แน่นอน

RELATED ARTICLES

Most Popular