Thursday, September 12, 2024
HomeAuto TestTest DriveVOLVO XC90 T8 TWIN ENGINE MOMENTUM เอสยูวีแดนไวกิ้งมากับเครื่องยนต์แห่งอนาคตพร้อมเทคโนโลยีอัจฉริยะ

VOLVO XC90 T8 TWIN ENGINE MOMENTUM เอสยูวีแดนไวกิ้งมากับเครื่องยนต์แห่งอนาคตพร้อมเทคโนโลยีอัจฉริยะ

รถเอนกประสงค์ 7 ที่นั่ง มาพร้อมมิติตัวรถใหญ่สุดในเซกเมนต์ อัดแน่นด้านของความหรูหรา สะดวกสบาย แบบไม่มีกั๊ก พร้อมกับสุดยอดนวัตกรรมเครื่องยนต์ที่ผสมผสานทั้ง เทอร์โบ ซุเปอร์ชาร์จ และ มอเตอร์ไฟฟ้า เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งยังจัดเต็มตัวช่วยการขับขี่ตามสโลกแกน “ทุกชีวิตปลอดภัยในวอลโว่”

“Volvo” รถยนต์จากฝั่งสแกนดิเนเวียที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นหนึ่งในค่ายรถซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความก้าวล้ำในโลกยานยนต์ และเป็นที่น่าดีใจที่ผู้บริโภคชาวไทยจะมีโอกาสได้ครอบครองสุดยอดนวัตกรรมเหล่านั้นในราคาที่สมเหตุสมผล โดยล่าสุด เอสยูวีที่ติดตั้งนวัตกรรมแห่งการขับขี่ ได้มาถึงประเทศไทย และวางจำหน่ายทุกโชว์รูมทั่วประเทศในชื่อรุ่น “XC 90” ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมทดสอบสุดยอดระบบขับเคลื่อนและตัวช่วยการขับขี่ไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา งานนี้มีหรือจะพลาด www.autoworldthailand.com พร้อมรายงานครับ

Volvo XC90 บทบัญญัติหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์ยนตรกรรมจากค่ายรถแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งถือเป็นการชี้นำทิศทางการดีไซน์ของรถยนต์ในอนาคตได้ชัดเจน ผนวกกับเทคโนโลยีทันสมัยที่เป็นตัวตนเฉพาะ และเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมบนแพลตฟอร์มใหม่ลิขสิทธิ์เฉพาะของ Volvo นั่นคือ Scalable Product Architecture หรือมีชื่อย่อว่า SPA นอกจากนี้ยังมีสถิติที่น่าสนใจคือรถล็อตแรกผลิตพิเศษเพียง 1,927 คัน (ตามปีก่อตั้งบริษัทผลิต) ขายหมดในเวลา 47 ชั่วโมง หลังเปิดให้สั่งจองผ่านทางอินเตอร์เน็ตเมื่อเดือนกันยายนปี 2014

เกริ่นนำคร่าวๆสำหรับที่มาที่ไปของ XC 90 ซึ่งก่อนหน้านี้ XC 90 D5 AWD ก็พึ่งจะจัดกิจกรรมทดสอบไปไม่กี่เดือนก่อน แต่ในครั้งนี้เป็นการทดสอบรุ่น “ XC 90 T8 TWIN ENGINE” ซึ่งประกอบมาจากประเทศมาเลเซีย ความเป็นจริงจะแตกต่างจากรุ่นท๊อปไลน์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

VOLVO XC 90 T8 TWIN ENGINE  เป็นรถในเซกเมนต์เอสยูวีหรูแบบ 7 ที่นั่ง ตามขนาดมิติความกว้าง 2,140 มม. ยาว 4,950 มม. และสูง 1,776 มม. ผสานการออกแบบสไตล์สแกนดิเนเวียอย่างมีรสนิยม และเป็นรถรุ่นแรกที่เผยโฉมด้วยเครื่องหมายการค้าแบบใหม่ ซึ่งออกแบบให้ส่วนของวงแหวนลูกศรสวยสง่างาม กระจังหน้าดูภูมิฐาน มาพร้อมกับไฟกลางวันรูปตัวที T-shaped Daytime-Running Lights ซ่อนรวมอยู่ในโคมไฟหน้าสี่เหลี่ยมคงหมูทรง “ค้อนศาสตราวุธเทพเจ้า ธอร์” หรือ Thor’s Hammer ที่โด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง “Norse God of Thunder Thor” 

ฝากระโปรงหน้าปั้มขึ้นรูปสอดรับกับเส้นสายที่คมชัดตลอดแนวยาวระดับหน้าต่าง ไฟท้ายรูปทรงใหม่ก็เป็นส่วนสำคัญอีกจุดหนึ่งที่สะท้อนเอกลักษณ์สำหรับรถยนต์แต่ละรุ่นของ Volvo

ในส่วนของล้ออัลลอยซึ่งถือว่าเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่จุดที่ต่างไปจากรุ่นท๊อปไลน์ มีชื่อเรียกว่า Turbine Silver ขนาด 19 นิ้วหน้ากว้าง 8  นิ้ว พร้อมยาง 235/55/R19 ในขณะที่รุ่นท๊อปเป็นแบบ 10 ก้านขนาด 20 นิ้ว

ภายในดีไซน์เรียบหรู แต่แฝงไว้ซึ่งเทคโนโลยีระดับสูง ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติที่งดงามของประเทศสวีเดน ผสมผสานวัสดุซึ่งได้รับการเลือกสรร เช่น หนัง Nappa พร้อมตกแต่งด้วยลายไม้ทั่วห้องโดยสาร โดดเด่นด้วยจอภาพควบคุมระบบสัมผัสจำลองแบบ tablet ขนาด 9 นิ้ว บริเวณคอนโซลซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบควบคุมรถยนต์รุ่นใหม่

หัวเกียร์เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของทีมออกแบบและเป็นงานศิลปะชั้นเลิศ ทำจากแก้วเจียระไนของ Orrefors แบรนด์ดังของประเทศผู้ผลิต ใกล้กันปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ และปุ่มปรับระดับเสียงเครื่องเสียง

เบาะนั่งดีไซน์หรูเพิ่มเนื้อที่ในห้องโดยสารให้กับผู้โดยสารเบาะนั่งแถว 2 และ 3 มากขึ้น  ไม่มีการรองหนุนด้วยวัสดุหนานุ่ม แต่ทั้งหมดถูกกำหนดตามหลักสรีรวิทยาโดยเฉพาะ ปรับได้ทุกส่วนและทุกทิศทาง พร้อมปีกหนุนด้านข้าง ทั้งยังมีหมอนรองศีรษะปรับขึ้น/ลงด้วยไฟฟ้าซึ่งมีหน่วยความจำในตัว

ทั้งยังให้ความสำคัญกับเบาะรองนั่งสำหรับเด็ก ออกแบบให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกับเบาะนั่งตัวกลาง รวมถึงแก้ไขปัญหาของเบาะแถว 3 เพื่อให้นั่งสบาย และไม่ต้องห่วงว่าผู้โดยสารที่มีส่วนสูง 170 เซนติเมตร จะอึดอัดหรือปวดเหมื่อยต้นคอ ทั้งยังสอดเท้าใต้เบาะนั่งแถวที่ 2 เพิ่มระยะวางเท้าได้อีกด้วย  ทุกที่นั่งติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดรัดพร้อมระบบปรับตึงอัตโนมัติ Pre-tensioners  ม่านนิรภัยหรือInflatable Curtain Airbags ครอบคลุมเบาะนั่งได้ทุกแถว สำหรับปกป้องกรณีถูกชนด้านข้างหรือรถพลิกคว่ำ

ระบบปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติกระจายความเย็น 4 ส่วน แยกปรับความเย็นได้อิสระระหว่างที่นั่งตอนหน้าและแถว 2 ส่วนระบบปรับอากาศสำหรับเบาะนั่งแถว 3 แยกอิสระ มาพร้อมระบบกรองอากาศอัจฉริยะ CleanZone air purification system ของ Volvo พัฒนาโดยเพิ่มกรองพิเศษให้ประสิทธิภาพในการดักจับอนุภาคเล็กจิ๋ว ละอองเกสร และฝุ่นผง ที่ปะปนมากับอากาศ ซึ่งลดความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจและโรคภูมิแพ้

สำหรับเครื่องเสียงเป็นแบบ High Performance ภาคขยายสัญญาณหกช่องเสียงจะส่งกำลัง 330 วัตต์ไปยังลำโพง 10 ตัว ควบคุมและสั่งการผ่านหน้าจอสัมผัสขนาดใหญ่ 9 นิ้ว มาพร้อมเทคโนโลยี Sensus ทำหน้าที่เป็นสมองกลอัจฉริยะควบคุมการสื่อสารและสั่งการรถยนต์ เชื่อมต่อกับสัญญาณดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ระบบนำทางผ่านดาวเทียม เพลงโปรด และอื่นๆ โดยปรากฏหน้าจอโทรศัพท์มือถือทั้งระบบ IOS  หรือ Android ซึ่งเชื่อมต่อโดย Hot Spot ได้สะดวก

Sensus ยังสามารถปรับข้อมูลในแอพลิเคชั่นต่างๆให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการจราจร แผนที่เส้นทาง Up-date ล่าสุดเพื่อใช้กับระบบนำทางผ่านดาวเทียม Sensus Navigation รวมถึงคลายเหงาด้วยฟังค์ชั่น Apple CarPlay

VOLVO XC 90 T8 TWIN ENGINE ใช้เครื่องยนต์ 2 ระบบ ซึ่งเครื่องยนต์หลักในรูปแบบ Drive-E Powertrain มีขนาดความจุเพียง 2,000 ซี.ซี. แถวเรียง 4 สูบ แต่เพิ่มกำลังโดยติดตั้งระบบอัดอากาศทั้งซุปเปอร์ชาร์จและเทอร์โบ ทำงานแบบผสมผสาน ทำให้มีแรงม้าสูงถึง 320 แรงม้า ที่   5,700   รอบต่อนาที

พละกำลังอีกหนึ่งรูปแบบคือ มอเตอร์ไฟฟ้า ติดตั้งไว้กับชุดเพลาขับทางด้านหลัง เรียกว่า  Electric Rear Axle Drive (ERAD) ให้กำลัง 87 แรงม้า สำหรับแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน มีขนาด 65 กิโลวัตต์ ติดตั้งไว้ที่เหนือเพลากลางซึ่งปลอดภัยจากการชน และมีการกระจายน้ำหนักที่ดี ขณะขับสามารถชาร์จไฟได้เช่นกัน แต่ได้สูงสุดเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะชาร์จให้แบตเตอรี่เต็ม ต้องชาร์จด้วยการเสียบปลั๊กเท่านั้น เมื่อนำ 2 ระบบมาผสมรวมกันทำให้รถคันนี้มีพละกำลังสูงถึง 407 แรงม้า พร้อมแรงบิด 640 นิวตันเมตร ทางบริษัทผู้ผลิตเคลมไว้ว่าอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 5.6 วินาที ทำความเร็วสูงสุด 230 กม./ชม. พร้อมอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 45.5 กิโลเมตรต่อลิตร

ในส่วนของมอเตอร์ไฟฟ้าใช้ระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่จากกระแสไฟฟ้า 13 แอมป์เพียง 2.5 ชั่วโมง กระแสไฟฟ้า 10 แอมป์ ใช้เวลา 3.5 ชั่วโมง และกระแสไฟฟ้า 6 แอมป์ใช้เวลาชาร์จ  6 ชั่วโมง ในกรณีที่ใช้งานโหมดไฟฟ้าล้วนจะได้ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ทั้งนี้เกี่ยวกับกับสภาวะแวดล้อมและน้ำหนักบรรทุก

 

 

กำลังทั้งหมดถูกส่งผ่านมายังระบบเกียร์ทรอนิค   8 จังหวะ พัฒนาล่าสุดสอดรับการทำงานของระบบไฮบริดโดยเฉพาะ ด้วยเทคโนโลยีShift-by-Wire รวมถึงปั๊มน้ำมันเกียร์ขนาดใหญ่เพื่อลดปัญหาเกียร์สะดุดหรือเสียหาย โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนจากมอเตอร์ไฟฟ้ามาสู่เครื่องยนต์ ทำงานร่วมกับระบบ Crankshaft Integrated Starter Generator หรือ CISG มีหน้าที่เป็นไดชาร์จและสตาร์ทเตอร์ ติดตั้งบริเวณฟลายวีล ช่วยสตาร์ตเครื่องยนต์และชาร์จไฟกลับข้าแบตเตอรี่ ให้กำลัง 34 กิโลวัตต์ หรือ 46 แรงม้า ส่งผลให้สตาร์ทเครื่องยนต์ได้อย่างนุ่มนวล และช่วยเพิ่มกำลังในขณะออกตัวหรือเร่งแซง

ระบบกันสะเทือนหน้าอิสระในรูปแบบของปีกนก 2 ชั้น Double Wishbone และ ระบบกันสะเทือนหลังถูกออกแบบมาด้วยแขนกลต่างๆ ที่ทำงานสัมพันธ์กับเหล็กสปริงแบบแบนวางขวางลำตัวรถ หรือ Transverse Leaf Spring ใช้วัสดุคุณภาพสูงน้ำหนักเบาและทำให้ใช้พื้นที่สำหรับชุดกันกระเทือนหลังน้อยลง

ในด้านความปลอดภัย VOLVO XC 90 T8 TWIN ENGINE ถือว่าดำเนินไปตามสโลกแกน “ทุกชีวิตปลอดภัยในวอลโว่” อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง พร้อมติดตั้งเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในเวลานี้ก็ว่าได้ โดยมีชื่อเรียกว่า City Safety หรือระบบป้องกันการชนพร้อมเซนเซอร์ตรวจจับรถยนต์ คนเดินถนน ผู้ขับขี่จักรยานและสัตว์ขนาดใหญ่พร้อมฟังก์ชั่นหยุดรถอัตโนมัติ City Safety and Auto Braking function ด้วยการแจ้งเตือนง่ายๆให้กับผู้ขับขี่และมีระบบเบรกคอยช่วยเหลือ หากใกล้จะชนและผู้ขับขี่เผลอเลอไม่สามารถบังคับควบคุมรถได้ ระบบก็จะเบรกให้รถหยุดโดยอัตโนมัติในทันที

และสิ่งที่ไม่ตกเทรนด์ซึ่งเป็นตัวช่วยการขับขี่อย่างระบบช่วยจอดอัตโนมัติ Park Assist Pilot ซึ่งระบบจะช่วยในการถอยหลังและหมุนพวงมาลัยเอง ไม่ว่าจะเป็นซองขนานกับขอบถนน หรือ ถอยเข้าซองแถวเรียงหนึ่ง ผู้ขับขี่สามารถสังเกตุตรวจดูได้จากข้อมูลภาพกราฟฟิคตัวรถจากจอภาพที่คอนโซลกลาง

ถึงเวลาของการทดสอบ วอลโว่ ประเทศไทย จำกัด ได้เตรียมเส้นทางโดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี ระยะทางไป-กลับ 200 กม. โดยประมาณ ซึ่งสะท้อนการใช้งานจริงทุกรูปแบบ ทั้งถนนราดยางเพื่อการทดลองสมรรถนะของเครื่องยนต์ รวมถึงเส้นทางในสไตล์ออฟโรดสำหรับทดลองระบบช่วยเหลือต่างๆ มาดูกันเลยครับว่า VOLVO XC 90 T8 TWIN ENGINE มีทีเด็ดอะไรที่ซ่อนไว้อยู่บ้าง

หลังจากรับฟังคำบรรยายสรุปเกี่ยวกับข้อมูลรถและรูปแบบเส้นทางที่ใช้ในการทดสอบ ขบวนรถ VOLVO XC 90 T8 TWIN ENGINE ก็เริ่มทยอยออกเดินทางจากสำนักงานใหญ่ย่านหัวหมาก มุ่งหน้าสู่ทางด่วนลอยฟ้าบูรพาวิถี มาเริ่มต้นไปด้วยกันกับการใช้งานรูปแบบอื่นๆที่มีถึง 6 โหมดตัวช่วยการขับขี่ ซึ่งสามารถเลือกใช้งานจากปุ่มควบคุมบริเวณคอนโซลกลาง สรุปการทำงานตามรูปแบบต่างๆได้ดังนี้

Hybrid เป็นโหมดเริ่มต้น ซึ่งทำงานอัตโนมัติทุกครั้งที่สตาร์ทเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลังขับเคลื่อนผสานระหว่างเครื่องยนต์ กับมอเตอร์ไฟฟ้า โดยจะใช้แยกกันหรือควบคู่กันก็ได้ขึ้นอยู่กับความจุไฟฟ้าของแบตเตอรี่ เพื่อให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและลดมลภาวะไอเสียมากที่สุด

Pure เมื่อแบตเตอรี่ไฮบริดชาร์จไฟเต็ม รถยนต์จะใช้งานด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว และสามารถวิ่งได้เป็นระยะทางไกลถึง 40 กิโลเมตร ใช้งานไม่ยากเพียงรักษาคันเร่งและสังเกตุการทำงานได้ที่จอแดชบอร์ด ชาร์จพลังงานไฟฟ้าด้วยการเบรกแบบรีเจนเนอเรทีฟ (Regenerative Braking System) ผ่านมอเตอร์ไฟฟ้า

Power โหมดนี้เป็นการเลือกใช้พลังงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ประโยชน์ที่ได้จากการทำงานร่วมระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้ากับเครื่องยนต์ คือ ให้แรงบิดที่ดีกว่าขณะเครื่องยนต์ทำงานรอบต่ำ

AWD ทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า  สั่งงานการขับเคลื่อนทุกล้อ เพื่อเพิ่มการยึดเกาะถนน ส่วนใหญ่จะทำงานที่ความเร็วต่ำและบนถนนลื่น

Off-Road วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถในการยึดเกาะถนนให้ดีขึ้นเมื่อขับขี่บนพื้นผิวถนนแบบทุรกันดาร ระบบจะทำงานในความเร็วไม่เกิน 40 กม./ชม. หากเกินกว่านั้นจะเปลี่ยนเป็นโหมด AWD และไม่สามาถเข้าโหมด Off-Road ได้อีกแม้จะลดความเร็วต่ำกว่า 40 กม./ชม. ในโหมดนี้จะประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นของระบบช่วยในการลงที่ลาดชัน (Hill Descent Control) พร้อมกับบอกทิศทางด้วยเข็มทิศ

Individual เป็นโหมดเฉพาะของผู้ขับขี่ /เจ้าของรถสามารถปรับตั้งไว้กับตัวกุญแจรถรีโมทแต่ละดอกที่เกี่ยวกับโปรไฟล์ของผู้ขับขี่ได้ นอกจากนี้ยังมีออปชั่นให้เลือกปรับเปลี่ยนคุณลักษณะส่วนบุคคล เช่น เลือกการตอบสนองของพวงมาลัย ระบบบังคับเลี้ยว ความตื้นลึกของเบรก และการเลือก Drive Mode ที่ต้องการ

สำหรับการทดลองสมรรถนะของเครื่องยนต์ TWIN ENGINE ผมเลือกที่จะใช้โมหด Power ซึ่งพละกำลัง 407 แรงม้าถูกเรียกใช้งานเต็มรูปแบบ ซุเปอร์ชาร์จจะช่วยรีดแรงม้าในรอบต้นถึงรอบกลาง และเทอร์โบช่วยในรอบปลาย เกียร์ทรอนิค   8 จังหวะ รักษาความนุ่มนวลของรอยต่อแต่ละอัตราทดได้อย่างเป็นเลิศ สำหรับเรื่องที่น่าเสียดายคือแป้นแพดเดิลชิฟท์ที่พวงมาลัย  ความสนุกในการขับขี่จึงถูกยั้งไว้เล็กน้อย แต่จุดนี้ถือว่ายอมรับได้ เพราะความแรงได้สะท้อนมาในรูปแบบ “หลังติดเบาะ” และทำให้อึ้งไปมากกว่านั้นกับตัวเลขที่แสดงบริเวณแดชบอร์ดซึ่งโชว์ความเร็วไว้อย่างน่าสนใจแตะๆ 200 กม./ชม.ในเวลาที่ไม่นานนัก

พอมาถึงบริเวณสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ยังมีกิจกรรมทดลองความปลอดภัยกับระบบ Adaptive Cruise Control ซึ่งติดตั้งฟังก์ชั่น Queue Assist รักษาระยะห่างจากคันหน้าอัตโนมัติ และรักษาช่องทางอัตโนมัติ ทั้งนี้ผู้ขับขี่ต้องจับที่พวงมาลัย ถ้าเซนเซอร์ตรวจพบว่าไม่มีแรงต้านที่พวงมาลัย ระบบจะตัดการทำงานทันที

อีกหนึ่งระบบที่ช่วยการขับขี่ในพื้นที่ทุรกันดานกับโหมด Off-Road ซึ่งทำงานร่วมกับระบบ Hill Start Assist ได้อย่างเหมาะเจาะ ระบบทั้งสองจะทำงานสัมพันธ์กันตลอดเวลาที่ใช้งาน ซึ่งช่วยออกตัวบนทางลาดชันหลังจากรถจอดนิ่ง และระบบ Hill Descent Control ใช้การกำลังของเครื่องยนต์มาช่วยลดแรงต้านในขณะขับรถลงทางชัน รวมถึงยังมีโหมดเกียร์ B เพราะถ้ารถกำลังขับเคลื่อนในโหมดไฟฟ้ากำลังของเครื่องยนต์ที่ถูกตัดการทำงานออกไปจะไม่มีแรงฉุด

เสร็จสิ้นภารกิจทดลองขับ ถึงเวลาแตะมือผลัดหน้าที่ ผมมีโอกาสนั่งสบายๆในฐานะผู้โดยสาร พลขับที่ขันอาสาเป็นเพื่อนสื่อฯด้วยกันนี่แหล่ะครับ ทีมผู้จัดงานไม่ระบุเส้นทาขากลับเอาไว้ เพราะฉะนั้นก็ไปตามเส้นทางที่คุ้นเคย นั่นคือเส้นทางมอเตอร์เวย์  ความสนุกได้เปลี่ยนมือไปถึงเวลาของการนั่งชิวๆ

บางช่วงของเส้นทางนี้อย่างที่รู้กันอยู่ว่ามีสะพานอยู่หลายแห่ง บางแห่งออกแบบมาดี เรียบ ไร้รอยต่อบริเวณคอสะพาน แต่บางแห่งถึงกับทำให้รถลอยจากพื้นถนน และระบบที่ซ่อนไว้อย่าง Run-Off Protection ก็ได้ทำงานโดยไม่ทันตั้งตัว เซนเซอร์จะตรวจจับล้อทั้งสี่ หากมีการลอยจากพื้นถนน เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าจะทำการดึงให้ร่างกายกับเบาะนั่งแนบสนิทเป็นชิ้นเดียวกัน โดยจะเริ่มคลายตัวต่อเมื่อตัวรถกลับสู่พื้นถนนเต็มทั้ง 4 ล้อ เล่นเอาผมกับเพื่อนสื่อตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและแสบเอวเล็กน้อย เนื่องจากการรั้งกลับมีความแรงพอสมควร แต่ถ้ามองในเชิงป้องกันอุบัติเหตุ สถานการณ์ที่หนักจะคลี่คลายเป็นเบาลงทันที

บทสรุปของรถคันนี้ แน่นนอนว่าความอัจฉริยะของระบบต่างๆจะทำให้ใครที่ได้สัมผัสต่างทึ่งไปตามๆกัน ทั้งนี้คงต้องสร้างความสนิทสนมกับระบบสักพักใหญ่ แล้วตัวช่วยต่างๆจะช่วยเติมเต็มความสะดวกสบาย ทั้งยังประหยัดต่อการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน รวมถึงยังตอบโจทย์ทุกรูปแบบการใช้งานไม่ว่าจะเลือกซิ่ง หล่อ หรือจะเอาไปลุยในสถานที่ทุรกันดาน

สิ่งที่ผมเสียดายสุดๆคือระบบแพดเดิลชิฟท์ที่พวงมาลัย หากติดตั้งมาด้วยละก็ จะช่วยให้รถคันนี้กลายเป็นเอสยูวีที่ขับสนุกยิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามการตอบโจทย์สำหรับความเป็นรถในรูปแบบอเนกประสงค์ หลายคนคงไม่จำเป็นที่จะใช้งานระบบที่ผมอยากได้ เพราะที่มีอยู่ก็เรียกได้ว่าจัดหนักเพื่อทุกความต้องการของผู้ใช้รถใช้ถนนในยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว

RELATED ARTICLES

Most Popular