Friday, November 8, 2024
HomeAuto Newsนิสสัน เผยแผนปฏิรูปเพื่อสร้างการเติบโตและผลกำไรอย่างยั่งยืน

นิสสัน เผยแผนปฏิรูปเพื่อสร้างการเติบโตและผลกำไรอย่างยั่งยืน

บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด ประกาศแผนระยะ 4 ปี เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน เสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงิน และความสามารถในการสร้างผลกำไร ภายในสิ้นปีงบประมาณปี พ.ศ. 2566 โดยแผนปฏิรูปการดำเนินธุรกิจนี้ยังครอบคลุมถึงการจัดการต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์ขององค์กรจากเดิมที่ให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจมากจนเกินไป

ภายใต้แผนระยะ 4 ปีนี้ นิสสันตัดสินใจที่จะปฏิรูปการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยลดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรและโรงงานที่เกินความจำเป็นลง ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างองค์กร พร้อมลดต้นทุนคงที่ โดยพิจารณากำลังการผลิต รถยนต์รุ่นต่าง ๆ ที่จำหน่ายอยู่ทั่วโลก และรวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ  ภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีระเบียบแบบแผน บริษัทฯ มุ่งให้ความสำคัญและลงทุนในธุรกิจที่จะช่วยให้ฟื้นฟูองค์กรให้สร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนเท่านั้น

นิสสัน คาดการณ์ว่าการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว จะช่วยให้บริษัทฯ มีอัตรากำไรจากผลการดำเนินงานที่ร้อยละ 5 และมีสัดส่วนทางการตลาดทั่วโลกคิดเป็นร้อยละ 6 เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณปีพ.ศ. 2566 ซึ่งรวมถึงสัดส่วนรายได้ที่มาจากการร่วมลงทุนร้อยละ  50 ในประเทศจีน

มาโคโตะ อูชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นิสสัน กล่าวว่า “แผนปฏิรูปของเรามีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดการเติบโตอย่างมั่นคง แทนที่จะให้ความสำคัญต่อการเพิ่มยอดขายมากจนเกินไป โดยนิสสันจะมุ่งเน้นเรื่องความสามารถหลักขององค์กร พร้อมยกระดับคุณภาพทางธุรกิจ และรักษาระเบียบวินัยทางการเงิน รวมถึงรายได้สุทธิต่อหน่วยเพื่อสร้างผลกำไรตามเป้าที่วางไว้ โดยทั้งหมดนี้จะมีการดำเนินงานควบคู่ไปกับการรื้อฟื้นวัฒนธรรม “ความเป็นนิสสัน” เพื่อเดินหน้าสู่ยุคใหม่ของนิสสันอย่างแท้จริง”

แผนระยะ 4 ปีของนิสสัน วางอยู่บนกลยุทธ์ 2 ด้าน ที่อยู่บนชื่อเสียงของนิสสันที่มีรากฐานมาจากการเป็นผู้ริเริ่มด้านนวัตกรรม ฝีมือการผลิต การให้ความสำคัญแก่ลูกค้า และคุณภาพ และยังรวมไปถึงการปฏิรูปด้านวัฒนธรรมองค์กร

1. กระบวนการทำให้เกิดประสิทธภาพ: แนวทางปฏิบัติเพื่อปรับโครงสร้าง ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

แผนงาน

  • ปรับอัตราการผลิตของนิสสันลงร้อยละ 20 ให้เหลือเพียง 4 ล้านคันต่อปี ภายใต้การปฏิบัติงานตามช่วงเวลาการทำงานตามมาตรฐานปกติ
  • เพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตให้ได้มากกว่าร้อยละ 80 เพื่อเพิ่มผลกำไร
  • ลดจำนวนรุ่นรถยนต์ทั่วโลกลงร้อยละ 20 (ให้เหลือเพียง 55 รุ่น จากเดิม 69 รุ่น)
  • ลดต้นทุนแบบคงที่ลงประมาณ 3 แสนล้านเยน
  • ยุติการดำเนินงานของโรงงาน ณ บาร์เซโลน่า ในภูมิภาคยุโรปตะวันตก
  • ควบรวมการผลิตของรถยนต์รุ่นสำคัญต่าง ๆ ในอเมริกาเหนือ
  • ยุติการดำเนินงานของโรงงานในประเทศอินโดนีเซีย และมุ่งให้ความสำคัญกับโรงงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตแห่งเดียวในอาเซียน
  • ร่วมมือบริษัทในกลุ่มพันธมิตรในการใช้ทรัพยากร เช่น การผลิต รุ่นรถยนต์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ร่วมกัน

2. การให้ความสำคัญกับตลาดหลักและรถยนต์รุ่นสำคัญ

แผนงาน

  • มุ่งเน้นธุรกิจของนิสสันในประเทศญี่ปุ่น จีน และทวีปอเมริกาเหนือ
  • ใช้ประโยชน์จากความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตร เพื่อรักษาฐานทางธุรกิจของนิสสัน ในอเมริกาใต้ อาเซียน และยุโรป
  • ยุติการการดำเนินงานในประเทศเกาหลีใต้ ยุติการดำเนินธุรกิจของดัทสันในรัสเซีย รวมถึงปรับแผนการดำเนินธุรกิจของบางประเทศในอาเซียน
  • ให้ความสำคัญกับรถยนต์รุ่นหลักในกลุ่ม C และ D Segment รวมถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และรถสปอร์ต
  • เดินหน้าเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ 12 รุ่น ในอีก 18 เดือนข้างหน้า
  • เพิ่มจำนวนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า รวมถึง เทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ โดยตั้งเป้าจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 1 ล้านคัน ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2566
  • ในประเทศญี่ปุ่น นิสสันจะเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 2 รุ่น และรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ จำนวน 4 รุ่น เพื่อเพิ่มสัดส่วนของยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ถึงร้อยละ 60 ของยอดขายทั้งหมด
  • นำระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะ ProPILOT มาใช้ในรถยนต์มากกว่า 20 รุ่นที่วางขายใน 20 ประเทศ โดยตั้งเป้าว่าจะมีรถยนต์จำนวนกว่า 5 ล้านคัน ที่ใช้ระบบ ProPILOT ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2566

อูชิดะ กล่าวปิดท้ายว่า “นิสสันต้องส่งมอบคุณค่าของแบรนด์ให้แก่ลูกค้าทั่วโลก โดยเราต้องนำนวัตกรรม ทั้งด้านยานยนต์ เทคโนโลยี และเจาะตลาดที่เรามีศักยภาพในการแข่งขัน นี่คือ DNA ความเป็นนิสสัน และในยุคใหม่ของเรา คนยังเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดสำหรับนิสสัน เพื่อให้นิสสันส่งมอบเทคโนโลยีที่คิดค้นมาเพื่อทุกคน และเพื่อรับมือกับความท้าทาย ซึ่งมีแต่นิสสันเท่านั้นที่สามารถทำได้”

RELATED ARTICLES

Most Popular