Thursday, March 28, 2024
HomeAuto Testทดลองขับ Mazda CX–3 เติมเต็มความทันสมัย เน้นให้ขับปลอดภัยมากขึ้น (ภาพ+คลิปวีดีโอ)

ทดลองขับ Mazda CX–3 เติมเต็มความทันสมัย เน้นให้ขับปลอดภัยมากขึ้น (ภาพ+คลิปวีดีโอ)

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=I-ZUdGvsQcw[/embedyt]

ตระกูล CX ของมาสด้านั้น เป็นรหัสที่บ่งบอกความเป็นรถ SUV ที่ เริ่มต้นมาจาก CX-7 ,CX-9 ก่อนที่จะมาเข้ายุค SkyActiv เต็มรูปแบบที่ CX-5  แล้วถ่ายทอด DNA มาที่รุ่นน้องนั่นก็คือ CX-3 ที่มาแนะนำในครั้งนี้  CX-3 เปิดตัวในบ้านเรามาตั้งแต่ปี 2558  ได้รับการต้อนรับและตอบรับจากตลาดอย่างดีมากๆ ในฐานะที่เป็น Compact SUV Crossover ที่มีหน้าตาดี มาพร้อมเทคโนโลยี SkyActiv ที่มีคำจำกัดความในมุมของการเป็นรถที่ขับสนุก มั่นใจ ในราคาที่สมเหตุสมผล มีใบรับประกันในฐานะ Thailand Car of the Year 2015 จากสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และไทย ยอดจำหน่ายกว่า 15,000 คัน รับรองความถูกใจของตลาดเป็นที่เรียบร้อย วันนี้ CX-3 ทำการ Minor Change เป็นครั้งแรก ในช่วงเวลา 3 ปีในตลาดมีเพียงเพิ่มโปรแกรม GVC (G Vectoring Control) และปรับช่วงล่างเล็กน้อยเช่น ขนาดโช้คอัพ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการทรงตัวที่ดีขึ้น ครั้งนี้จึงเป็นการปรับใหญ่ครั้งแรก ของ CX-3

เริ่มจากการเดินวนๆ ดูภายนอกรอบรถ เราจะเห็นการรีดีไซน์เล็กๆ จาก กระจังหน้าที่เปลี่ยนมาใช้รูปแบบเส้นแนวขวาง 4 เส้นคู่ มีโลโก้ประทับตรงกลางเช่นเดิม แต่ในรุ่นท๊อปทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล โลโก้แผ่นอคริลิก เพราะมีกล้องและเซนเซอร์ฝั่งอยู่ข้างใน กรอบสปอตไลท์ใหม่ ชายขอบซ้ายขวาของสปอยเลอร์หน้ามีแถบโครเมี่ยม ล้อไปกับแถบสเกิร์ตข้างที่มีแถบโครเมี่ยมเป็นแนวยาว และ ที่เสา  เอ บี ซี ก็เปลี่ยนสีจากดำด้านมาเป็น ดำเงา ล้ออัลลอยลายใหม่ เพิ่มขนาด เป็น 18 นิ้วพร้อมยางขนาด 215/50R18 ในรุ่นท๊อป ขนาด 16 นิ้วพร้อมยาง 215/60 R16 ในรุ่นรอง ไฟท้ายกรอบเดิมแต่ข้างในใหม่หยิบจาก CX-5 มาใช้ เป็นแอลอีดี สวยและสว่างชัดเจน ที่น่าสนใจคือมีหลังคาซันรูฟมาให้ดีมีคุณค่ามากขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้งานแต่ก็ดูดี

ภายในไม่ได้ปรับอะไรมากนักเพียงปรับโทนสีจากเดิมที่ดูสปอร์ตจัดๆ จากการปิดกรอบคอนโซลด้านข้างด้วยหนังสีแดง ครั้งนี้เปลี่ยนมาเป็นโทนเทาดำ กรอบคอนโซลกลางนั้นก็จัดเป็นกล่องขวางเบาะนั่งหน้าทั้งหมด โดยตัดคันเบรกมือทิ้งไปมาใช้เป็นสวิทช์เบรกมือไฟฟ้าแทนพร้อมกับสวิทช์ระบบ Auto Hold  เป็นฟีเจอร์ใหม่เพิ่มขึ้นมา ช่วยให้รถหยุดอยู่กับที่หลังจากผู้ขับชะลอรถจนหยุดนิ่ง และระบบจะถูกยกเลิกชั่วคราวเมื่อผู้ขับเหยียบคันเร่งอีกครั้งส่วนปุ่ม Center Command ปรับให้อยู่ใกล้กับตำแหน่งเกียร์เพื่อการใช้งานที่สะดวกมากขึ้นและยังได้พื้นที่กล่องใส่ของมาแทน มีพนักวางแขนเพิ่มขึ้นอีก คอนโซนหน้าก็เช่นกันหุ้มหนังกลับสีเทาเดินด้ายคู่ นอกนั้นโดยรวมไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม ที่ได้มานั้นคือเป็นการปรับภาพรวมให้ดูทันสมัย มีความหรูหรานิดๆจากเดิมที่จะเน้นอารมณ์สปอร์ตๆมากกว่านี้

ในเรื่องของการขับขี่นั้น ผมเคยพูดถึง CX-3 มาหลายครั้งที่ได้ลองขับตั้งแต่ครั้งแรก ว่าเป็นรถที่มีจุดเด่นอยู่ที่การขับขี่ ในมิติของการควบคุม จากพวงมาลัยขนาดพอดีมือ บังคับรถให้ไปตามทิศทางที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ ทำให้การที่จะออกรถไปเพื่อการแซงและกลับเข้าสู่เลนของตัวเองนั้น คล่องตัวที่ผมชอบเรียกว่า “ไปเป็นแผ่น” คือออกเร็วๆ ก็ไม่รู้สึกเหวี่ยง กลับเข้ามาเร็วๆก็ไม่เหวี่ยง และอาการแบบนี้ก็ยังรับรู้ได้เช่นเดิม การเดินทางกับ CX-3 ครั้งนี้ผมใช้เส้นทางกรุงเทพ นครนายก ปราจินบุรี ขึ้นเขาใหญ่ ไปลงฝั่ง โคราช แล้วกลับกรุงเทพ ในช่วงขาขึ้นเขาใหญ่  การเข้าโค้งช่วงขึ้นและลงนั้น บอกได้ว่า ความแม่นยำของพวงมาลัยนั้นมีส่วนสำคัญมาก ทำให้ได้รับอารมณ์สนุกกับการขับรถคันนี้ เพราะมันจะไปตามมือที่บังคับได้อย่างง่ายดาย ที่สำคัญการสนองตอบของเครื่องยนต์ซึ่งในช่วงแรกนั้นผมอยู่กับ เครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรลเทอร์โบ SkyActiv-D ขนาด 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้าที่ 4,000 รอบ/นาที พร้อม แรงบิด 270 นิวตันเมตร ที่ 1,600-2,500 รอบ/นาทีอันนี้สอดรับกับการถ่ายทอดกำลังจากเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดของเขาได้อย่างดีเยี่ยม แบบที่เรียกว่าเป็นปี่เป็นขลุ่ยกันไป คืออัตราเร่งดี กระชับกระเฉง ในรอบต่ำขึ้นเขาเข้าโค้งพับไปพับมาได้อย่างสนุก มีแรงบิดมากพอที่จะดันออกโค้งได้สบาย และขับอย่างง่ายๆ ให้สมองกลสั่งงานการเปลี่ยนจังหวะของเกียร์ทำงานสัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์ตามที่เราส่งและผ่อนคันเร่งผ่านปลายเท้าไปตามจังหวะ ก็สนุกตามสไตล์ซูมซูมเขาละ

ขากลับผมอยู่กับเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 156 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที พร้อมแรงบิด 204 นิวตันเมตรที่ 2,800 รอบ/นาที ความที่เครื่องใหญ่กว่าอารมณ์ในการขับขี่จึงไม่แตกต่างกัน จะมีก็เรื่องของอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ เบนซินจะกินน้ำมันมากกว่า ดีเซลเท่านั้นเอง ตามข้อมูลจากโรงงานระบุว่าอัตราสิ้นเปลืองของเบนซินอยู่ที่ 16.4 กิโลเมตรต่อลิตร และรองรับเชื้อเพลิงเบนซินทุกประเภท ส่วนดีเซลอยู่ที่ 23.3 กิโลเมตรต่อลิตร

จุดเด่นที่เพิ่มขึ้นมาใน CX-3 คือ เทคโนโลยี i-ACTIVSENSE ซึ่งมีระบบต่างๆ คือ

ระบบ Advanced Blind Spot Monitoring (ABSM)  & Rear Cross Traffic Alert (RCTA) ระบบตรวจจับยานพาหนะจากด้านข้างและด้านหลังที่กำลังใกล้เข้ามาบริเวณจุดบอด พร้อมทั้งเตือนเมื่อผู้ขับขี่จะทำการเปลี่ยนเลน RCTA จะช่วยเตือนผู้ขับขี่เมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง

ระบบ Lane Departure Warning System (LDWS) ระบบคาดการณ์การเบี่ยงออกนอกเลน และเตือนผู้ขับขี่ถึงอันตรายผ่านทางเสียง

ระบบ Adaptive LED Headlamps (ALH) ระบบปรับการทำงานของไฟหน้าสูง-ต่ำ แยกอิสระซ้ายขวาอัตโนมัติ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพถนน ตำแหน่งรถคันหน้า รวมถึงรถที่วิ่งสวนมา เพิ่มความปลอดภัยขณะขับขี่

ระบบ Driver Attention Alert (DAA) ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจากความเมื่อยล้า โดยส่งเสียงและสัญญาณไฟเตือนให้หยุดพัก เมื่อตรวจพบพฤติกรรมเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่

ระบบ Mazda Radar Cruise Control (MRCC) ช่วยควบคุมความเร็ว และรักษาระยะห่างจากรถคันข้างหน้าอัตโนมัติ

ระบบแสดงภาพ 360 องศา รอบทิศทาง หรือ 360o View Monitor พร้อมมุมกล้องในแบบ Top View ช่วยให้การขับขี่ทำได้อย่างมั่นใจ และปลอดภัยยิ่งขึ้น

ระบบ Smart City Brake Support (SCBS) และระบบ Smart City Brake Support-Reverse (SCBS-R) ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะเดินหน้าและถอยหลัง ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจากการชน

ระบบ Smart Brake Support (SBS) ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ เมื่อพบความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อลดโอกาสในการชนรถคันหน้า

ในระบบต่างๆ เหล่านี้เข้ามาช่วยการขับขี่ได้อย่างมีประโยช์มาก และเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่มากขึ้น ผมเองได้ลองใช้งานเกือบทุกระบบเพื่อให้เห็นว่าใช้งานได้จริง ที่ชอบมากที่สุดคือ ระบบ Mazda Radar Cruise Control (MRCC) ทำความเข้าใจกับวิธีใช้แล้วก็สามารถใช้งานได้ง่ายเหมือนระบบ Cruise Control ทั่วไปแต่เพิ่มการทำงานให้สามารถจับความเร็ว เร่ง ผ่อน ของรถคันหน้า แล้วสั่งการให้รถของเราทำตาม ตั้งความเร็วสูงสุดได้ ตั้งระยะห่างจากคันหน้าได้ เรียกว่าเอาเท้าออกจากคันเร่งได้เลย ก็ทำให้ให้สนุกกับการเดินทางไปอีกแบบหนึ่ง

ดยรวม CX-3 ตั้งใจที่จะเติมความทันสมัยทั้งหน้าตา ภาพลักษณ์ และความทันสมัยของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยผู้ขับขี่ให้มีความปลอดภัยไปกับรถของเขามากขึ้น ผมก็เห็นว่าความตั้งใจของเขานั้นบรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ ที่สำคัญในรุ่นท๊อปของทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลนั้นไม่ได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นกลับถูกลงอีก 4,000 บาทเสียด้วย ส่วนรุ่นรองลงมานั้นก็ปรับราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 บาทต่อรุ่น ทั้งนี้เป็นเหตุผลทางการตลาดของมาสด้านั่นเอง

ราคาเรียงลำดับตามนี้

รุ่น 2.0 E เครื่องยนต์สกายแอคทีฟ-จี ราคา 879,000 บาท (ราคาเดิม 835,000 บาท)

รุ่น 2.0 C เครื่องยนต์สกายแอคทีฟ-จี ราคา 955,000 บาท (ราคาเดิม 910,000 บาท)

รุ่น 2.0 S เครื่องยนต์สกายแอคทีฟ-จี ราคา 1,029,000 บาท (ราคาเดิม 975,000 บาท)

รุ่น 2.0 SP เครื่องยนต์สกายแอคทีฟ-จี ราคา 1,083,000 บาท (ราคาเดิม 1,083,000 บาท )

รุ่น 1.5 XDL เครื่องยนต์คลีนดีเซลสกายแอคทีฟ-ดี ราคา 1,189,000 บาท (ราคาเดิม 1,193,000 บาท)

RELATED ARTICLES

Most Popular