Saturday, December 14, 2024
HomeAuto TestTestdrive: "MG GS 1.5T" ร่างเดิม เครื่องยนต์ใหม่ สมรรถนะโดนใจ ในราคาไม่ถึงล้านบาท

Testdrive: “MG GS 1.5T” ร่างเดิม เครื่องยนต์ใหม่ สมรรถนะโดนใจ ในราคาไม่ถึงล้านบาท

เกือบ 1 ปีที่ MG GS ได้เข้ามาทำตลาดบ้านเรา แล้วก็ถึงเวลาที่จะปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเพิ่มทางเลือกในรูปแบบของเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบขนาด 1.5 ลิตร พร้อมปรับแต่งรูปลักษณ์และสมรรถนะ ความน่าสนใจอีกเรื่องคือ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งราคาจำหน่ายไว้ไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้บริโภคที่กำลังมองหารถยนต์ประเภทเอสยูวีไว้ใช้งานในชีวิตประจำวัน หลายท่านอยากรู้ว่ารถคันนี้ตอบโจทย์ให้ได้มากขนาดไหน ติดตามชมข้อมูลและบทสรุปของการทดสอบได้เลยครับ…”Autoworldthailand” ยินดีจัดให้!!!

MG GS 1.5 T ถือเป็นรถธงทางเลือกใหม่ที่ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพิ่มชอยท์ให้กับผู้บริโภค เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยยังคงใช้โครงสร้างตัวถังนิรภัยซึ่งแข็งแกร่งด้วยเทคโนโลยี FSF – Full Space Frame ในขณะที่มิติตัวรถอยู่เท่าเดิม คือ ความยาว 4,500 มม. กว้าง 1,855 มม. แต่มีส่วนสูงน้อยกว่าเดิม 10 มม.

หากถามถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านรูปลักษณ์ อาจจะยังดูชินตาเพราะทุกอย่างที่รุ่นเครื่องยนต์ 2.0 T มี ค่ายผู้ผลิตก็ยกมาใส่ไว้ในรุ่น 1.5 T เกือบครบ เรียกได้ว่ายังคงไว้ซึ่งอุปกรณ์มาตรฐานที่สำคัญเกือบทุกชนิด ในส่วนของโคมไฟหน้า รุ่น 1.5 T จะเป็นแบบฮาโลเจนพร้อมไฟเดย์ไทม์ แต่ระบบควบคุมการเปิด/ปิด และปรับระดับสูงต่ำอัตโนมัติจะคงไว้เพื่อใช้งานได้สะดวก จะไม่มีก็เพียงหัวฉีดล้างไฟหน้าซึ่งไม่ถือเป็นประเด็นสำคัญต่อการใช้งานสักเท่าไหร่

“ซันรูฟ” ยังเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ค่ายผู้ผลิตไม่ยกออกเนื่องจากออฟชั่นเสริมหล่อชนิดนี้เข้าไปครองใจผู้ใช้รถชาวไทยได้อย่างจัง นอกจากนี้ยังมีไฟตัดหมอกติดตั้งมาให้ทั้งด้านหน้าและหลัง รวมถึงระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ

ถ้ามาดูกันอย่างลงลึกไปในรายละเอียด บอกได้เพียงว่าความแตกต่างของรูปลักษณ์ภายนอกมีแค่ลวดลายล้อแมกและขนาด ซึ่งในรุ่น 1.5 T จะเป็นขนาด 17 นิ้ว ส่วน 2.0 T จะใช้ขนาด 18 นิ้ว และอีกเรื่องคือกันชนท้ายซึ่งรุ่น 2.0 T จะเจาะช่องท่อไอเสียไว้ทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนรุ่น 1.5 T จะดีไซน์ให้ท่อไอเสียออกที่ใต้กันชนและเปลี่ยนจาก 2 ท่อให้เหลือเพียงท่อเดียว

ภายในถูกลดออฟชั่นบางอย่างลงไป แต่ยังคงความโอ่อ่า และตกแต่งสไตล์สปอร์ตเช่นเดิม เบาะนั่งและแผงข้างหุ้มหนังแต่ถอดระบบไฟฟ้าของเบาะนั่งผุ้โดยสารออก พวงมาลัยยังคงไว้ในรูปแบบของมัลติฟังก์ชั่นรวมถึงระบบครูสคอนโทรล และมีระบบแพดเดิลชิฟท์ เบาะนั่งด้านหลังปรับและพับแยกส่วนได้แบบ 60:40 และปรับเอนได้ถึง 14 องศา สะดวกสบายด้วยกุญแจอัจฉริยะ ปุ่ม Push Start ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ และกระจกมองหลังปรับแสงอัตโนมัติ

Inkanet หรือเทคโนโลยีสื่อสารอัจฉริยะ ลิขสิทธิ์เฉพาะของ MG ถือเป็นจุดเด่นของทางค่ายและไม่ถูกตัดทอนรายละเอียดไปแต่อย่างใด สามารถโหลดแอพพลิเคชั่นมาไว้ในสมาร์ทโฟนทั้งระบบ ANDROID และ IOS ซึ่งมี 12 ฟังก์ชั่น อาทิ การโทรออก-รับสาย การรับ-ส่งข้อความ หรือแม้กระทั่งการแชร์สัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่าน ตลอดจนระบบการนำทางรถยนต์ รวมถึงการตรวจสอบและ วิเคราะห์รถยนต์ แสดงผลผ่านหน้าจอทัชสกรีนขนาด 8 นิ้ว

ระบบเครื่องเสียงตอบสนองความบันเทิงผ่านลำโพง 8 ตัว รองรับมัลติมีเดียและการเชื่อมต่อไร้สายผ่านบลูทูธ พร้อมยูเอสบี (USB) และเอยูเอ็กซ์ (AUX) นอกจากนี้ยังเติมเต็มความสะดวกด้วยกล้องมองหลังและเซ็นเซอร์ถอยจอด

ขุมพลังบล็อกใหม่ล่าสุด ซึ่งเป็นจุดเด่นของ MG GS 1.5 T มาในรูปแบบของเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 16 วาล์ว ความจุกระบอกสูบ 1,490 ซีซี อัดอากาศด้วยระบบเทอร์โบชาร์จ ให้กำลังสูงสุด 167 แรงม้าที่ 5,600 รอบ พร้อมแรงบิด 250 นิวตันเมตร ที่ 1,700-4,400 รอบ รองรับเชื้อเพลิงได้ตั้งแต่อี 10 ไปจนถึงอี 85

ระบบส่งกำลังใช้แบบคลัทช์คู่ Twin Clutch Sportonic 7 Speed ได้รับการพัฒนาล่าสุด เพื่อให้การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์มีความนุ่มนวล พร้อมทดอัตราทดเฟืองท้ายใหม่ สำหรับเกียร์ 1,2,6 และ 7 เป็นขนาด 4.434 แต่ในช่วงเกียร์ 3,4 และ 5 รวมถึงเกียร์ถอยหลัง ใช้ขนาด 5.214 พิเศษในด้านสมรรถนะการออกตัว และช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิง

ระบบช่วงล่างใช้เป็นแบบเดียวกันทั้ง 2 รุ่น ด้านหน้าเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบอิสระมัลติลิงค์พร้อมเหล็กกันโคลง ปรับแต่งด้านความหนืดในส่วนของน้ำมันโช๊คอัพและเพิ่มความแข็งให้กับค่า K ของขดสปริงให้มีความนุ่มหนึบยิ่งกว่ารุ่น 2.0 T

มาตรฐานความปลอดภัยยังคงอัดแน่นไปด้วย 13 เทคโนโลยีภายใต้ระบบ SYNCHRONIZED PROTECTION SYSTEM ที่ทำงานประสานเป็นหนึ่งเดียว ตั้งแต่การป้องกันล้อล็อกขณะเบรกฉุกเฉิน (ABS – Anti-lock Braking System) พร้อมระบบช่วยกระจายแรงเบรก (EBD – Electronic Brake Force Distribution) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล (TCS – Traction Control System) ระบบควบคุมการเบรกขณะเข้าโค้ง (CBC – Curve Brake Control) ระบบควบคุมการทรงตัว (SCS – Stability Control System) ระบบป้องกันการไหลของรถโดยไม่ต้องเหยียบเบรกค้าง (AVH – Auto Vehicle Hold) ระบบทำความสะอาดจานเบรกอัจฉริยะ (BDC – Intelligent Brake Disc Cleaning) ระบบเพิ่มแรงดันไฮดรอลิคเบรกให้เหมาะสม (OHBV – Optimized Hydraulic Brake Servo) ระบบป้องกันการลื่นไถล เมื่อเกียร์ลดต่ำอย่างฉับพลัน (MSR – Motor Control Slide Retainer) ระบบเสริมแรงเบรกด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (EBA – Electronic Brake Assist System) ตลอดจนระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน (HAS – Hill-Start Assist) ระบบตรวจสอบความผิดปกติของลมยาง (TPMS – Tire Pressure Monitor System) และระบบเบรกมือไฟฟ้า (EPB – Electronic Parking Brake)

ทั้งหมดคือข้อมูลของตัวรถที่ได้ไล่เรียงทุกสัดส่วนและทุกมิติ โดยรวมแล้วถือว่าเป็นความคุ้มค่าที่ค่ายผู้ผลิตยืนยันที่จะใส่ออฟชั่นแบบจัดเต็มให้กับ MG GS 1.5 T ในขณะที่จำหน่ายในราคาเพียง 999,000 บาท สำหรับรุ่นท๊อพรหัส 1.5 X และ 890,000 บาท ในรหัส 1.5 D ซึ่งมีออฟชั่นต่างกันเพียงเล็กน้อย

มาว่ากันต่อในเรื่องของสมรรถนะเครื่องยนต์ใหม่ หลังจากได้ทดลองการขับขี่หลากรูปแบบทั้งการใช้งานในเมืองและนอกเมือง โดย บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรมทดสอบขึ้นบนเส้นทางอุดรธานี-ขอนแก่น-กรุงเทพฯ ระยะทางรวมกว่า 600 กม.ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรนั้นตามติดมาได้เลยครับ

เริ่มด้วยการทดสอบแรก สื่อมวลชนจะได้สัมผัสกับ MG GS 1.5 T ที่โชว์รูม เอ็มจี อุดรธานี มุ่งหน้าสู่ จ.ขอนแก่น ระยะทางประมาณ 100 กม. มีกิจกรรมให้เข้าร่วมนั่นคือการทดสอบความประหยัดของเครื่องยนตฺพิกัดใหม่ กำหนดเวลาในการเดินทางไว้ที่ 90 นาที การคำนวณเส้นทาง ระยะทาง และเวลาในการเดินทางถือเป็นเรื่องสำคัญ หากพลาดพลั้งเท่ากับถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขัน ผลลัพธ์ที่ได้คือความเร็วประมาณ 80-90 กม./ชม. เมื่อนำมาเทียบกับสภาพเส้นทางและสภาพการจราจรบางช่วง ถือว่าค่อนข้างโหดพอสมควร

MG GS 1.5 T ที่ใช้ในการทดสอบประกอบด้วยสื่อมวลชนคันละ 3 ท่าน พอคำนวณระยะทางได้ก็ออกเดินทาง จากจุดเริ่มต้น จนถึงปลายทางที่ปั๊มน้ำมันตรงข้ามมหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้เวลาไป 89 นาที ซึ่งหากใช้ความเร็วช้าไปกว่าที่คำนวณ ก็จะทำให้ถึงช้าและถูกตัดสิทธิจากกิจกรรมนี้ไปโดยปริยาย ผลที่ได้ออกมาค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ จากตัวเลข 17.5 กม./ลิตร ในขณะผู้ที่คว้ารางวัลชนะเลิศทำอัตราสิ้นเปลืองไปได้ 17.8 กม./ลิตร

ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงสมรรถนะการประหยัดน้ำมันในการขับขี่ในเมืองได้เป็นอย่าง ทั้งนี้ สมรรถนะที่รอการพิสูจน์ จากขอนแก่น-กรุงเทพยังคงต้องดำเนินต่อไปในเช้าวันรุ่งขึ้น

บนเส้นทางกว่า 500 กม. สำหรับการทดลองขับ MG GS 1.5 T ความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นตั้งแต่แรกที่คุมพวงมาลัย หากนำสมรรถนะมาเทียบกับรุ่น 2.0 T ความแตกต่างคือพวงมาลัยนั้นเบาขึ้นอย่างชัดเจน แต่ก็ปรับความหนืดในช่วงความเร็วสูงได้อย่างลงตัว ต่างไปจากรุ่นเดิมที่ออกแบบมาค่อนข้างหนืดมือ และอาจจะหนักไปนิดสำหรับกำลังของสตรีเพศ

คันเร่งไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งจุดที่วิศวกรของค่ายเอ็มจีได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะในรุ่น 2.0 T ต้องบอกว่า คันเร่งไฟฟ้า ถือเป็นจุดอ่อน เพราะต้องรอประมาณเกือบ 1 วินาที ตัวรถถึงจะพุ่งทะยานออกไปข้างหน้า ในขณะที่ 1.5 T ยังคงมีอาการให้สัมผัสได้เล็กน้อย ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงกับ MG GS รุ่นแรกที่นำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย

ในเมื่อเครื่องยนต์มีขนาดเล็กลง แรงม้าน้อยกว่าเดิม ความจุกระบอกสูบเพียง 1,490 ซีซี ให้แรงม้าสูงสุดที่ 167 แรงม้า เมื่อนำมาเทียบกับรุ่น 2.0 T เป็นเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร 218 แรงม้า จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่ผู้ผลิตแก้เกมส์โดยการปรับแต่งระบบอัดอากาศให้มีบูสต์อยู่ที่ 0.9-1.4 บาร์ เมื่อกดคันเร่งอย่างรวดเร็ว พละกำลังทั้ง 167 แรงม้า กับ แรงบิด 250 นิวตันเมตรที่ 1,700-4,400 รอบ ก็สำแดงฤทธิ์เดชออกมาในรูปแบบของหลังติดเบาะได้ไม่ยากนัก อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 9.7 วินาที ในขณะที่ความเร็วสูงสุดทำได้ทะลุ 180 กม./ชม.

ระบบเกียร์กับเฟืองท้ายต้องชื่นชมสักนิดเพราะปรับปรุงให้ลงตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งอยู่ในพื้นฐานของระบบเกียร์ Twin Clutch Sportonic พัฒนาให้เป็น 7 จังหวะ ในขณะที่รุ่น 2.0 T ใช้เป็น 6 จังหวะ ผลที่ได้จากการพัฒนาในครั้งนี้ทำให้ระบบส่งกำลังปรับเปลี่ยนได้นุ่มนวลขึ้น รอยต่อของเกียร์แคบลง ให้ฟิลลิ่งที่ดีกว่าเดิม ส่วนอัตราเฟืองท้ายที่มี 2 ขนาด กล่าวคือ เกียร์ 1,2,6 และ 7 เป็นขนาด 4.434 แต่ในช่วงเกียร์ 3,4 และ 5 รวมถึงเกียร์ถอยหลัง ใช้ขนาด 5.214 เทคโนโลยีนี้มีในรถสปอร์ตและเอสยูวีขับเคลื่อนสี่ล้อที่ต้องการแรงบิดสูงๆเพื่อการออกตัวหรือตะกุยพื้นผิวในถิ่นทุรกันดาน แต่ MG GS 1.5 T ซึ่งมีเพียงระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ จึงได้นำความอัจฉริยะของระบบเฟืองท้ายแบบนี้มาติดตั้งเพื่อให้มีสมรรถนะในการออกตัวและประหยัดเชื้อเพลิงในการเดินทาง

ช่วงล่างเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ได้รับการปรับปรุง แม้ว่าจะปรับเพียงค่าความหนืดของโช๊คอัพและสปริง แต่ฟิลลิ่งที่ได้กลับมากกว่าที่คิด นุ่มกำลังพอดีแต่ในโค้งก็ให้การยึดเกาะได้อย่างมั่นใจแม้จะเข้าโค้งด้วยการใช้ความเร็วสูงก็ตาม นอกจากนี้ตัวช่วยหลายอย่างที่ติดตั้งมาให้ ถือเป็นต่อคู่แข่งอีกหลาย อาทิ ระบบควบคุมการเบรกขณะเข้าโค้ง (CBC – Curve Brake Control) ระบบควบคุมการทรงตัว (SCS – Stability Control System) ระบบป้องกันการไหลของรถโดยไม่ต้องเหยียบเบรกค้าง (AVH – Auto Vehicle Hold) ระบบทำความสะอาดจานเบรกอัจฉริยะ (BDC – Intelligent Brake Disc Cleaning)

อัตราสิ้นเปลืองเมื่อใช้งานปกติ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 13 กม./ลิตร ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ยังรับได้ เนื่องจากการทดสอบสมรรถนะในครั้งนี้ บ่อยครั้งมักสนุกจนเลยเถิด ความเร็วที่ทดสอบบางช่วงอาจไปถึง 140 กม./ชม. เนื่องจากเครื่องยนต์ตอบสนองได้ดี ควบคุมรถได้อย่างมั่นใจ

ข้อติติงมีในส่วนของแพดเดิลชิฟท์ ซึ่งมีมุมมองต่างกันออกไป ระบบนี้จะทำงานก็ต่อเมื่อปรับคันเกียร์ไปอยู่ในตำแหน่ง S แพดเดิลชิฟท์จึงจะทำงาน ซึ่งต่างจากหลายค่ายที่แพดเดิลชิฟท์สามารถทำงานได้ทันทีทั้งที่เกียร์อยู่ในตำแหน่ง D ข้อข้องใจนี้วิศวกรจากค่ายผู้ผลิตให้คำตอบมาว่าเป็นการยืดอายุการใช้งานของระบบเกียร์ แต่สำหรับผม ในกรณีฉุกเฉิน หากระบบทำงานได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ ก็จะทำให้เสี้ยววินาทีที่เกิดความเสี่ยงลดลงตามไปด้วย

บทสรุปของการทดสอบ MG GS 1.5 T บนเส้นทางกว่า 500 กม. สำหรับรูปลักษณ์ภายนอกและห้องโดยสารภายในถือว่าไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเครื่องยนต์และสมรรถนะการควบคุม ที่แม้จะมีการปรับลดขนาดเครื่องยนต์ลงมาจาก 2.0 ลิตร ให้เป็นขนาด 1.5 ลิตร และลดทอนแรงม้าลงม้าเกือบ 50 ตัว การปรุงแต่งสมรรถนะยังคงไว้ซึ่งความสนุกและมั่นใจได้กับทุกเส้นทาง พวงมาลัยเบาและควบคุมง่ายขึ้น รวมถึงคันเร่งไฟฟ้าตอบสนองได้ดีกว่าเดิม และกลุ่มเป้าหมายของ MG GS 1.5 T ได้มุ่งไปที่สตรีเพศมากขึ้น จึงทำให้ทั้งหมดถูกปรุงแต่งให้ใช้งานได้สะดวกสบาย

ด้านราคา บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดราคามาอย่างน่าประทับใจ ในรุ่นท๊อฟ 1.5 T X จำหน่ายเพียง 999,000 บาท และรุ่นมาตรฐาน 1.5 T D 890,000 บาท นับว่าเป็นต่ออยู่พอสมควรเนื่องจากคู่แข่งหลายค่าย ตั้งราคาจำหน่ายรถในกลุ่มนี้ไว้ทะลุ 1 ล้านบาททั้งสิ้น หากยังกังวลเรื่องศูนย์บริการ การเดินทางในครั้งนี้ผ่านหลายจังหวัด ซึ่งทุกแห่งล้วนมีโชว์รูมและศูนย์บริการไว้คอยต้อนรับลูกค้าทุกท่าน ทีนี้ก็เหลือเพียงคุรเท่านั้นที่จะกล้าสัมผัสกับความแปลกใหม่ในสไตล์รถเอสยูวีพลังเทอร์โบสัญชาติอังกฤษหรือไม่…ลองดูแล้วคุณจะชอบครับ

เรียบเรียงข้อมูลและทดสอบโดย ณัฐเทพ เผ่าจินดา

RELATED ARTICLES

Most Popular