Toyota Altis 2019 ซีดาน C Segment รุ่นธง พัฒนาสู่เจนเนอเรชั่นที่ 12 สำหรับรุ่นท๊อพ Hybrid ย่างเข้าสู่เจนเนอเรชั่นที่ 4 ที่ยังคงโดดเด่นด้านความประหยัด ทดสอบผ่านระยะทางกว่า 250 กม. อัตราสิ้นเปลืองยังทำได้ถึง 20 กม./ลิตร รวมถึงความใหม่ สด ของนวัตกรรม TNGA ส่งผลให้ได้มาซึ่งการขับขี่ที่นุ่มนวล พร้อมอัดแน่นด้วยระบบช่วยขับขี่ต่างๆอีกเพียบ รายละเอียดต่างๆจะเป็นเช่นไรนั้นติดตามได้จากรายงาน
การกลับมาสู่เจนเนอเรชั่นที่ 12 ของซีดานรุ่นธงในกลุ่ม C Segment โดย บ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เปิดตัวสู่สาธารณชนไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการชูจุเด่นด้วยรูปลักษณ์ที่ใหม่ สด พร้อมนวัตกรรมโครงสร้างแบบ TNGA รุ่นล่าสุดพัฒนามาจาก Toyota C-HR ซึ่งรายละเอียดต่างๆลองรับชมได้จากลิงค์นี้ครับ https://www.autoworldthailand.com/toyota-altis-2019/
สำหรับ Toyota Corolla Altis Hybrid High ซึ่งเป็นรถยนต์ที่เราได้นำมาทดสอบสมรรถนะคันนี้ต้องบอกว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นต่อในด้านราคาจำหน่ายเมื่อเทียบกับอ๊อฟชั่นที่ติดตั้งมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ทั้งภายนอกและภายใน มาดูกันแบบสรุปรวมๆอีกครั้งว่ามีอะไรบ้าง
รูปลักษณ์ใหม่ต้อนรับเจนเนอเรชั่นที่ 12 ซึ่งมากับโครงสร้างตัวถังนวัตกรรม TNGA รุ่นที่ 3 ต่อยอดจาก Camry และ CHR มิติตัวรถมีความยาว 4,630 มม. กว้าง 1,780 มม. สูง 1,435 มม. หากเทียบกับรุ่นเดิมจะยาวกว่า 10 มม. กว้างกว่า 5 มม. แต่เตี้ยลง 25 มม. จุดศูนย์ถ่วงลดลง 10 องศา ความแกร่งของตัวถังเพิ่มขึ้น 60%
ในรุ่น Hybrid จะมีโคมไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์เลนส์แอลอีดี มีไฟกลางวันในตัว ทำงานไปพร้อมกับระบบเปิด-ปิด ไฟสูงอัตโนมัติ และฝังเรดาร์ที่โลโก้ เพื่อประมวลผลการทำงานของระบบระบบเตือนเมื่อผู้ขับขี่เหนื่อยล้า Driver Assist Alert,ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทางพร้อมหน่วงพวงมาลัยอัตโนมัติ,ระบบควบคุมความเร็วแปรผันอัตโนมัติ Dynamic Radar Cruise Control ปรับความเร็วตามคันหน้าจนถึงหยุดนิ่งและระบบความปลอดภัยก่อนการชนซึ่งจะทำหน้าที่ในการเบรกอัตโนมัติ
ไฟท้ายมีการคาดแถบโครเมียมเพิ่มความหรูหรา ล้อแมกเดิมขนาด 16 นิ้วเปลี่ยนเป็นขนาด 17 นิ้ว
บริเวณรอบๆคันมีการเติมเต็มในส่วนของระบบตัวช่วยการขับขี่มากมาย ซึ่งพื้นที่รอบๆตัวรถจะมีการฝังเรดาร์และกล้องมองภาพรอบๆคันติดตั้งไว้อย่างปราณีต
ด้านแบตเตอรี่นิกเกิลเมทัลไฮดรายขนาดเล็กลงแต่มีการแบ่งย่อยอกเป็น 28 โมดูล 168 เซลส์ ซึ่งสามารถถอดซ่อมแยกเป็นโมดูลได้ และย้ายที่อยู่จากด้านหลังมาเป็นใต้เบาะนั่งผู้โดยสารเพื่อความลงตัว
ภายในห้องโดยสารมีการติดตั้งวัสดุซับเสียงในทุกมิติเพื่อความเงียบยิ่งกว่ารุ่นเดิมรวมถึงกระจกบานหน้าแบบ Acoustic Glass มาตรวัดเป็นแบบเรืองแสง Optriton ตรงกลางมีจอขนาด 7 นิ้ว แสดงการทำงานของระบบไฮบริดในรูปแบบของภาพสามมิติและข้อมูลการขับขี่ต่างๆ
คอนโซลกลางติดตั้งจอทัชสกรีนขนาด 8 นิ้ว เชื่อมต่อกับระบบนำทางอัตโนมัติและรองรับการเชื่อมต่อกับ Apple Carplay ซึ่งทำหน้าที่แสดงข้อมูลการทำงานของระบบ Hybrid ได้อีกหนึ่งช่องทาง รวมถึงระบบชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สาย สำหรับระบบปรับอากาศมีเครื่องฟอกอากาศนาโนอิสามารถตรวจจับฝุ่นละออง PM 2.5 เพื่ออากาศที่บริสุทธิ์
บริเวณคอนโซลเกียร์จะมีการติดตั้งปุ่มควบคุม EV Mode,Tracktion Control และโหมดขับขี่ในรูปแบบต่างๆรวมถึงเบรกมือไฟฟ้า และ Auto brake Hold
ตัวช่วยการขับขี่จัดเต็มมาครบ มีกล้องมองภาพขณะถอยจอด ,ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาที่กระจกมองข้าง และ ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถผ่านขณะถอยหลัง ระบบเตือนเมื่อผู้ขับขี่เหนื่อยล้า Driver Assist Alert กล้องรอบคัน 360 องศา และระบบตรวจวัดแรงดันลมยาง
ในส่วนของระบบไฮบริดเป็นการพัฒนาสู่เจนเนอเรชั่น 4 เป็นการทำงานระหว่างเครื่องยนต์ 1.8 ลิตรรหัส 2 ZR-FXE ความจุ 1,798 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 98 แรงม้าและแรงบิด 142 นิวตันเมตร ร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าแรงดัน 600 โวลท์ ให้พลัง 72 แรงม้า แรงบิด 163 นิวตันเมตร เมื่อรวมทั้ง 2 ระบบจะทำให้มีกำลังรวม 122 แรงม้า ระบบส่งกำลังเป็นแบบ E-CVT
ระบบรองรับด้านหน้าใช้แบบแมคเฟอร์สัน หลังมัลติลิงค์ดับเบิลวิชโบน มาพร้อมระบบความปลอดภัยเต็มพิกัดทั้ง ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี Vehicle Stability Control ระบบควบคุมการทรงตัว Anti-lock Brake System ระบบป้องกันล้อล็อก Electronic Brake-force Distribution ระบบกระจายแรงเบรก Brake Assist ระบบเสริมแรงเบรก ถุงลมเสริมความปลอดภัยระบบ SRS 7 ตำแหน่งทุกรุ่น โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA พร้อมคานนิรภัย
ก่อนเริ่มการเดินทางได้มีการสร้างความคุ้นเคยและทำการทดสอบรูปแบบต่างๆใน Toyota Driving Experience Park เริ่มด้วยการควบคุมพวงมาลัยในรูปแบบการขับขี่สลาลอม การปรับเซ็ทพวงมาลัยค่อนข้างเบามือและมีช่วงฟรีบ้างเล็กน้อย แต่ก็สร้างความคุ้นเคยได้ไม่ยากนัก
ต่อด้วยการทดสอบระบบเบรค ABS และ Tracktion Control ด้วยการใช้ความเร็ว 60 กม./ชม. บนสภาพพื้นผิวที่เปียกและลื่น ทั้ง 2 ระบบทำงานได้สอดคล้องกัน เมื่อมีการเบรกด้วยความรุนแรงจนรถลื่นไถล Tracktion Control จะทำหน้าที่ช่วยลดความเร็วของล้อฝั่งในโดยการลดกำลังจากเครื่องยนต์พร้อมกับระบบเบรค ABS ช่วยไม่ให้ล้อล๊อค ส่งผลให้ควบคุมรถผ่านสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างไม่ลำบาก
มาถึงการสัมผัสกับนวัตกรรม TNGA ซึ่งสะท้อนผ่านการทดสอบในรูปแบบของการขับขี่สลาลอมด้วยความเร็วพร้อมเปลี่ยนช่องทางฉุกเฉินในรูปแบบ Lane Change จากการที่ออกแบบให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำลง พร้อมกับปรับเซทระบบช่วงล่างใหม่ที่ค่อนข้างนุ่มนวล ทำให้แรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นน้อยลง และการโคลงตัวของรถก็ลดลงตาม จึงทำให้ควบคุมรถได้ง่ายยิ่งขึ้น สภาพเส้นทางทั้งแบบคอสะพานและพื้นผิวขรุขระ อาการสะท้านมาที่พวงมาลัยก็ลดลงเช่นกัน
LTA หรือระบบช่วยควบคุมให้รถอยู่กลางเลน หากรถออกนอกเส้นทาง ระบบจะช่วยดึงพวงมาลัยกลับมาบริเวณกลางช่องทางเพื่อความปลอดภัย และ Dynamic Radar Cruise Control หากรถจอดหยุดนิ่งไม่เกิน 3 วินาทีแล้วรถข้างหน้าเคลื่อนตัว ระบบก็จะพาให้รถไต่ความเร็วตามรถคันหน้าโดยที่ไม่ต้องเหยียบคันเร่งเพิ่ม ซึ่งระบบนี้จะทำงานไปจนถึงความเร็วสูงสุด และถ้ารถคันหน้าลดความเร็วลง ระบบก็จะชะลอความเร็วพร้อมตั้งระยะห่างจากรถคันหน้าได้อีกด้วย
ทดลองขับในสนามทดสอบพอหอมปากหอมคอก็ได้เวลาเดินทางไปยังพัทยาใต้ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ Veranda Resort ด้วยระยะทางรวมกว่า 200 กม. เพื่อใช้ทดสอบสมรรถนะการขับขี่แบบเดียวกับที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
จากการสัมผัสระยะยาวพอที่จะสรุปได้หลายๆประเด็น เริ่มกันที่เรื่องของการเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร ในขณะขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.เสียงลมที่เร็ดลอดเข้ามาในห้องโดยสารนั้นค่อนข้างเงียบ ซึ่งเป็นข้อดีของการใช้วัสดุซับเสียงรวมถึงกระจกหน้าแบบ Acoustic Glass แต่หากมีการเร่งกำลังเครื่องยนต์ในรูปแบบคิ๊กดาวน์ เสียงแผดของเครื่องยนต์ยังคงมีเสียงให้ได้ยินค่อนข้างชัดเจน
ด้านจอ Headup Display นอกจากแสดงความเร็ว เข็มทิศ และเส้นทางจากการใช้งานระบบเนวิเกเตอร์ ระบบ LTA หรือเตือนรถออกนอกช่องทางก็จะมีแสดงที่จอบริเวณกระจะบังลมหน้านี้ด้วย
สำหรับช่วงล่างกับการขับขี่ระยะยาว ฟิลลิ่งออกไปทางนุ่มนวลขับสบายตามสไตล์รถไฮบริดที่เน้นเรื่องความประหยัด ซึ่งหากต้องการสมรรถนะแบบสปอร์ตนั้นจะถุกปรับเซ็ทในรุ่น GR Sport ซึ่งจะได้เปรียบด้านขุมพลังที่มีแรงม้าสูง แน่นอนว่าการปรับเซทช่วงล่างนั้นจะสนองอารมณ์สปอร์ตได้ดีกว่า
การทำงานของระบบไฮบริดเจนเนอเรชั่นที่ 4 จะช่วยในการประหยัดได้สูงถึง 50 % เทียบง่ายๆคือหากระยะทาง 500 กม. จะใช้เชื้อเพลิงเพียงแค่ 250 กม. ที่เหลือจะเป็นกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้า ด้านอัตราสิ้นเปลืองจาก Eco Sticker เคลมไว้ที่ 23.3 กม./ลิตร แต่ในครั้งนี้ขับขี่หลากรูปแบบความเร็ว ตัวเลขที่ทำได้คือประมาณ 20.0 กม. ลิตร การทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวจะทำความเร็วได้ถึง 60 กม./ชม. ส่วนการทำงานแบบลูกผสมของเครื่องยนตืและมอเตอร์ไฟฟ้าสามารถทำความเร็วได้ถึงความเร็ว 120 กม./ชม.
บทสรุปของการทดสอบสมรรถนะ Toyota Altis 2019 รุ่น Hybrid High นั้นมีหลายสิ่งที่น่าชื่นชมทั้งด้านของความประหยัด และตัวช่วยการขับขี่ที่เรียกได้ว่าจัดเต็ม และราคาจำหน่ายเพียง 1,099,000 บาทก็ยังถือว่าถุกกว่าคู่แข่งในเซกเมนต์เดียวกัน แต่ส่วนที่ควรปรับปรุงคือเรื่องของสียงเครื่องยนต์ที่แผดดังขณะที่คิ๊กดาวน์หรือต้องการใช้ความเร็ว หากปรับปรุงประเด็นนี้ก็ถือน่าจะเป้นผู้เล่นที่เข้ามาพลิกเกมส์ในตลาด C Segment ได้อย่างไร้ที่ติ
ข้อมูลเทคนิค Toyota Altis Hybrid High 2019
เครื่องยนต์: เบนซินแบบ 4 สูบ ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า
ความจุกระบอกสูบ (ซี.ซี.): 1,798
กำลังสูงสุด (แรงม้า ที่ รอบ/นาที): 98/5,200
แรงบิดสูงสุด(นิวตัน-เมตร ที่รอบ/นาที): 142/3,600
มอเตอร์ไฟ้ฟ้า (แรงม้า): 72
รวมกำลังขับ(แรงม้า): 122
ระบบส่งกำลัง: E-CVT
ระบบขับเคลื่อน: ล้อหน้า
เบรก (หน้า/หลัง): ดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อน
ระบบกันสะเทือน (หน้า/หลัง): อิสระแม็กเฟอร์สันสตรัท/ ดับเบิลวิชโบน
ยาว/กว้าง/สูง (มม.): 4,620/ 1,775/ 1,460
ความจุถังน้ำมัน (ลิตร): 43
ราคาจำหน่าย (บาท): 1,099,000