1 ในรถทั้ง 10 คัน ที่ได้นำมาทดสอบและยังถือเป็นไฮไลท์เด่นประจำทริพนั่นคือ TR TRANFORMER MAX แบบ 11 ที่นั่ง ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาเป็นเจเนอเรชั่นที่ 4 ด้วยรูปแบบของรถตรวจการณ์ที่ต่อยอดมาจากการผลิตรถเพื่อใช้ในแวดวงทหารและหน่วยงานราชการ จนกลายเป็นยนตรกรรมไทยทำที่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันได้พัฒนาให้ลงตัวและดูดีมากขึ้นกว่ารุ่นเดิม
รูปโฉมยังคงเอกลักษณ์ของรถทรงกล่องที่มีสไตล์เฉพาะตัวพร้อมการปรับเปลี่ยนเพื่อความโดดเด่น เริ่มจากหลังคาทรงสูงแบบ Hi Roof ตัวถังยกสูง แบบรถยนต์ Off Road สามารถวิ่งลุยน้ำได้ไม่น้อยกว่า 50 ซม.ประตูท้ายดีไซน์ใหม่เปิด/ปิดแบบจังหวะเดียว พร้อมแต่งชุดโป่งรอบคันซึ่งทั้งหมดมาจากการออกแบบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรฐานสากล ในส่วนของตัวถังผ่านการชุบกันสนิมด้วยประจุไฟฟ้าและพ่นสีแบบเดียวกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่
ห้องโดยสารเป็นสิ่งที่น่าทึ่งเพราะกว้างขวางและนั่งสบาย ด้วยการปรับแต่งให้เป็นไปในรูปแบบของรถตรวจการณ์ 11 ที่นั่ง โดยเบาะนั่ง 2 แถวหน้าเป็นแบบ 5 ที่นั่ง ส่วนเบาะนั่งตอนที่ 3 ทำเป็นม้านั่งยาว จุได้ถึง 6 คน และพับเก็บได้เพื่อบรรทุกสัมภาระ พร้อมติดตั้งระบบปรับอากาศเพื่อช่วยส่งความเย็นกระจายไปทั่วห้องโดยสาร อุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งส่วนใหญ่มาจากโตโยต้า อาทิ มาตรวัดเรืองแสงแบบ Optitron ดีไซน์ใหม่ พวงมาลัย 4 ก้าน แบบปรับระดับได้ ซึ่งมีปุ่มควบคุมเครื่องเสียง และปุ่มรับ-วางสายโทรศัพท์ เครื่องเสียงเป็นแบบ 2 DIN DVD 1 แผ่น พร้อมจอสัมผัสขนาด 6.1 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อ USB และ AUX รวมถึงมีช่องเก็บของอเนกประสงค์
เครื่องยนต์ที่อยู่ใน Tr Transformer ก็เป็นของโตโยต้าเช่นกัน มีอยู่ด้วยกัน 2 ขุมพลัง แบบดีเซลคอมมอนเรลเทอร์โบ ได้แก่ เครื่องยนต์รหัส 2KD-FTV(VNT) แบบเครื่องยนต์ 4 สูบ แถวเรียง DOHC 16 วาลว์ VN เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ ขนาด 2,494 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 14- แรงม้า ที่ 3.400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดที่ 343 นิวตันเมตรที่1,600-2,800 รอบ/นาที และเครื่องยนต์รหัส 1KD-FTV(I/C) แบบเครื่องยนต์ 4 สูบ แถวเรียง DOHC 16 วาลว์ VN เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ ขนาด 2,982 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 171 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 343 นิวตันเมตร ที่ 1,400-3,400 รอบ/นาที ซึ่งมีระบบส่งกำลังทั้งเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติแบบ 5 จังหวะ มาพร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ
อีกหนึ่งเรื่องที่น่าประทับใจคือระบบช่วงล่างระบบกันสะเทือนแบบอิสระปีกนกคู่ พร้อมคอยล์สปริงและเหล็ก กันโคลง และระบบตัดต่อกำลังอัตโนมัติ ระบบกันสะเทือนหลังเป็นแบบแหนบซ้อนและโช้คอัพทรงกระบอกติดตั้งทแยงมุมกัน รวมถึงติดตั้งชุดยกให้ตัวรถสูงขึ้นอาจเพราะน้ำหนักตัวรถที่เพิ่มเข้ามา ทำให้การยึดเกาะถนนเป็นไปอย่างดีเยี่ยม ไม่พบอาการโคลงหรือร่อนแต่อย่างใด แม้สภาพเส้นทางที่ใช้ในการทดสอบจะมีทั้งทางโค้งและขึ้น/ลงทางลาดชันก็ตาม
สำหรับ TR TRANFORMER MAX อาจจะมีน้ำหนักตัวสูงถึง 2,300 – 2,350 กก. แต่เครื่องยนต์ที่ติดตั้งมาก็ถือว่าก็เพียงพอกับการแบกน้ำหนักตัวรถที่หนักกว่า 2 ตัน สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนจากที่รถมีน้ำหนักมากขนาดนี้ ก็คือแรงหน่วงของน้ำหนักตัวรถตอนเร่งสปีดก็จะมีอาการช้าไปนิด เรื่องเสียงลมปะทะซึ่งเป็นปัญหากับ Transformer มาตั้งแต่เจเนอเรชั่นแรก พอมาถึงรุ่นที่ 4 ต้องบอกเลยว่าไทยรุ่งฯแก้ไขเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี แต่ก็ยังพอมีเสียงลมเร็ดรอดมาให้ได้ยินเป็นบางครั้ง ส่วนรูปลักษณ์และช่วงล่างที่ได้รับการปรับแต่งมานั้นต้องบอกว่าได้ทั้งหล่อ เท่ และ ลุยได้ในเวลาเดียวกัน