Friday, November 22, 2024
HomeAuto TestTest DriveTOYOTA INNOVA CRYSTA ลบภาพเดิมๆ เพิ่มเติมความหรู นั่งสบาย สมรรถนะเกินตัว

TOYOTA INNOVA CRYSTA ลบภาพเดิมๆ เพิ่มเติมความหรู นั่งสบาย สมรรถนะเกินตัว

ยนตกรรมอเนกประสงค์ในกลุ่ม (Premium Crossover MPV) นำเข้าทั้งคันจากอินโดเนเซีย ลบภาพเดิมจากรุ่นก่อนหน้าทิ้งไปให้หมด ก่อนที่จะอัดแน่นด้วยดีไซน์ทันสมัย พร้อมความสะดวกสบายครบครัน มากับสมรรถนะเกินตัวซึ่งให้ความประทับใจ และมั่นใจได้ตลอดการขับขี่ ล่าสุด TOYOTA INNOVA CRYSTA สามารถเข้าไปครองใจผู้ใช้รถชาวไทยและกวาดยอดจำหน่ายทะลุเป้าที่วางไว้ 600 คันไปเรียบร้อย

ข้อมูลหลังจากทดลองขับบนเส้นทางกรุงเทพ-เขาใหญ่ ทำให้พอสังเขปได้ว่ารถคันนี้มีความสมบูรณ์แบบกว่ารุ่นที่ผ่านมา เรียกได้ว่า “หนังคนละม้วน” เพราะเหตุใด และ ทำไม ซึ่งจะเป็นจริงอย่างว่าหรือไม่ www.autoworldthailand.com มีรายงาน

การกลับมาของยนตรกรรมในเซกเมนต์ MPV แน่นอนว่าต้องเกิดจากการพัฒนาให้ได้มาโดยมีความพอใจของผู้บริโภคเป็นเดิมพันเพื่อยึดตำแหน่งหัวแถว และดูเหมือนว่า All NEW TOYOTA INNOVA CRYSTA ซึ่งนำเข้าทั้งคันจากประเทศ อินโดเนเซีย จะตอบโจทย์ของปัญหาเหล่านั้นได้อย่างลงตัวยิ่งขึ้น จากการเป็นรถยนต์ที่ให้ความอเนกประสงค์ด้วยมิติตัวถังที่กว้างขวาง สะดวกสบาย ตามขนาดความยาว 4,735 มม. กว้าง 1,830 มม. และสูง 1,795 มม.

TOYOTA INNOVA CRYSTA มากับภาพลักษณ์ที่หรูหราผสมรวมกับความสปอร์ตของสเกริต์รอบคัน โดดเด่นด้วยไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ติดตั้งหลอดแอลอีดีและไฟเดย์ไทม์รูปแบบคล้ายคลึงกับ Revo พร้อมกระจังหน้ารูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดใหญ่ ติดตั้งสปอร์ตไลท์ไว้ที่มุมกันชนทั้ง 2 ฝั่ง

ประตูเปิดเข้าห้องโดยสารยังคงเป็นในรูปแบบเดิม ไม่ได้รับการติดตั้งระบบไฟฟ้าอย่าง Sienta แต่อย่างใด ในส่วนของมุมมองด้านหลังอาจดูเทอะทะไปสักนิด แต่ก็มีการนำไฟทับทิมขนาดใหญ่ติดตั้งไว้เกือบเต็มฝาท้าย ซึ่งทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมองเห็นได้อย่างชัดเจน รถที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้ล้วนเป็นตัวท๊อพรุ่น 2.8 V ติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว ส่วนอีก 2 รุ่นย่อยคือ 2.8 G และ 2.0 E จะเป็นขนาด 16 นิ้ว

ภายในกว้างขวาง เสริมความหรูด้วยด้วยลายไม้และไฟส่องสว่างในห้องโดยสารแบบซ่อนฝ้า PREMIUM ILLUMINATION LED ใกล้เคียงกับรถยุโรปที่มีการตกแต่งในรูปแบบ Ambient Light

คอนโซลกลางดีไซน์หรู เสมือนยกชุดมาจากรถยนต์เซกเมนต์อื่นๆที่โตโยต้าผลิตขึ้น มีชุดมาตรวัดเรืองแสง Optitron พร้อมจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID หน้าจอสีแบบ TFT  พวงมาลัยเป็นแบบมัลติฟังค์ชั่นหุ้มหนังพร้อมติดตั้งสวิทช์ควบคุมระบบต่างๆทั้งระบบความบันเทิง และครูสคอนโทรล รวมถึง Push Start เพื่อความสะดวก

เบาะนั่งนอกจากปรับเปลี่ยนได้หลากรูปแบบ สำหรับเบาะคนขับปรับด้วยไฟฟ้าได้ 8 ทิศทาง ในส่วนของแถวที่ 2 เป็นแบบ Captain Seatเพิ่มความสะดวกสบายด้วยที่พักแขนพร้อมติดตั้งระบบปรับพับเบาะจังหวะเดียว 1-Touch Tumble

เบาะแถวที่ 3 ในอดีตแทบจะใช้งานไม่ได้ หากจำเป็นต้องใช้งานจะเหมาะกับเด็กเล็กหรือคนที่มีความสูงไม่มากนัก เนื่องจากหัวเข่าจะไปชนกับเบาะนั่งแถวที่ 2 หรือไม่ก็ทำได้เพียงเป็นที่เก็บสัมภาระ แต่การปรับปรุงในครั้งนี้ จากมิติตัวรถที่ยาวขึ้นกว่าเดิม ทำให้ส่วนสูงกว่า 170 ซม.สามารถนั่งได้สบายโดยไม่มีปัญหาให้กวนใจหรือสร้างความเมื่อยล้าในการเดินทางไกล แถมยังเหลือพื้นที่ในการเก็บสัมภาระ

ระบบเครื่องเสียงใน TOYOTA INNOVA CRYSTA  ควบคุมผ่านหน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว พร้อมรองรับระบบดีวีดี เนวิเกเตอร์ และ T-CONNECT มาพร้อมช่องเสียบ USB เชื่อมต่อทุกความบันเทิงเต็มรูปแบบ ทั้งยังมีการเพิ่มวัสดุซับเสียงและแผ่นยางกันเสียงรอบคัน เพื่อเพิ่มสุนทรียในการเดินทางสะท้อนความเป็นรถอเนกประสงค์ได้อย่างลงตัว

แน่นอนว่าห้องโดยสารที่ถูกขยายใหญ่ขึ้น ทางวิศวกรจากค่ายผู้ผลิตจึงทำการเพิ่มเติมในส่วนของการกระจายความเย็น ติดตั้งระบบปรับอากาศแยกส่วนหน้า-หลัง แบบดิจิตอล ส่งลมเย็นไปให้กับผู้โดยสารทุกตำแหน่ง และในด้านความปลอดภัยของห้องโดยสาร TOYOTA INNOVA CRYSTA ได้รับการติดตั้งถุงลมนิรภัยถึง 7 จุด ซึ่งผ่านมาตรฐาน ASEAN NCAP ระดับ 5 ดาว

การทดสอบครั้งนี้รถทุกคันเป็นรุ่นท๊อพเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบแปรผัน รหัส 1GD-FTV ขนาด 2.8 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 174 แรงม้า เทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ใน REVO และ FORTUNER โดยปรับลดแรงบิดลงให้เหลือเพียง 360 นิวตันเมตร แต่อัพเกรดโปรแกรมจากกล่องอีซียูเพื่อให้ได้พละกำลังที่มาเร็วขึ้นในรอบเครื่องยนต์เพียง 1,200-3,400 รอบ/นาที

ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ โดยปรับแต่งส่วนของโอเวอร์ไดรฟ์ในตำแหน่งเกียร์ 5 และ 6 พร้อม Sequential Shift ที่เลือกลด หรือ เพิ่ม เพื่อการขับขี่ที่สนุกสนานในรูปแบบเกียร์ธรรมดา

สิ่งที่น่าสนใจและทำงานร่วมกับเครื่องยนต์คือโปรแกรมการขับขี่ในรูปแบบของ Drive Mode Switch ตอบสนองทั้งแบบประหยัด Eco Mode หรือเลือกเต็มสมรรถนะไปกับ Power Mode

ระบบช่วงล่างจัดว่าเด็ด ด้านหน้าเป็นแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น ติดตั้งคอยล์สปริงพร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบโฟร์ลิงค์ มากับคอยล์สปริงพร้อมคานแข็ง ซึ่งพัฒนามาโดยเฉพาะ โดยเปลี่ยนลูกสูบในกระบอกโช๊คอัพให้มีขนาดใหญ่ และเปลี่ยนจุดยึดใหม่ที่เหมาะสมยิ่งขึ้น

ในส่วนของความปลอดภัย นอกจากและระบบถุงลมเสริมความปลอดภัย 7 จุด,โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA,ระบบเบรก ABS, ระบบควบคุมการทรงตัว VSC และระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC ยังได้รับติดตั้งระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill-start Assist Control รวมถึงกล้องมองหลังปรับมุมมองได้ 3 รูปแบบ

หลังจากบรีฟข้อมูลคร่าวๆ ก่อนเดินทางยังได้วอร์มอัพและสร้างความคุ้นเคยกับ TOYOTA INNOVA CRYSTA ในสนามทดสอบของ Toyota Driving Experience Park โดยจัดสถานีต่างๆไว้เพื่อทดสอบอัตราเร่ง การบังคับควบคุมในส่วนของระบบ VSC และ ทดลองระบบป้องกันล้อหมุนฟรีไปในขณะเดียวกัน ถือว่าเป็นการลองแบบจริงจังครั้งแรกบนสนามที่มีความปลอดภัยสูง เพราะคงไม่มีใครอยากลองบนถนนจริงแน่ๆ พื้นผิวที่ได้ทดสอบเป็นกระเบี้องที่มีน้ำเจิ่งนองเต็มพื้นที่ ระบบทั้ง 2 ทำงานร่วมกันอย่างสมเหตุสมผล หากเสียการทรงตัว และล้อหมุนฟรี เครื่องยนต์จะตัดการทำงานออกทันที แต่ยังเหลือกำลังพอให้รถเคลื่อนตัวไปได้

การบังคับควบคุมรถให้ไปตามทิศทางสำหรับขับขี่แบบสลาลอม พวงมาลัยไฟฟ้าที่ใช้กับ TOYOTA INNOVA CRYSTA อาจถุกปรับเซ็ตมาไม่เหมือนกับรุ่นก่อนๆ ซึ่งต้องสร้างความคุ้นเคยกันเล็กน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะมีช่วงฟรีเยอะจนผิดวิสัยและทำให้ลดทอนการบังคับควบคุมที่แม่นยำแต่อย่างใด สรุปสั้นว่าความคมอาจลดลงไปบ้างซึ่งถือว่าพอรับได้

ด้านการทดลองในรูปแบบการเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน รวมถึงสภาพพื้นผิวขรุขระ ผมเริ่มสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของช่วงล่างโดยเฉพาะ “โฟว์ลิงค์” และการอัพเกรดระบบรองรับ ระยะทางเพียงน้อยนิดแต่ก็ยังสามารถรับรู้ได้ถึงความนุ่มนวลและยึดเกาะ แม้สภาพพื้นผิวที่จำลองการขับขี่ในสภาพเส้นทางทุรกันดารยังไม่เป็นปัจจัยทำให้รถคันนี้แข็งกระด้าง หรือ โยนตัว

เสร็จสิ้นการทดลองในสนามทดสอบ ถึงเวลาที่ต้องใช้งานจริงบนถนนหลวง เส้นทางในครั้งนี้ผู้จัดงานเริ่มต้นการทดสอบจากบางนา โดยมีปลายทางอยู่ที่เขาใหญ่ ใช้เส้นทางหลวงมอเตอร์เวย์ ผ่านโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ มุ่งตรงสู่ปราจีนบุรี แล้วขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก่อนจบปลายทางที่โรงแรมดุสิตD2 บริเวณอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เส้นทางทั้งหมดร่วม 300 กม.

160 กิโลเมตรโดยประมาณคือเส้นทางที่ได้ควบคุมรถคันนี้อย่างเต็มอิ่ม ทั้งในสภาพการจราจรของเมืองหลวงที่หนาแน่น รวมถึงการสัญจรไปมาที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนต่างจังหวัด มาดูกันที่การบังคับควบคุมก่อนอันดับแรก เพราะจะเอาฟิลลิ่งจากสนามทดสอบมาเป็นบรรทัดฐานคงไม่เหมาะสมกับสภาพการใช้งานจริง

น้ำหนักของพวงมาลัยในรอบต้นถือว่าหน่วงไปนิด แต่พอรอบกลางเริ่มเข้าที่และกระชับ รวมถึงเบามือกว่าเดิม แน่นอนว่าการออกแบบบางส่วนมาจากวิศวกรของประเทศอินโดเนเซีย เพราะฉะนั้นรูปแบบนี้ชาวอิเหนาอาจจะถูกใจ แต่ถ้าเป็นคนไทยก็ใช่ว่าจะรับไม่ได้ อย่างที่บอกไว้ถ้าหากคุ้นชินกับการควบคุม คุณก็จะบังคับรถคันนี้ได้แม่นยำและไปตามทิศทางที่กำหนดได้อย่างสบายๆ

มาถึงเรื่องของอัตราเร่ง เครื่องยนต์ที่ได้รับการปรับแต่งและถุกนำมาวางในบอดี้ของรถเอมพีวีที่เน้นความอเนกประสงค์สำหรับครอบครัวหรือนักธุรกิจสมัยใหม่ ไม่จำเป็นต้องเร็ว หรือ แรงมากนัก เพียงแค่สนองต่อความต้องการของผุ้ขับขี่ได้ดี และมีอัตราสิ้นเปลืองที่คุ้มค่า

ขุมพลังดีเซลรหัส1GD-FTV ขนาด 2.8 ลิตร ที่ประจำการอยู่ใน TOYOTA INNOVA CRYSTA ถือว่าได้รับการอัพเกรดมาได้อย่างโดนใจ รอบเครื่องยนต์เพียง 2,000 รอบ สามารถทำความเร็วซึ่งแสดงบนแผงหน้าปัดได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และทำอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยได้กว่า 14 กิโลเมตรต่อลิตร ในช่วงเร่งแซงถึงแม้ว่าจะเป็นระบบคันเร่งไฟฟ้าแต่ก็ไม่ต้องรอรอบ สามารถคิกดาวน์ได้โดยมีการประมวลผลจากกล่องอีซียูที่แม่นยำ หรือจะใช้โหมดขับขี่ที่ Drive Mode Switch โดยเลือก Power Mode เครื่องยนต์ก็จะสำแดงฤทธิ์เดชในรูปแบบห้าวหานได้อย่างน่าหวั่นเกรง

ช่วงล่างและระบบรองรับ…หากใครได้ลองเป็นต้องติดใจ การเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงหรือกระโดดคอสะพาน การยึดเกาะรวมถึงการยืด-ยุบของโช๊คอัพและสปริง ได้รับการออกแบบมาอย่างมีประสิทธิภาพ นักทดสอบรถในเมืองไทยแทบทุกรายที่เข้าร่วมทดสอบต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน “โฟร์ลิงค์” ที่ได้รับการติดตั้งในส่วนช่วงล่างด้านหลังทำงานได้สัมพันธ์กับปีกนกคู่หน้า จนเป็นที่มาของการยึดเกาะและนุ่มหนึบ ประเด็นสำคัญซึ่งทำให้คลายความเหนื่อยล้าและมีความสุขกับการขับขี่สำหรับการเดินทางไกล

สิ่งที่อยากรู้อีกหนึ่งเรื่องคือเสียงลมที่เร็ดรอดเข้าสู่ห้องโดยสาร ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของรถในเซกเมนต์นี้ แทบทุกรุ่น และทุกค่าย ต่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กันทั้งนั้น เช่นเดียวกับ TOYOTA INNOVA CRYSTA แต่เสียงที่เร็ดรอดเข้ามานั้นเริ่มมีในช่วงรอบความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สาเหตุมาจากกระจกมองข้างที่ออกแบบมาค่อนข้างใหญ่ สำหรับผมนั้นถือว่ารับได้ เพราะไม่บ่อยครั้งที่จะทำความเร็วเกินนี้ ถ้าไม่จงใจฟังหรือปิดเครื่องเสียงที่ขับกล่อม คงแทบจะจับผิดไม่ได้เลยทีเดียว

สุดท้ายถึงเวลาทดสอบในฐานะผู้โดยสาร เบาะนั่งแถว 3 ที่หลายคนเข็ดขยาด แต่ด้วยการเพิ่มมิติของตัวรถให้มีความยาวขึ้น ความสูงกว่า 170 เซนติเมตร ตามมาตรฐานชายไทย ก็ไม่ถือเป็นปัญหาเพราะยังเหลือพื้นที่ให้ขายาวๆได้ผ่อนคลาย ไม่นิ่งอยุ่กับที่ตลอดระยะทางเกือบ 50 กิโลเมตร ส่วนเบาะนั่งแถว 2 ไม่ได้เป็นแถวยาวแบบ 3 ที่นั่งอย่างที่หลายคนคิด ตรงกลางระหว่างเบาะนั่งถุกออกแบบให้เว้นว่าง เพื่อการเข้าออกแถว 3 ได้อย่างสะดวก โดยปรับและพับในรูปแบบ Touch Tumble เพียงดึงใต้เบาะเพียงครั้งเดียว ด้านหลังเบาะหน้า ยังมี Seat Back Table ที่สามารถนำโน้ตบุคมานั่งทำงาน หรือจะใช้ประโยชน์ในการวางสิ่งของ อาหาร หรือ ขวดน้ำ ก็สามารถทำได้อย่างสะดวกสบาย

ทีนี้ก็ถึงเวลาปรับเบาะเอนนอนเพื่อพักสายตาโดยมีพลขับวัยเก๋ารับหน้าที่เป็นสารถีขับต่อบนเขาใหญ่ ที่โค้งเยอะพร้อมกับสายฝนโปรยปราย ไปจนถึงจุดหมายปลายทางที่โรงแรมดุสิตD2โดยสวัสดิภาพ

TOYOTA INNOVA CRYSTA ได้รับการพัฒนาจากทีมผุ้สร้างชาวอินโดเนเซีย มั่นใจได้ว่าสามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ใช้รถชาวไทยแน่นอน เพราะสมรรถนะที่เกินตัวรวมถึงทีเด็ดจากระบบรองรับ จะทำให้ลืมภาพเดิมๆของรุ่นก่อนหน้าอย่างไร้ข้อกังขา สิ่งที่อยากให้ปรับปรุงนอกจากการออกแบบไฟท้ายที่ดูเทอะทะไปสักนิด และแผงข้างประตูที่ดูขัดตาไปสักหน่อย ในเรื่องของการควบคุมพวงมาลัยที่ต้องสร้างความคุ้นชิน ผมไม่ขอเรียกว่าเป็นปัญหา ส่วนเรื่องอื่นๆนอกจากนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำรถคันนี้สอบผ่านสบายๆ

RELATED ARTICLES

Most Popular