ความร้อนแรงของ ฮอนด้า ซีอาร์-วี การันตีด้วยยอดจำหน่ายที่เป็นไปอย่างไหลลื่น ทะลุ 4,000 คัน หลังจากเปิดตัวเพียง 2 เดือนเศษ แน่นอนว่าอีกไม่นานตัวเลขคงพุ่งพรวด เพราะสาวกและกลุ่มเป้าหมายอีกหลายท่านกำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจ คำตอบของคุณคือรุ่นไหน ระหว่างเครื่องยนต์ เบนซิน 2.4 ลิตร หรือ ดีเซล เทอร์โบ I-DTEC 1.6 ลิตร ลองดูข้อมูลและผลทดสอบบนระยะทางกว่า 300 กม. ที่ Autoworldthailand พร้อมนำเสนอเพื่อประกอบการตัดสินใจครับ
สำหรับ ฮอนด้า ซีอาร์-วี เป็นการพัฒนาสู่เจอเนอเรชั่นที่ 5 โดยมีความหรูหรา และ แข็งแกร่ง เป็นโจทย์หลัก หากมองจากรูปลักษณ์ภายนอกคงไม่เห็นถึงความแตกต่างของรถทั้ง 2 รุ่น มิติตัวรถมากับขนาดความยาว 4,587 มม. กว้าง 1,855 มม. และ สูง 1,689 มม. ระยะฐานล้อ 2,660 มม. เมื่อนำมาเทียบกับโมเดลที่ผ่านมาจะยาวขึ้น 5 มม.กว้างขึ้น 35 มม. และสูงขึ้น 39 มม. ขณะที่ฐานล้อได้รับการขยายให้กว้างกว่าเดิมถึง 40 มม.
ด้านความโดดเด่นของรูปลักษณ์เริ่มจากดีไซน์ไฟหน้าและไฟท้ายใหม่ในแบบ LED พร้อมไฟ Daytime Running Light เสริมความแข็งแกร่งด้วยกระจังหน้าแบบพรีเมียมออกแบบเส้นสายที่เฉียบคม มาพร้อมลวดลายของล้ออัลลอยดีไซน์สปอร์ตขนาด 18 นิ้ว ทั้ง 2 รุ่น
ห้องโดยสารใช้วัสดุหุ้มเบาะนั่งและแผงข้างเป็นหนังแท้ ชูจุดเด่นของเบาะนั่ง 3 แถว 7 ที่นั่ง ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลายรูปแบบ แต่หากผู้โดยสารมีส่วนสูงประมาณ 170 ซม.ขึ้นไป อาจเป็นปัญหาในการเดินทางได้ เพราะต้องนั่งชันเข่าทำให้กล้ามเนื้อส่วนขาตึงและล้าในเวลาไม่นานนัก ถ้าจะให้ดี ยกให้เป็นที่นั่งประจำของน้องๆหนูๆ น่าจะเป็นทางออกที่สะดวกกว่า
ในส่วนของแถว 2 สามารถเลื่อนและพับเบาะนั่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้า/ออกเบาะนั่งแถว 3 ได้ง่ายขึ้น พร้อมติดตั้งช่องปรับอากาศไปยังผู้โดยสารแถว 2 และ 3 ทำให้กระจายความเย็นได้ทั่วถึง
ตกแต่งภายในด้วยโทนสีดำ Piano Black ผสมรวมกับลายไม้ พวงมาลัยติดตั้งระบบมัลติฟังค์ชั่น มีปุ่มควบคุมเครื่องเสียงและระบบครูสคอนโทรล
มาตรวัดมาพร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบ TFT มาตรวัดพร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบ TFT ซึ่งแสดงผลฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย สามารถแสดงการทำงานของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ E-DPS รวมถึงระบบช่วยเตือนความเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (Driver Attention Monitor) ซึ่งหากระบบตรวจพบความเสี่ยงอุบัติเหตุที่เกิดจากความเหนื่อยล้า ระบบจะทำการแจ้งเตือนด้วยเสียง และสั่นไปยังพวงมาลัยเพื่อป้องกันการหลับในของผู้ขับขี่
แผงคอนโซลหน้าขนาดใหญ่ ครบครันด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกระดับพรีเมียม เบาะนั่งด้านคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมปุ่มปรับดันหลังไฟฟ้า 4 ทิศทาง ติดตั้งระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ i-Dual Zone และ ระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว แบบ Advanced Touch รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay
ความแตกต่างที่ชัดเจนอยู่ในด้านของขุมพลังที่ได้รับการพัฒนาภายใต้เทคโนโลยีเอิร์ธดรีม ได้แก่ เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 1.6 ลิตร i-DTEC DIESEL TURBO 4 สูบ ให้กำลังสูงสุด 160 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที ด้วยแรงบิดสูงสุดที่ 350 นิวตัน-เมตรที่ 2,000 รอบต่อนาที
นวัตกรรมใหม่ที่นำมาใช้ในเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นนี้คือการผสมผสานระบบเกียร์อัตโนมัติ 9 สปีด ซึ่งเป็นระบบเกียร์ไฟฟ้าควบคุมและสั่งการด้วยสวิตช์ (Shift by Wire) พร้อมระบบแพดเดิลชิฟท์ที่พวงมาลัย เคลมอัตราสิ้นเปลืองไว้ที่ 18.9 กิโลเมตร/ลิตร
อีกหนึ่งรุ่นเป็นเครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.4 ลิตร DOHC i-VTEC 4 สูบ ให้กำลังสูงถึง 173 แรงม้าที่ 6,200 รอบต่อนาที ด้วยแรงบิดสูงสุดที่ 224 นิวตัน-เมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที
สำหรับในรุ่นเครื่องยนต์เบนซินจะทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT พร้อมรองรับพลังงานทางเลือก E85 เคลมอัตราสิ้นเปลืองไว้ที่ 12.2 กิโลเมตร/ลิตร
ฮอนด้า ซีอาร์-วี ใหม่ ติดตั้งระบบช่วงล่างแบบอิสระ ด้านหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังใช้มัลติลิงค์ แต่มีการปรับปรุงจุดยึดของระบบรองรับใหม่เพื่อสมรรถนะการขับขี่ที่ดียิ่งขึ้น
ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ แบบ E-DPS ถือเป็นอีกหนึ่งอรรถประโยชน์ที่รถทั้ง 2 รุ่นใช้งานร่วมกัน ทำงานโดยเปลี่ยนการควบคุมระบบส่งกำลังไปยังล้อหลังด้วยระบบไฟฟ้า พร้อมกับให้แรงบิดที่ล้อหลังสูงขึ้น และเพิ่มความแม่นยำของการปรับแรงบิดที่ล้อหน้าและล้อหลังอย่างสมดุล
ฟังค์ชั่นต่างๆในรถทั้งสองรุ่นถือว่าอัดแน่นเต็มระบบ ตัวชูโรงสำหรับรองรับไลฟ์สไตล์ระดับพรีเมียม ได้แก่ ฝากระโปรงท้ายเปิด-ปิดอัตโนมัติแบบไฟฟ้าด้วยระบบแฮนด์ฟรี (Hands-free Power Tailgate) พร้อมควบคุมการเปิด-ปิดด้วยรีโมท หนึ่งในฟังค์ชั่นหลักที่เหนือกว่าคู่แข่งในท้องตลาด ระบบนี้สามารถกำหนดระยะความสูงของฝากระโปรงได้ตามความสะดวก และ สภาพพื้นที่ ควบคุมการทำงานโดยไม่ต้องใช้มือ เซนเซอร์ถูกติดตั้งอยู่ใต้กันชนหลัง ทำงานโดยการตรวจจับความเคลื่อนไหว สามารถเอาเท้าแกว่งเข้าไปหาเซนเซอร์ เมื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวได้ระบบจะทำงานทันที
การใช้งานฟังค์ชั่นนี้ทุกครั้งกุญแจรถจะต้องอยู่กับตัวผู้ใช้งานเท่านั้น และจะทำงานร่วมกับระบบป้องกันการหนีบในรูปแบบ Jam Protection กรณีที่ฝาท้ายเปิดออกและกระทบสิ่งของกีดขวาง ระบบจะสั่งการให้ดีดตัวกลับอัตโนมัติ
ด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยมีให้ครบ อาทิ ระบบตรวจจับความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ (Driver Attention Monitor) ผ่านการควบคุมพวงมาลัยและแจ้งเตือนผ่านหน้าจอ TFT พร้อมการสั่นเตือนที่พวงมาลัย ระบบเพิ่มความคล่องตัวในการขับขี่ (Agile Handling Assist) ระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (Honda LaneWatch) ระบบเบรกมือไฟฟ้า (Electric Parking Brake) และระบบ Auto Brake Hold (Automatic Brake Hold)
การทดสอบในครั้งนี้ใช้เส้นทางไปและกลับ จาก จ.ภูเก็ต สู่จ.พังงา ระยะทางจวบจนเสร็จสิ้นการทดสอบอยู่ที่ประมาณ 300 กม. มาดูกันว่าสมรรถนะและความแตกต่างของ ฮอนด้า ซีอาร์วี ทั้ง 2 รุ่น จะมีส่วนไหนที่โดนใจคุณ
เริ่มต้นทดสอบด้วยรุ่น เครื่องยนต์ i-DTEC DIESEL TURBO ในขณะที่สภาพอากาศไม่ค่อยจะเอื้อต่อการขับขี่สักเท่าไหร่ หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า เครื่องยนต์ดีเซลจะส่งเสียงดังรบกวนภายในห้องโดยสารเหมือนเครื่องยนต์ดีเซลคู่แข่งต่างแบรนด์ที่คุ้นเคยกันในเซกเมนต์ของรถพิคอัพหรือไม่ ถ้าคุณจะนำเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นนี้ไปเทียบ ผมออกตัวไว้ก่อนเลยว่าเป็นความคิดที่ผิด หากเทียบควรนำไปเทียบกับเครื่องยนต์ดีเซลที่ติดตั้งในรถยนต์จากทวีปยุโรป สิ่งสำคัญคือเสียงที่เร็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสารนั้นน้อยมาก เพราะผู้ออกแบบได้ทำการใส่วัสดุซับเสียงทั้งที่เครื่องยนต์ และ ห้องโดยสาร คำตอบของเรื่องนี้คือ “เงียบกว่าที่หลายๆคนคิดไว้”
ขนาดความจุอันน้อยนิดเพียง 1.6 ลิตร จะสามารถพานน.ตัวกว่า 1.7 ตันไปได้ดีขนาดไหน เรื่องนี้เราได้ความกระจ่างจากตัวเลขที่แสดงบนเครื่อง P-Box ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดอัตราเร่งโดยใช้ดาวเทียมเป็นตัวประเมินผล สำหรับอัตราเร่ง 0-60 กม./ชม. ใช้เวลาไป 4.6 วินาที และอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลา 10.5 วินาที ในส่วนของอัตราสิ้นเปลืองแสดงค่าบนจอ TFT อยู่ที่ประมาณ 15 กม./ลิตร ในความเร็วเฉลี่ยไม่เกิน 120 กม./ชม.
ระบบส่งกำลังนวัตกรรมใหม่ในรูปแบบของเกียร์อัตโนมัติ 9 สปีด ซึ่งเป็นระบบเกียร์ไฟฟ้าควบคุมและสั่งการด้วยสวิตช์ (Shift by Wire) จุดเด่นอยู่ที่การเรียงเกียร์ค่อนข้างชิดส่งผลให้การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์แต่ละครั้งทำได้นุ่มนวล รูปแบบที่แตกต่างอยุ่ที่เกียร์ 5-9 ซึ่งทีมผู้ออกแบบลงความเห็นว่าเป็นช่วงเกียร์ที่ใช้งานบ่อยครั้ง ส่งผลให้ในการใช้เกียร์ช่วงจังหวะดังกล่าวทำได้อย่างต่อเนื่อง หนำซ้ำความอัจฉริยะยังมาในรูปแบบก้าวกระโดด จากเกียร์ 9 หากรอบหรือความเร็วไม่สัมพันธ์กัน ระบบจะตัดกลับมาที่เกียร์ 5 ทันที เช่นเดียวกับเกียร์ 7 หากเกิดอาการดังกล่าว สมองกลของเกียร์ก็จะสั่งการให้เปลี่ยนอัตราทดมายังเกียร์ 4 ทันทีเช่นกัน
ระบบช่วงล่างเปลี่ยนไปจาก ฮอนด้า ซีอาร์วี เจนเนอเรชั่นที่ 4 อย่างชัดเจน ทั้งด้านหน้า และ หลัง เป็นแบบอิสระ แต่ได้มีการปรับจุดยึดระบบช่วงล่างใหม่ และ ดีไซน์ชอคอัพ รวมถึงคอยสปริงให้มีการยึดเกาะถนนที่แน่นขึ้น ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ E-DPS มาเสริม ส่งผลให้มั่นใจได้กับทุกสภาพเส้นทาง
อีกหนึ่งฟังค์ชั่นที่ทำงานร่วมกับระบบช่วงล่างนั่นคือ ระบบเพิ่มความคล่องตัวในการขับขี่ (Agile Handling Assist) หรือ AHA ทำงานด้วยการเพิ่มแรงเฉื่อยและลดกำลังของล้อด้านในโค้งเพื่อเติมเต็มสมรรถนะการยึดเกาะ ตัวช่วยนี้ได้รับการติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับ ฮอนด้า ซีอาร์วี ทั้ง 2 รุ่น
เสร็จจากการทดสอบเครื่องยนต์ i-DTEC DIESEL TURBO ถึงเวลาได้ลองสมรรถนะของเครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.4 ลิตร DOHC i-VTEC ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก และสามารถรองรับเชื้อเพลิง อี 85 รวมถึงจับคู่กับเกียร์อัตโนมัติซีวีที ในด้านความจัดจ้านอาจไม่เทียบเท่ากับขุมพลังดีเซล เทอร์โบ
สำหรับการทดสอบด้วยเครื่อง P-Box แสดงค่าที่ความเร็ว 0-60 กม./ชม.ด้วยเวลา 5.6 วินาที ในส่วนอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลาไป 11.3 วินาที ขณะที่อัตราสิ้นเปลืองแสดงค่าบนจอ TFT อยู่ประมาณ 11.7 กม./ลิตร ในความเร็วเฉลี่ยไม่เกิน 120 กม./ชม.
ในส่วนของเกียร์อัตโนมัติซีวีทีอาจจะทำให้ ฮอนด้า ซีอาร์วี รุ่นเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร ดูเรียบร้อยไปสักนิด เพราะเป็นระบบเกียร์ที่ไม่มีอัตราทด แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ระบบช่วงล่าง เพราะสัมผัสได้ถึงความนุ่มนวล แต่ไม่นุ่มหนึบเหมือนรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล คำถามมีอยู่ว่า เพราะอะไร ทั้งที่เป็นชิ้นส่วนอะไหล่เดียวกัน
ในเรื่องนี้ทางหัวหน้าวิศวะกรออกแบบจากแดนซามูไรได้ไขข้อข้องใจว่าเป็นเพราะค่าเคของสปริงที่ต่างไปจากรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล เหตุจากนน.ตัวรถที่ต่างกันถึงกว่า 70 กก. ด้วยเหตุนี้จึงเป็นส่วนที่ทำให้ระบบช่วงล่างของรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร ตกเป็นรอง แต่ด้วยการช่วยเหลือของระบบ AHA และระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ E-DPS ก็ทำให้การยึดเกาะถนนยังคงประสิทธิภาพ แม้จะนุ่มนวลไปสักหน่อยก็ตาม
สรุป
ผลการทดสอบรถยนต์ฮอนด้า ซีอาร์วี ทั้ง 2 รุ่น บนระยะทางประมาณ 300 กม. ซึ่งทำให้ได้ลองทั้งอัตราเร่งและสมรรถนะ เสมือนเป็นการยืนยันว่ารถเครื่องเล็กที่มาพร้อมนวัตกรรมใหม่ในรุ่นเครื่องยนต์ i-DTEC DIESEL TURBO นั้นไม่ได้ด้อยเหมือนที่หลายๆท่านคิด ทั้งยังขับขี่ได้สนุก ตอบสนองฉับไวกว่ารุ่นเครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.4 ลิตร DOHC i-VTEC แต่ความต่างในด้านราคาจำหน่ายที่รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร ถูกกว่าถึง 150,000 บาทเป็นอะไรที่น่าคิด ถ้าถามความคิดเห็นส่วนตัว ผมยอมที่จะเพิ่มเงินจำนวนนี้เพื่อเลือกรถที่ตอบโจทย์การใช้งานตามสไตล์ที่ตัวเองต้องการในรูปแบบเครื่องยนต์ดีเซล แต่อีกหลายท่านอาจมองว่า ในเมื่อออฟชั่นเหมือนกันแทบทุกรูปแบบ จะไปเสียเงินเพิ่มเพื่ออะไร คำตอบเหล่านี้คุณต้องตอบเองครับ
ทดสอบโดย ณัฐเทพ เผ่าจินดา
ข้อมูลเทคนิค
ผู้จัดจำหน่าย บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 02-341-7888
ยี่ห้อ,รุ่น | HONDA CR-V DT EL 4WD | HONDA CR-V 2.4 EL 4WD |
เครื่องยนต์ | ดีเซล 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC I-DTEC | เบนซิน 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC I-VTEC |
ความจุ (ซีซี) | 1,597 | 2,356 |
กำลังสูงสุด (แรงม้า/รตน.) | 160/4,000 | 173/6,200 |
แรงบิดสูงสุด (กก.-ม./รตน.) | 35.7/2,000 | 22.8/4,000 |
ระบบถ่ายทอดกำลัง (จังหวะ) | อัตโนมัติ 9 | CVT |
ขับเคลื่อน (ล้อ) | 4 อัตโนมัติ (REAL TIME AWD) | 4 อัตโนมัติ (REAL TIME AWD) |
ระบบรองรับ (หน้า/หลัง) | แมคเฟอร์สันสตรัท เหล็กกันโคลง | มัลทิลิงค์เหล็กกันโคลง |
ยาว/กว้าง/สูง (มม.) | 4,571/1,855/1,667 | 4,571/1,855/1,667 |
น้ำหนัก (กก.) | 1,742 | 1,670 |
ระบบห้ามล้อ | ดิสเบรก 4 ล้อ ทำงานร่วมกับ เอบีเอส และ อีบีดี | ดิสเบรก 4 ล้อ ทำงานร่วมกับ เอบีเอส และ อีบีดี |
ราคา (บาท) | 1,699,000 | 1,549,000 |