Monday, December 23, 2024
HomeAuto Newsฟอร์ดร่วมฉลองวันวิศวกรหญิงสากล ผ่านเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจจากทั่วโลก

ฟอร์ดร่วมฉลองวันวิศวกรหญิงสากล ผ่านเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจจากทั่วโลก

ฟอร์ดร่วมฉลองวันวิศวกรหญิงสากล (International Women in Engineering Day – #INWED) ด้วยการแบ่งปันเรื่องราวที่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจของวิศวกรหญิงแกร่งผู้อยู่เบื้องหลังรถกระบะ ฟอร์ด เรนเจอร์ จากฟอร์ดทั่วโลก

‘แรงขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนโลก’ คือธีมของวันวิศวกรหญิงสากลในปีนี้ สะท้อนเรื่องราวในชีวิตจริงของวิศวกรหญิงหลายคนของฟอร์ด รวมถึงวิศวรหญิงไทยที่ร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้หลายๆ คน เช่นเดียวกับ ดามยันที กุปทา วิศวกรหญิงคนแรกของฟอร์ด

ดามยันที กุปทา จบปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเข้าร่วมงานกับฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ในเมืองเดียร์บอร์น ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2510 ในตำแหน่งวิศวกรหญิงคนแรกของฟอร์ด แม้คนส่วนใหญ่มักมีภาพจำว่าวิศวกรเป็นอาชีพสำหรับผู้ชาย แต่เธอก็ยืนหยัดในการเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางนี้และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนมากมายตลอดเวลากว่า 35 ปี จนเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2545 นับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้หญิงก็สามารถประสบความสำเร็จในสายวิศวกรรมยานยนต์ได้เช่นกัน

จากสิ่งที่ชอบสู่อาชีพที่ใช่

สวานด์ แคท วิศวกรหญิงแกร่งที่คร่ำหวอดในวงการวิศวกรรมยานยนต์มานานกว่า 15 ปี มีชีวิตที่ไม่ต่างจาก กุปทา เธอเข้ารับตำแหน่งวิศวกรหญิงกลุ่มแรกๆ ของฟอร์ดในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยรับผิดชอบงานวิศวกรรมระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประจำทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

วิศวกรหญิงเก่งชาวจอร์แดนคนนี้เล่าว่าเธอเริ่มหลงใหลเครื่องยนต์กลไกตั้งแต่อายุยังน้อย และไม่เคยรู้สึกว่าการเป็นผู้หญิงเป็นอุปสรรคในการทำสิ่งที่เธอชอบ

“แม้ว่าเส้นทางจะไม่ง่าย แต่ด้วยความพยายาม ความมานะอุตสาหะ และการมีตัวช่วยในระดับองค์กร อย่างเช่นฟอร์ด เราทุกคนจึงมีความเท่าเทียมกัน ฉันภูมิใจที่ได้เดินทางมาถึงจุดนี้ และแน่นอนว่าความฝันของฉันจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้” สวานด์ กล่าว

“ดิฉันอยากส่งต่อแรงบันดาลใจไปยังวิศวกรหญิงรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ให้รู้ว่ายังมีโอกาสมากมายสำหรับผู้หญิงที่อยากเติบโตในสาขาอาชีพนี้ ดิฉันรู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่างฟอร์ด”

งานที่มาพร้อมความภาคภูมิใจ

จุติมาศ สุวรรณเวช วิศวกรฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์แห่งโรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด (เอฟทีเอ็ม) รับผิดชอบคุณภาพชิ้นส่วนของห้องโดยสารในรถฟอร์ด เรนเจอร์ และฟอร์ด เอเวอเรสต์ โดยทำงานร่วมกับทีมวิศวกร และทีมผลิตภัณฑ์จากนานาประเทศ เพื่อส่งมอบรถยนต์พร้อมอุปกรณ์ภายในที่เปี่ยมคุณภาพ 

จุติมาศเผยว่าเธอรักงานที่ทำและภาคภูมิใจในตัวเองเป็นอย่างมาก ในฐานะผู้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้คนทั่วโลก 

“รู้สึกภูมิใจมากๆ เวลาที่มองรถบนท้องถนน แล้วคิดว่าตัวเองมีส่วนในการสร้างสรรค์รถยนต์เหล่านั้น” วิศวกรหญิงชาวไทยกล่าว

 

พฤษภรณ์ อู่เงิน วิศวกรหญิงคนเก่งอีกคนที่ภาคภูมิใจในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เธอต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นอันดับแรกและทุ่มเททำงานเพื่อนำเอาข้อเสนอแนะจากลูกค้ามาพัฒนาคุณภาพของฟอร์ด เรนเจอร์ รถกระบะเรือธงของฟอร์ด 

“ฉันรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่สามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ สร้างความแตกต่างให้แก่ลูกค้า ทั้งผู้ใช้รถใช้ถนน ไปจนถึงผู้ที่ทำงานในสายการผลิต” พฤษภรณ์บอกเล่าถึงบทบาทหน้าที่ในปัจจุบัน

 

พลังของผู้หญิงในสายงานวิศวกรรม

วรรณวิสา ทรัพย์สินธ์ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมระบบส่งกำลัง ณ โรงงาน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) หัวหน้าทีมคนสำคัญที่คอยควบคุมคุณภาพของระบบส่งกำลังในฟอร์ด เรนเจอร์ และฟอร์ด เอเวอเรสต์ ต้องรับผิดชอบการตัดสินใจสำคัญๆ ซึ่งต้องการคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง และนั่นคือตัวตนของวิศวกรหญิงแกร่งคนนี้

“ในการทำงานที่ฟอร์ด ฉันรู้สึกได้ว่าทุกคนรับฟังความคิดเห็นกันจริงๆ ทำให้ฉันมั่นใจเมื่อต้องพูด หรือแสดงจุดยืนในสิ่งคิดว่าถูกต้อง” เธอกล่าว

 

ดอราห์ เอ็มเมกวา วิศวกรระบบคุณภาพการพ่นสี ประจำโรงงานประกอบรถยนต์มาตรฐานระดับโลกของฟอร์ด ณ เมืองพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ กล่าวว่า ความแตกต่างไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน ถึงแม้ว่าสายอาชีพที่เธอเลือกจะมีเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ก็ไม่มีผลต่อความก้าวหน้าในสายงาน

“ที่ฟอร์ด เราวัดกันที่ความสามารถและทักษะในการทำงาน” ดอราห์ยืนยัน “ฉันตื่นเต้นทุกครั้งที่เจอความท้าทายระหว่างการทำงาน และความท้าทายนั้นเองที่เป็นพลังขับเคลื่อนให้ฉันเดินทางมาถึงจุดนี้ได้”

 

ด้าน อุมารานี เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อระบบเชื้อเพลิง ตลาดนานาชาติ ซึ่งประจำอยู่ในอินเดีย เสริมว่า “ฟอร์ดให้ความสำคัญกับงานวิศวกรรมและเทคโนโลยีอย่างมาก เน้นการมอบหมายงานให้ตรงกับความถนัด ทั้งยังยอมรับในความสามารถของตัวบุคคล โดยไม่ได้ยึดเรื่องเพศเป็นหลัก ทำให้เราเติบโตในสายงานนี้ได้”

 

สินธุชา วิสวานาธาน วิศวกรอาวุโส ฝ่ายช่วยเหลือทางเทคนิคของผู้ผลิตชิ้นส่วน ฟอร์ด อินเดีย ช่วยผลักดันให้พนักงานหญิงโดดเด่นและประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมที่มักจะรายล้อมไปด้วยผู้ชาย ด้วยการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละคน

“ฉันคิดว่าผู้หญิงควรแสดงศักยภาพและพลังด้านบวก เพื่อผลักดันสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสู่ความสำเร็จ” สินธุชากล่าว

 

คารา ทง ผู้จัดการกลยุทธ์ทางวิศวกรรม ฟอร์ด ออสเตรเลีย เสริมว่า “ดิฉันหลงใหลในงานด้านวิศวกรรม เพราะโลกของเรามีนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าเราสร้างสรรค์นวัตกรมใหม่ ๆ ในทุกๆ วัน โลกของเราก็จะก้าวไปข้างหน้าไปในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่สิ่งที่เราเห็นไปจนถึงการสื่อสารระหว่างกัน คำว่า ‘นวัตกรรม’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่พูดที่คนชอบใช้ แต่ถือเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของเราทุกคน”

 

อานา โซซา ผู้จัดการแผนกผลิตภัณฑ์ใหม่ ณ โรงงานประกอบรถยนต์ปาเชโก ในกรุงบัวโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ผู้ทำงานกับฟอร์ดมาร่วม 16 ปี โดยเริ่มจากงานในสายช่าง ก่อนย้ายมาลงตัวที่สายการผลิต ยกข้อดีของการทำงานเป็นวิศวกรที่ฟอร์ดว่า “ฟอร์ดเป็นบริษัทที่ยอดเยี่ยมสำหรับสายงานวิศวกรรมเพราะเปิดโอกาสให้เราเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะในสายอาชีพของเราในทุกๆ วัน”

โซซายังให้กำลังใจกับวิศวกรผู้หญิงและผู้ที่กำลังจะก้าวเข้ามาในสายงานนี้ ว่า “การยอมรับความแตกต่าง และการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม เป็นสิ่งสำคัญที่ควรส่งเสริมในวัฒนธรรมองค์กร และเป็นหลักสำคัญที่เราทำให้เราประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร”

 

วิดีโอเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจของ ‘วิศวกรหญิงแกร่ง’ ของฟอร์ดจากทั่วโลก

 

RELATED ARTICLES

Most Popular