Friday, December 27, 2024
HomeAuto TestTest Driveจัดเต็มกับ SUBARU WRX STI สปอร์ตซีดานพันธุกรรมรถแข่งแรลลี่โลก

จัดเต็มกับ SUBARU WRX STI สปอร์ตซีดานพันธุกรรมรถแข่งแรลลี่โลก

ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า SUBARU WRX STI คันนี้ ไม่ใช่รุ่น IMPREZA  อย่างที่หลายๆคนเข้าใจ  แต่มีพื้นฐานที่ใกล้เคียงกันมากพอสมควร การจัดวางตำแหน่งทางการตลาดของรถคันนี้อาจจะคลุมเครือไปสักนิด ถ้าอยู่ในเซกเมนต์ของรถซีดานก็จะพูดได้ไม่เต็มปากเพราะอรรถประโยชน์นั่นมีเกินตัว ทั้งจากการออกแบบที่ดุดัน รวมถึงเครื่องยนต์สำแดงสมรรถนะดิบจนเลื่อนชั้นไปต่อกรกับรถสปอร์ตจากหลายๆค่ายได้อย่างสบายๆ

WRX STI เปิดตัวอย่างเป็นทางการในในบ้านเราเมื่อปีที่ผ่านมา  ด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นการเรียกเรตติ้งคืนจาก IMPREZA 5 ประตู ซึ่งออกจะดูเรียบร้อยไปสักนิดหากนำมาเทียบกับ WRX โมเดลล่าสุด ที่ต้องหยิบยกมาพูดเพราะภาพลักษณ์ของ IMPREZA ยังคงวนเวียนทำให้คิดไม่ตกว่าทำไมถึงต้องแยกโมเดลนี้ออกมาโดยเฉพาะ แต่ก็ใช่ว่า IMPREZA จะหายไปจากไลน์ผลิตเพราะได้ข่าวมาว่ารถรุ่นเรือธงแห่งค่ายดาวลูกไก่กำลังอยู่ในช่วงขั้นตอนการผลิตก่อนที่จะมาเป็น Production Car ส่วน WRX STI คันนี้ทางทีมผู้สร้างถือเป็นการนำ DNA ของรถแข่งแรลลี่โลก มาถ่ายทอดให้กลุ่มเป้าหมายได้สัมผัสถึงประสบการณ์การขับขี่ในสไตล์ดุดันอย่างไร้ข้อกังขา

WRX STI ค่อนข้างจะแตกต่างไปจากรุ่นมาตรฐานซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งวิเศษและตอบโจทย์ให้กับขาซิ่งได้ดีเลยทีเดียว สิ่งที่ถูกปรับแต่งใหม่มาในรูปแบบของชุดแอโร่พาร์ทรอบคัน เริ่มตั้งแต่กันชนและกระจังหน้าในสไตล์ดุดัน โป่งข้างซุ้มล้อแบบมีช่องระบายความร้อน สัญลักษณ์ STIที่ด้านข้างรถ สปอยเลอร์หลังขนาดใหญ่ โชว์ดุด้วยปลายท่อไอเสียคู่ทั้งซ้ายและขวาพร้อมดิฟฟิวเซอร์ รวมถึงล้ออัลลอยด์ขนาด 18 นิ้วสี Dark Gun Metalic พูดง่ายๆถ้ามีสติกเกอร์คาดด้านข้าง รถคันนี้แทบจะไม่ต่างไปจากตัวแข่งที่อยู่ในรายการ World Rally Championship

ห้องโดยสารให้อารมณ์สปอร์ตอย่างชัดเจน ตกแต่งด้วยการผสมผสานของหนังแท้และกำมะหยี่เข้าไว้ด้วยกัน แฝงความดุดันกับด้ายสีแดงพร้อมปักสัญลักษณ์ STI ไว้หลายส่วนทั้งเบาะนั่ง พวงมาลัย และที่คอนโซล ในส่วนของเบาะนั่งเป็นแบบบักเกตซีทที่ไม่อึดอัด พวงมาลัยเป็นแบบ flat bottom (หรือ D-Shape) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ติดตั้งมาจากโรงงาน ชุดแดชบอร์ด อุปกรณ์ภาคบันเทิง ใช้สีแดงเพื่อให้สอดคล้องกับสไตล์การตกแต่ง รวมถึงจอมัลติฟังก์ชั่นสามารถแสดงข้อมูลของตัวรถได้หลากหลายซึ่งใช้งานเป็นเกจวัดบูสต์เทอร์โบแบบดิจิตอลไปในตัว

ขุมพลังแห่งความแรงมาในรูปแบบของเครื่องยนต์เบนซินแบบ BOXER ขนาด 4 สูบ ความจุ 2.5 ลิตร อัดอากาศด้วยเทอร์โบพร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 300 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 41.5 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาทีส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ short throw พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ  Symmetrical All-Wheel-Drive

ระบบช่วงล่างด้านหน้าใช้เป็นแมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังเป็นมัลติลิงค์ ติดตั้งเหล็กกันโคลงไว้ทั้งด้านหน้าและหลัง ในส่วนของโช๊คอัพและสปริงตกแต่งมาจากสำนัก STI แน่นอนว่าทุกอย่างต้องพิเศษกว่าปกติทั้งเพิ่มค่าความแข็งของสปริงและปรับเซทโช๊คอัพให้หนึบขึ้น ทั้งหมดถูกปรุงแต่งเพื่อให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์สมรรถนะสูงรวมถึงการใช้งานระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งได้รับการออกแบบมาให้มีการยึดเกาะถนนกว่ารุ่นมาตรฐาน

มาถึงช่วงลองของกับการทดสอบบนสนามแข่งซึ่งเตรียมการไว้ถึง 2 รูปแบบในสไตล์ GYMKANA และ QUARTERMILE

ช่วงทดสอบแรกในสถานี GYMKANA เสมือนเป็นการจำลองรูปแบบการขับขี่ที่เน้นไปในด้านของการควบคุมรถ แน่นอนว่าวิธีขับขี่รูปแบบนี้คือการเค้นสมรรถนะของช่วงล่างและควบคุมรถให้ได้ตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งต้องมีความแม่นยำในการบังคับรถมิฉะนั้นจะไปโดนอุปสรรคต่างๆที่กีดขวางเส้นทางอยู่ รูปแบบการขับขี่ในสไตล์สลาลอมต้องบอกว่าพวงมาลัยของ WRX STI ดีไซน์ออกแนวแมนๆ ถ้าใช้ความเร็วต่ำถือว่าค่อนข้างหนักเลยทีเดียว แต่การควบคุมก็ยังทำได้แม่นยำตามทิศทางที่สายตาพาไป พอหลุดจากช่วงสลาลอม จะเป็นการควบคุมแบบหมุนรอบไพล่อน ตรงนี้ค่อนข้างจะกลัวรถอันเดอร์สเตียร์ครับ ผมเลยดึงเบรกมือช่วยให้ท้ายออกไว้ก่อน แต่ก็ยังถือว่าทำค่อนข้างลำบาก เนื่องจากระบบ DCCD:Driver’s Control Differential นั้นฉลาดมาก พยายามปิดโหมดนี้ทั้งหมด แต่ระบบก็ยังช่วยให้รถไม่เสียอาการอยู่ดี ผลที่ออกมาก็คือยังไงก็มีอาการหน้าดื้ออยู่จนได้ ในมุมกลับกันถ้าหากใช้รถบนถนนหลวง DCCD จะช่วยเหลือในด้านความปลอดภัยเพราะการควบคุมจะทำได้ง่ายดายและแม่นยำ สำหรับในกรณีลงสนามแข่ง ผมถือว่ารถคันนี้ดูถูกความสามารถผมไว้ค่อนข้างมากทีเดียว

มาต่อกันสำหรับสถานีควอเตอร์ไมล์ ฟังค์ชั่น DCCD ยังไม่ได้รับการปลดล๊อคกลับเพิ่มระดับให้สุดความสามารถของระบบนี้ รวมถึงอาวุธลับอย่างระบบ SI DRIVE ที่ปรับให้เป็นโหมด Sport การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั้งซุ่มเสียงของขุมพลังบอกเซอร์ รวมถึงระบบช่วงล่างที่แน่นขึ้น รอบแรกที่ได้วิ่งบนแทร็ค เอาเป็นว่าขอลองขับแบบธรรมดาเพื่อทำความคุ้นเคยกับสภาพพื้นผิวและจับจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ก่อนที่จะลองของแบบจัดเต็มไปจนถึงปลายเส้นชัย

ระหว่างรอสัญญาณไฟบริเวณจุดสตาร์ท เครื่องยนต์ถูกเร่งไปที่ 4,500 รอบต่อนาที พอไฟแดงกระพริบก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นไฟเขียว จังหวะชิงไหวชิงพริบจากสัญญาณไฟเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลขที่ผมหวังว่าจะทำให้ดีที่สุด คลัชที่เหยียบไว้ได้ปล่อยออกตอนช่วงสัญญาณไฟเปลี่ยนสี ในขณะนั้น Symmetrical All-Wheel-Drive เมื่อทำงานร่วมกับฟังค์ชั่น DCCD การกระโจนออกจากจุดสตาร์ทจึงไม่ค่อยรุนแรงตามที่คิดไว้ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะทำให้การออกตัวไม่เสียเวลาไปกับการฟรีทิ้งของยางที่สัมผัสกับพื้นแทรค เข็มวัดรอบไปฟาดที่เรดไลน์อย่างรวดเร็วพร้อมกับอาการสะดุดเพราะรอบตัด ทันใดนั้นจึงสับมาที่เกียร์ 2 ต่อด้วย 3 และ 4 จวบจนไปจบที่เกียร์ 5 ณ ปลายเส้นชัย เวลาที่ทำได้โดยการตรวจจับของเครื่องมือจับเวลาแสดงไว้ว่าความเร็ว 0-100 ทำได้ในเวลาเพียง 6.37 วินาที ส่วนระยะควอเตอร์ไมล์ 402 เมตร WRX STI ทำไว้ได้ 14.47 วินาที

อันที่จริงเวลาน่าจะออกมาดีกว่าตัวเลขที่กล่าวไว้ ตัวแปรนอกจากความสัปเพร่าที่เปลี่ยนเกียร์ไม่ตรงกับรอบความเร็ว ยังจะมีเรื่องของยางซึ่งผ่านการใช้งานอย่างหนักมาระยะหนึ่ง จนเป็นเหตุให้เวลาที่ได้ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่สำหรับผม การทดสอบทั้ง 2 รูปแบบ ที่นำมาพิสูจน์ถึง DNA ของรถแข่งแรลลี่โลก แค่นี้ก็เป็นอะไรที่สนุกสนาน ควบคุมง่าย เร็ว และ แรง ไปกับขุมพลัง 300 แรงม้า จะแค้นก็แต่ระบบต่างๆที่คอยดูถูกไม่ให้แสดงลวดลายการขับขี่ได้ตามแบบที่ต้องการ สำหรับการแก้ทางของรถคันนี้คงต้องกลับไปทำการบ้านมาใหม่ โอกาสหน้าผมสัญญาว่าจะหาโปรเจคสนุกๆมาลองพิสูจน์เจ้าเสือร้าย SUBARU WRX STI แน่นอน

RELATED ARTICLES

Most Popular