ถือเป็นการอุ่นเครื่องสำหรับรถเอสยูวีกระแสแรง Honda CR-V 2017 ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นาน www.autoworldthailand.com ได้เคยแจ้งรายละเอียดการเปิดตัวในไทย โดยมีฤกษ์งามยามดีตรงกับวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งกำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
หลังจากจดหมายเชิญฉบับนี้ได้ถูกร่อนออกไปยังสื่อมวลชนทุกสำนัก บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ก็สร้างเซอร์ไพรส์ครั้งใหม่โดยการพาสื่อมวลชนเข้าร่วมทดลองขับ HONDA CR-V 2017 ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ i-DTEC DIESEL TURBO และ ความอเนกประสงค์ในรูปแบบของรถ 7 ที่นั่ง ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต มาดูกันครับว่ารถกระแสแรงคันล่าสุดจากค่าย ฮอนด้า จะมีความเด็ดดวงขนาดไหน
ก่อนอื่นต้องขออกตัวก่อนว่าทาง ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ยังไม่ได้เผยข้อมูลทั้งหมดของ HONDA CRV แต่ในต่างประเทศนั้นเปิดตัวมาได้สักระยะหนึ่ง จากภาพรวมน่าจะไม่มีอะไรต่างกัน สำหรับ HONDA CR-V 2017 เป็นการพัฒนาในเจนเนอเรชั่นที่ 5 มุ่งเน้นให้เป็นยนตรกรรมอเนกประสงค์ระดับพรีเมียมที่หรูหรา และเปี่ยมไปด้วยสมรรถนะซึ่งมาพร้อมเทคโนโลยีเหนือระดับ
HONDA CR-V 2017 มากับมิติตัวถังใหญ่สุดตั้งแต่รถรุ่นนี้ได้ผลิตออกมาจำหน่าย มีความยาว 4,587 มม. กว้าง 1,855 มม. และ สูง 1,689 มม. มีระยะฐานล้อ 2,660 ซึ่งหากเทียบกับ CR-V โมเดลที่ผ่านมาจะมีความยาวขึ้น 5 มม.กว้างขึ้น 35 มม. และสูงขึ้น 39 มม. ในขณะที่ฐานล้อได้รับการขยายให้กว้างกว่าเดิมถึง 40 มม. ไฟหน้าเป็นแบบฟูลแอลอีดี มีไฟเดย์ไทม์รวมไว้ในโคมเดียวกัน หน้ากระจังแต่งด้วยโครเมียม และมีไฟตัดหมอกแบบแอลอีดีฝังไว้มุมกันชน
ด้านท้ายรถดีไซน์งดงามและดูมีระดับ ด้วยการติดตั้งไฟท้ายแบบแอลอีดีแยกเป็น 2 ส่วน ระหว่างแนวตั้งเลาะตามเส้นสายของตัวรถ อีกส่วนติดตั้งไว้ที่ฝากระโปรงท้าย ซึ่งได้มีการติดตั้งระบบเปิด/ปิด ฝาท้ายแบบไฟฟ้าพร้อม Jam Protection เป็นอุปกรณ์มาตรฐานใน HONDA CR-V 2017 ทุกรุ่น
ห้องโดยสารหรูแต่งด้วยลายไม้ เปลี่ยนจาก 5 ที่นั่งกลายเป็น 7 ที่นั่ง พร้อมดีไซน์ภายในใหม่หมดโดยมีจุดเด่นไปอยู่ที่เกียร์แบบไม่มีด้าม ใช้งานในรูปแบบปุ่มกดไฟฟ้า มาตรวัดเป็นดิจิตอลแสดงผลการทำงานระบบต่างๆรวมถึงระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ E-DPS ซึ่งได้รับการพัฒนาล่าสุด พวงมาลัยเป็นแบบมัลติฟังค์ชั่นพร้อมติดตั้งสวิตช์ควบคุมการเปลี่ยนเกียร์แพดเดิลชิฟท์
คอนโซลกลางมีจอมอนิเตอร์ระบบทัชสกรีนขนาด 7 นิ้วไว้คอยสั่งการระบบเครื่องเสียงและระบบนำทางผ่านดาวเทียม พร้อมติดตั้งระบบปรับอากาศแบบดิจิตอล โดยมีช่องลมแยกส่วนสำหรับทุกที่นั่ง สำหรับเบาะนั่งแถว 3 ใช้วิธีส่งความเย็นด้วยช่องแอร์บนเพดาน
ขุมพลังถือว่าเป็นไฮไลท์สำหรับ HONDA CR-V 2017 ด้วยการชูเทคโนโลยีระดับสูงจากเครื่องยนต์ i-DTEC ในรุปแบบดีเซล เทอร์โบ 4 สูบ ขนาด 1.6 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 160 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที และ แรงบิดสูงสุดที่ 350 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบต่อนาที
จุดเด่นของขุมพลังรุ่นนี้อยู่ที่ระบบเทอร์โบชาร์แบบ 2 จังหวะ( 2 Stage Turbocharger) ซึ่งถือเป็นการทำงานแบบอัจฉริยะ จังหวะแรกทำงานด้วย High Pressure Turbo ดูดอากาศและลำเลียงส่งต่อไปยัง Low Pressure Turbo ซึ่งทำงานร่วมกันตั้งแต่รอบต้นเพื่อใช้ในการออกตัว และ High Pressure Turbo ได้รับการติดตั้ง VGT:Variable Geometry Turbocharger ช่วยให้มีอัตราเร่งที่ทันใจและลดการสูญเสียกำลังของเครื่องยนต์โดยไม่จำเป็น ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดเชื้อเพลิง โดยค่ายผู้ผลิตได้เคลมอัตราสิ้นเปลืองไว้ 18.9 กม./ลิตร
เมื่อประสิทธิภาพเครื่องยนต์ที่สูงขึ้น ระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติ 9 จังหวะจึงได้ถูกพัฒนาให้ทำงานร่วมกับขุมพลังรุ่นล่าสุดได้อย่างลงตัว โดยมีจุดเด่นในด้านของการเปลี่ยนเกียร์อย่านุ่มนวลและลดเสียงรบกวนขณะขับขี่
ด้านของการยึดเกาะ วิศวกรจากฮอนด้าได้พัฒนาช่วงล่างด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท ให้มีการยึดเกาะที่สูงขึ้น และในส่วนของด้านหลังใช้ชื่อระบบว่า E-Type Multilink ซึ่งเป็นช่วงล่างแบบอิสระเพื่อความนุ่มนวล
ข้อมูลคร่าวๆแบบยังไม่ลงลึกไปยังดีเทลต่างๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ HONDA CR-V i-DTEC DIESEL TURBO สำหรับรายละเอียดแบบจัดเต็มคงต้องรอวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่กิจกรรมในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงมายลโปรดักส์ใหม่จากค่ายฮอนด้า แท้จริงแล้วคือการทดลองขับขุมพลังดีเซล เทอร์โบ รุ่นล่าสุด ในสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต
การทดลองขับในสนามแข่งพอจะสังเขปถึง 2 ประเด็นหลักในการพัฒนาด้าน “ขุมพลัง” และ ”สมรรถนะช่วงล่าง” เมื่อโอกาสมาถึงก็ขอลองให้รู้ว่าสิ่งที่วิศวกรฮอนด้าได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ให้กับรถโมเดลนี้จะถูกใจผู้ใช้รถชาวไทยมากน้อยเพียงใด
อันดับแรกผมขอโฟกัสไปยังระบบช่วงล่าง เพราะรถเอสยูวีที่มีความสูงมักประสบปัญหาในด้านการยึดเกาะถนน แต่การออกแบบสมรรถนะช่วงล่างของ HONDA CR-V ทำได้ค่อนข้างประทับใจ หากนำมาเทียบกับเจนเนอเรชั่นที่ 4 จะสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากช่วงล่างที่ลบอาการย้วยของรถสูง เปลี่ยนให้มาเป็นการยึดเกาะและโยนตัวน้อยมากขณะเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงในสไตล์เรซซิ่งไลน์ ความรู้สึกในการนั่งเบาะแถว 2 ไม่ถึงกับหัวคลอนไปตามการเลี้ยวของพวงมาลัย
เมื่อทดสอบไปสักระยะหนึ่งโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม. ชุดแดชบอร์ดมีภาพกราฟฟิกแสดงการทำงานของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ E-DPS ซึ่งเปลี่ยนวิธีควบคุมการส่งกำลังไปยังล้อหลังด้วยระบบไฟฟ้า ทำงานรวดเร็วพร้อมกับเพิ่มแรงบิดไปที่ล้อหลัง ซึ่งนอกจากจะให้การควบคุมที่แม่นยำ ยังช่วยประมวลผลการขับขี่พร้อมปรับแรงบิดไปที่ล้อหน้าและล้อหลังให้เกิดสมดุล เมื่อช่วงล่างใหม่ทำงานร่วมกับระบบขับเคลื่อนที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีล่าสุด จึงทำให้ควบคุมไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขุมพลังของเครื่องยนต์ i-DTEC ซึ่งเป็นแบบดีเซล เทอร์โบ 4 สูบ ขนาด 1.6 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 160 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที และ แรงบิดสูงสุดที่ 350 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบต่อนาที สามารถแบกรับภาระในเรื่องน้ำหนักตัวรถได้อย่างสบาย การทำงานของเทอร์โบเป็นไปในรูปแบบของความสัมพันธ์กัน แม้ว่าจะได้รับการติดตั้งเทอร์โบ 2 ลูก แต่ก็มีหน้าที่การทำงานคนละสัดส่วน เทอร์โบแรงดันสูงจะลำเลียงอากาศมายังเทอร์โบแรงดันต่ำทำงานร่วมกันตั้งแต่รอบต้นเพื่อให้อัตราเร่งที่ดี โดยตั้งระดับการอัดอากาศไว้ที่ 30 ปอนด์ต่อตารางเมตร และประโยชน์ที่ได้จากการติดตั้งระบบเทอร์โบชาร์จแบบ 2 จังหวะคือรช่วยให้ลดการสูญเสียกำลัง เมื่อความเร็วคงที่ เทอร์โบทั้ง 2 ลูกนี้ก็จะทำงานแบบผสมผสานกัน ส่งผลให้เพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดเชื้อเพลิงได้อีกด้วย
ระบบเกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะ ออกแบบให้มีอัตราทดที่ช่วยลดภาระการทำงานของเครื่องยนต์ ให้อัตราเร่งที่ดีตั้งแต่การออกตัว รวมถึงการเปลี่ยนเกียร์ทำได้นุ่มนวล เมื่อต้องการเร่งแซง สมองกลจะคำนวณอัตราทดเพื่อเปลี่ยนเกียร์แบบก้าวกระโดดจากเกียร์ 9 มายังเกียร์ 5 และจากเกียร์ 7 มาเกียร์ 4 โดยไม่ต้องไล่เกียร์ตามที่เคยเป็นมาในอดีต
แต่เมื่อเข้าโหมดสปอร์ตรอบเครื่องยนต์และการปล่อยตำแหน่งเกียร์แตกต่างไปจากโหมดมาตรฐานเล็กน้อย ระบบแพดเดิลชิฟท์เป็นตัวช่วยให้รถคันนี้ขับสนุกมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับการขับขี่ในสนามแข่งที่ต้องใช้ความเร็วสูง ระบบนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์สักเท่าไหร่ เนื่องจากเกียร์ที่เปลี่ยนได้นุ่มนวลจนลดบทบาทของ Engine Brake ไปอย่างมาก สมองกลจะทำการประมวลผลระหว่างรอบความเร็วและองศาของมุมล้อให้สมดุลขณะเข้าโค้ง ถ้าจะเอารถคันนี้มาใช้ขับในสนามแข่งคงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง แต่สำหรับการใช้ในชีวิตประจำวันความนุ่มนวลของระบบเกียร์ 9 จังหวะจะทำให้เพิ่มสุนทรีย์แห่งการขับขี่ได้แน่นอน
เมื่อใช้ความเร็วสูง น้ำหนักของพวงมาลัยจะปรับตามรอบและเพิ่มความหนืดในการหมุนพวงมาลัย ทำให้เพิ่มความมั่นใจในการควบคุมรถไปยังทิศทางที่ต้องการ แต่เมื่อความเร็วทะลุ 130 กม./ชม. อาจมีเสียงลมเร็ดลอดเข้าห้องโดยสารจากทางด้านท้ายรถ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของรถในสไตล์เอสยูวี แต่ก็ไม่ถึงกับดังจนเป็นที่รำคาญแต่อย่างใด
กล่าวโดยสรุปสำหรับ HONDA CR-V i-DTEC DIESEL TURBO ในด้านของขุมพลังถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจและมีดีในด้านการประหยัดเชื้อเพลิง สมรรถนะโดยรวมของเครื่องยนต์ขนาด 1.6 ลิตร เทอร์โบ เมื่อนำมาติดตั้งในรถเอสยูวีก็ไม่ได้บกพร่องแต่อย่างใด อาจจจะไม่ห้าวหาญมากนักเพราะถูกควบคุมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะ
ซึ่งถ้ามองถึงความเป็นรถอเนกประสงค์ในสไตล์รถเอสยูวีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รถคันนี้ตอบโจทย์ได้อย่างไร้ข้อกังขา ช่วงล่างถือเป็นจุดเด่นที่เปลี่ยนไปคนละเรื่องกับรุ่นก่อนและมั่นใจได้กับทุกการขับขี่
อันที่จริงแล้วนอกจาก HONDA CR-V จะติดตั้งเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร I-DTEC DIESEL TURBO ยังมีเครื่องยนต์ให้เลือกอีกขนาดคือแบบเบนซิน 2.4 ลิตร ทั้งยังมีออฟชั่นอีกหลายอย่างรวมถึงราคาจำหน่ายที่ไม่ได้รับการเปิดเผย ซึ่งต้องรอวันที่ 24 มีนาคมนี้ แล้วผมจะรีบนำรายละเอียดทั้งหมดมานำเสนอให้ทุกท่านได้รับชมกันอีกครั้ง
เรียบเรียงข้อมูลและทดสอบโดย ณัฐเทพ เผ่าจินดา